xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปลี่ยนทีมสอบ“สลายม็อบ 53” ทำไมโจกแดงต้องผวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และคณะ เดินทางเข้าพบนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.  เพื่อสอบถามรายละเอียดและแนวทางในการดำเนินคดีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 หลังมีกระแสข่าวการเปลี่ยนพนักงานสอบสวน
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ครบ 5 ปีเต็มแล้ว สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียนายทหารคนสำคัญอย่าง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และฝ่ายผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศโดนลูกหลงเสียชีวิตไป 1 คน

เหตุการณ์วันนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนองเลือดระหว่างการชุมนุมในวันต่อๆ มา จนกระทั่งสิ้นสุดการชุมนุม ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งลงเอยด้วยเผาบ้านเผาเมืองสร้างความเสียหายนับหมื่นๆ ล้านบาท และมีผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ และประชาชนรวมทั้งสิ้น 89 คน

อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีการเสียชีวิตของฝ่ายเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะ พล.อ.ร่มเกล้า และกำลังพลนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา ขณะที่คดีการเสียชีวิตของฝ่ายคนเสื้อแดงนั้น มีการนำขึ้นสู่การไต่สวนของศาลแล้ว 28 คดี และส่วนใหญ่ศาลมีคำวินิจฉัยว่า เป็นการเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ นั่นทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ในยุคที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ เป็นอธิบดี ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และพระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ ด้วยข้อหาที่ฟังแล้วเข้าใจยากว่า “ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล”

การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.ในปี 2553 นั้น เห็นได้ชัดว่า มีเป้าหมายเพื่อโค่นอำนาจของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศได้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง

และเป็นความพยายามในการใช้วิธีก่อม็อบเพื่อกลับสู่อำนาจเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่การชุมนุมช่วงสงกรานต์ปี 2552 ล้มเหลวไม่เป็นท่า

การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ให้ยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวนประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท จากที่อายัดไว้ 7.6 หมื่นล้านบาท แกนนำ นปช.จึงใช้กรณีนี้ไปปลุกระดมให้คนเสื้อแดงลุกฮือขึ้นมา ด้วยข้ออ้างที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณถูกรังแกจากฝ่ายอำมาตย์

ข้อเรียกร้องของการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ประกาศต่อสาธารณะในครั้งนั้น คือการให้นายอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ โดยอ้างว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีที่มาไม่เป็นประชาธิปไตย

เมื่อเปิดฉากการชุมนุม ก็เห็นได้ชัดว่า คนเสื้อแดงได้เพิ่มดีกรียั่วยุให้เกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่การยึดพื้นที่จราจรบริเวณถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงราชดำเนินนอก นำเลือดไปเทใส่ประตูทำเนียบรัฐบาลและบ้านพักนายอภิสิทธิ์ ยกขบวนไปบุกรัฐสภา ขยายพื้นที่ชุมนุมไปยึดบริเวณแยกราชประสงค์ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ บุกสถานีดาวเทียมไทยคม เข้าไปก่อกวนในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 จนทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ต้องออกปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 10 เมษายน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการนองเลือดในที่สุด

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 นั้น หลายเหตุการณ์มีพยานหลักฐานทั้งภาพถ่ายและวิดีโอคลิป แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้อาวุธนานาชนิดต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และอาวุธส่วนหนึ่งก็ยึดไปจากเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 10 เมษายนนั่นเอง

วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ได้แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาซึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อเหตุถึง 8 คดี เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงการยิงระเบิดในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นเหตุให้ พล.อ.ร่มเกล้าและทหาร เสียชีวิต นอกจากนี้ยังใช้อาวุธสงครามยิงระเบิดเอ็ม 79 ใส่รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่แยกศาลาแดง ทำให้ประชาชนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 75 ราย ยิงจรวดอาร์พีจีใส่โรงแรมดุสิตธานี ยิงเอ็ม 79 ใส่แฟลตตำรวจลุมพินี ยิงปืนเอ็ม16 ใส่ตำรวจที่ตั้งด่านหน้าธนาคารกรุงไทยจนตำรวจเสียชีวิต และยิงเอ็ม 79 ใส่ด่านตรวจอาคารอื้อจือเหลียงเป็นเหตุให้ตำรวจบาดเจ็บและเสียชีวิต ในการแถลงวันนั้น ดีเอสไอยืนยันว่า ได้ร่วมกับหน่วยอรินทราช ใช้เทคโนโลยีพิเศษดำเนินการจับกุมผู้ต้องหา ไม่จับแพะแน่นอน

