ผ่าประเด็นร้อน
อาจจะเรียกว่าผิดคาดไปบ้างกับความเคลื่อนไหวต่อต้านการเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนในคดี 99 ศพ ในเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2553 ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าเป็น “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” (นปช.) โดยพวกเขาถึงกับยกขบวนกันไปแบบเต็มคณะขอเข้าพบอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบต่อคดี ในความหมายก็คือ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนก็จะทำให้ผลที่จะออกมาผิดไปจากเดิม
ดังนั้น ด้วยข้ออ้างเพื่อความโปร่งใสพวกเขาขอให้มีตัวแทนเข้าไปร่วมรับรู้รับฟังการสอบสวนด้วย จะเอากันถึงขนาดนั้น แต่ยังดีที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเปลี่ยนไปจากธาริต เพ็งดิษฐ์ มาเป็นสุวณา สุวรรณจูฑะ ทำให้ไม่อาจทำตามข้อเสนอดังกล่าวได้ และยืนยันว่าเจ้าหน้าที่จะทำสำนวนการสอบสวนอย่างเป็นธรรม ตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐาน ตามหลักวิชาการ รวมทั้งรับฟังข้อร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากฝ่ายอื่นด้วย โดยเฉพาะจากฝ่ายทหารที่ร้องเรียนเข้ามาก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งคำปฏิเสธแบบนี้ในความหมายตรงๆก็คือปิดประตูใส่หน้านั่นเอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ ทำไมต้องมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวน เปลี่ยนทำไม สาเหตุประการแรกก่อน ก็คือ พนักงานสอบสวนชุดเก่าที่นำโดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ธาริต เพ็งดิษฐ์ เกษียณอายุราชการ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง จึงต้องมีการแต่งตั้งใหม่เข้ามาเสริม ขณะเดียวกัน จากการเปิดเผยของอธิบดีดีเอสไอคนปัจจุบัน คือ สุวณาบอกว่ายังมีการเสริมพนักงานสอบสวนที่มาจากฝ่ายทหารเข้ามาอีก 7 นาย ประกอบเข้ามาเป็นทีมใหม่ และนี่แหละคือสาเหตุที่ต้องทำให้บรรดาแกนนำ นปช.ที่นำโดย จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ต้องยกขบวนไปคัดค้านพนักงานสอบสวนชุดใหม่
ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับความจริงว่า คดี 99 ศพดังกล่าวถูกพยายามทำให้มีการเบี่ยงเบน ปิดบังความจริง จากการเข้าด้วยช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ฝ่ายเดียวกับอำนาจรัฐในขณะนั้นคือรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนสร้างความไม่พอใจและเคลือบแคลงใจจากสังคมไม่น้อย ขณะเดียวกัน ผลสรุปที่กำลังจะออกมาในตอนนั้นกลายเป็นว่าฝ่ายทหารที่ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และภายใต้พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน กำลังตกเป็นจำเลยในข้อหาฆ่าคนตาย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วในจำนวน 99 ศพดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตด้วยอาวุธสงครามจำนวนไม่น้อย แต่กลับถูกฝ่ายแกนนำนปช.เหมารวมให้เข้าใจเอาว่าผู้เสียชีวิตเป็นคนเสื้อแดงทั้งหมด และที่ผ่านมาฝ่ายทหารได้ยื่นขอความเป็นธรรมมาตลอด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาเป็นอธิบดีคนปัจจุบัน พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลใหม่
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เคยกล่าวถึงคดีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง ในทำนองว่าคดีถูกบิดเบือนไปจากความจริง และที่สคัญฝ่ายทหารถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่ทำตามกฎหมาย ทำตามคำสั่งโดยชอบ รวมไปถึงมีความพยายามสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา
และหากยังจำกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยกล่าวถึงเหตุการณ์ในวัดปทุมวนารามฯ ที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิต 6 ศพ ก็ถูกบิดเบือนว่าเป็นฝีมือทหาร ทั้งที่ทหารเข้าถึงพื้นที่ดังกล่าวหลังเกิดเหตุการณ์แล้ว และระบุว่าฝ่ายตำรวจในขณะนี้น่าจะทราบเหตุการณ์ได้ดีว่ามีการใช้อาวุธสงครามจากฝ่ายไหน
ดังนั้น หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้วหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 53 ใหม่ ความหมายก็คือจะต้องมีการรื้อคดีกันใหม่ ซึ่งไม่แน่อาจพลิกไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเฉพาะในประเด็นของ “ชายชุดดำ” ที่บรรดาแกนนำ นปช.มีความหวาดผวาจนเก็บอาการไม่อยู่ และนั่งไม่ติดต้องยกขโยงกันเข้าไปกดดันแบบตีปลาหน้าไซเอาไว้ก่อนให้สังคมเข้าใจว่ามีการ “แทรกแซง” คดี
ทั้งที่ในความเป็นจริงหากพิจารณากันอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา การดำเนินคดีก่อนหน้านี้ต่างหากที่บิดเบือน มีเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสูงที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเมื่อเหตุการณ์พลิกผันออกมาแบบตรงกันข้าม ถึงได้ดิ้นกันพล่านอย่างที่เห็น เพราะความจริงกำลังจะค่อยๆเผยออกมาให้เห็นในแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้!!