ต่อมา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจและประชาชน 89 ศพ ได้แถลงความคืบหน้าของคดีว่า โดยสรุปมีกลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของ นปช.โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ทหาร ตำรวจและผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์

กลุ่มที่ 2 มีพยานหลักฐานน่าเชื่อว่าความตายอาจเกิดโดยเจ้าหน้าที่ 8 คดี ผู้เสียชีวิต 13 ราย เช่น คดีผู้เสียชีวิต 3 รายในวัดปทุมวนาราม ผู้เสียชีวิตในสวนสัตว์ดุสิต การเสียชีวิตของพลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ บริเวณอนุสรณ์สถานดอนเมือง และการเสียชีวิตของนักข่าวญี่ปุ่น และ

กลุ่มที่ 3 ยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดจำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย เช่น การตายของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง น.ส.กมลเกด อัคฮาด นายฟาบิโอ โปเลนชี นักข่าวชาวอิตาลี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากกฏว่าคดีที่มีความคืบหน้ากลับมีแต่เพียงกลุ่มที่ 2 เท่านั้น และบางคดีในกลุ่มที่ 3 ก็เปลี่ยนไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 เช่น คดี น.ส.กมลเกด และนักข่าวอิตาลี เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ และพระสุเทพ ส่วนคดีที่เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตจากฝ่าย นปช.นั้น ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย

มิหนำซ้ำ นายธาริต ยังประพฤติตัวได้สมฉายา “จิ๊งจก” ที่สื่อมวลชนมอบให้ ด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ยังไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดถึงผู้กระทำความผิดในคดีสังหาร พล.อ.ร่มเกล้า และบอกอีกว่าไม่ได้เกิดจากการกระทำของฝ่ายผู้ชุมนุม เหมือนที่เคยบอกแต่แรก

ภายหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.2557 คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง กระทั่งล่าสุดมีการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ดีเอสไอบางส่วนเกษียณอายุราชการ และจะมีนายทหารเข้ามาร่วมอีก 7 นาย

นั่นทำให้แกนนำคนเสื้อแดงถึงกับขวัญผวา รีบเข้าไปพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษทันที เพราะที่ผ่านมา ได้พยายามฝังหัวมวลชนของตัวเองตลอดว่า การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นั้นเป็นการสังหารหมู่คนเสื้อแดงอย่างโหดเหี้ยมของฝ่ายอำมาตย์ ถึงขั้นเคยจะนำคดีนี้ไปฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หาว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งพยายามเหมาเอาว่า ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นฝ่ายคนเสื้อแดง และปั่นตัวเลขไปจนถึง 99 ศพ

กระบวนการฝังหัวมวลชนของตัวเองว่าคนเสื้อแดงถูกฆ่าอย่างทารุณระหว่างการชุมนุมปี 53 ดำเนินการอย่างได้ผลในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั่นเพราะพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นฝ่ายเดียวกันกับคนเสื้อแดง สำนวนคดีที่ส่งให้ศาล จึงทำให้ฝ่ายคนเสื้อแดงได้เปรียบ ผลการไต่สวนของศาลออกมาในแต่ละคดีจึงเข้าทางฝ่ายคนเสื้อแดงเป็นส่วนใหญ่

การเปลี่ยนพนักงานสอบสวน และมีทหารเข้ามาร่วม น่าจะเป็นโอกาสที่จะนำความสมดุลของคดีสลายการชุมนุมปี 2553 กลับคืนมา แต่ก็จะสร้างความหายนะให้ฝ่ายคนเสื้อแดงและกระเทือนไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นั่นเพราะมายาภาพที่พยายามฝังหัวมวลชนของตัวเองมาตลอดว่า ฝ่ายคนเสื้อแดงถูกกระทำย่ำยีอย่างโหดร้ายทารุณระหว่างการชุมนุมปี 2553 นั้น จะต้องพังทลายลง และความจริงชนิดตรงกันข้ามจะปรากฏออกมาแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น