xs
xsm
sm
md
lg

อภิมหาเสวนาเพื่อแสวงหาดุลยภาพระหว่างเสรีภาพและความเป็นระเบียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2558 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ได้จัดให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติมีการนำเสนอผลงานทางวิชาการหลากหลายสาขาโดยคณะต่างๆ ในส่วนของคณะพัฒนาสังคมฯ ได้กำหนดหัวข้อ “การพัฒนาสังคมบนฐานของชุมชน” ซึ่งมีนักวิชาการร่วมเสนอบทความวิจัยหลายคน มีหลายเรื่องหลายประเด็นจากการเสวนาที่ผมคิดว่ามีน่าสนใจ แต่มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้มาก นั่นคือการแสวงหาดุลยภาพระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเป็นระเบียบของสังคม

ประเด็นนี้มาจากบทความของ รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ สามัคคีธรรม ซึ่งเสนอเรื่อง “ชุมชน ความเป็นส่วนตัว และการพัฒนาในยุคโลกภิวัฒน์” โดยอาจารย์ได้พยายามไขปริศนาเพื่อให้ความกระจ่างต่อแนวคิดว่าด้วย “ความเป็นส่วนตัว” และ “ชุมชน”ผ่านการสำรวจงานเขียนตั้งแต่ยุคดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันทั้งผลงานของนักคิดไทยและนักคิดตะวันตก โดยอาศัยแนวคิดชุมชนนิยมกับแนวคิดเสรีนิยมมาเป็นฐานในการถกเถียง และเสนอแนวทางในการแสวงหาดุลยภาพระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลกับความเป็นระเบียบของสังคมไว้อย่างน่าสนใจ

แนวคิดชุมชนนิยมนั้นให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์และความหมายร่วมของผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้าน กลุ่ม เครือข่าย หรือประเทศเดียวกัน ความเป็นชุมชนนั้นทำให้ผู้คนเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน และพัฒนาไมตรีจิตตลอดจนความเอื้ออาทรต่อกันได้เป็นอย่างดี

แต่หากเน้นอัตลักษณ์หรือความเชื่อภายในชุมชนตนเองมากเกิน ก็จะนำไปสู่ความคิดแบบสุดขั้ว และปิดกั้นการรับรู้หรือความแตกต่างที่ดำรงอยู่ภายในระบบใหญ่ ในที่สุดความคับแคบหรือความจำกัดของจิตก็เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือเลยไปจนถึงการแยกตัวออกจากสังคมกลายเป็นเกาะที่โดดเดี่ยวอยู่ในกลางทะเล หรือในบางกรณีก็นำไปสู่การเล่นพวกเล่นพ้อง แบ่งแยกเป็นพวกเขา และพวกเรา

ส่วนแนวคิดเสรีนิยมนั้นเห็นว่าสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลมีคุณค่าโดยตัวของมันเอง และยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และส่งผลให้สังคมมีการพัฒนาเติบโตและผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ทว่าโดยพื้นฐานนั้นเสรีภาพส่วนบุคคลมิได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ หากแต่ถูกหล่อหลอมจากบริบทครอบครัวและชุมชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ เสรีภาพจึงไม่อาจแยกขาดจากชุมชนได้ อีกทั้งการมีเสรีภาพแบบสุดโต่ง ก็จะนำมาซึ่งความไร้ระเบียบของสังคม เกิดความโกลาหลจนสังคมแตกสลายได้

การสร้างดุลยภาพที่เหมาะสมระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลและความเป็นระเบียบของสังคมจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น หรือความเป็นอิสระกับการยึดเหนี่ยวผูกพันกับชุมชนจะต้องดำเนินไปด้วยกันควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นปรปักษ์ต่อกัน

การกำหนดว่าดุลยภาพระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลและความเป็นระเบียบของสังคมควรมีลักษณะอย่างไรนั้น เป็นปริศนาที่สังคมแต่ละสังคมต้องร่วมกันแสวงหาทางออก มิใช่จะหยิบยืมหรือลอกเลียนมาจากสังคมอื่นอย่างมักง่าย เพราะว่าสังคมแต่ละแห่งมีวัฒนธรรมและความเชื่อแตกต่างกัน

บางสังคมอาจมีความอดกลั้นต่อการละเมิดเสรีภาพได้สูง เช่น ประเทศจีน และสิงคโปร์ บางประเทศมีความอดกลั้นต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลต่ำ เช่น สหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรปตะวันตก บางประเทศมีความอดกลั้นต่อความไร้ระเบียบสังคมสูง เช่น ประเทศอินเดีย ขณะที่บางประเทศมีความอดกลั้นต่อความไร้ระเบียบสังคมต่ำ เช่นสิงคร์และอีกหลายประเทศในเอเชีย

จึงกล่าวได้ว่าขอบเขตของสภาวะดุลยภาพระหว่างเสรีภาพส่วนบุคคลและความไร้ระเบียบสังคมของแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกัน และด้วยเหตุผลที่ว่าสังคมมีองค์ประกอบของชุมชนที่หลากหลายทั้งชุมชนในเชิงพื้นที่ ชุมชนเชิงเชื้อชาติ ชุมชนเชิงวัฒนธรรม ชุมชนเชิงอาชีพ และชุมชนทางเพศ เป็นต้นการแสวงหาว่าอะไรคือสภาะดุลยภาพนั้นจึงมิอาจกระทำได้โดยอาศัยเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมกำหนดเอาเอง หากแต่ต้องกระทำป่านกระบวนการที่เรียกว่า “อภิสานเสวนา” และจะต้องเป็นอภิมหาเสวนาในเชิงคุณธรรม โดยอาศัยตัวแทนจากชุมชนเหล่านั้นมาเข้าร่วมเสวนา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

อภิมหาเสวนาเชิงคุณธรรม แตกต่างจากการเสวนาที่เกิดจากแนวคิดเสรีนิยมซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนากระทำในนามปัจเจกบุคคล ภายใต้ความเชื่อที่ว่าปัจเจกบุคคลมีเหตุผลและใช้เหตุผลเป็นเครื่องมือในการอภิปรายถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่เป็นสัญญาประชาคมในรูประเบียบ กฎหมาย นโยบาย หรือรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่จริงแล้วหลักการ กฎหมาย หรือนโยบายที่มีมติให้ผ่านออกมาโดยใช้การไตร่ตรองด้วยเหตุผลบริสุทธิ์นั้นไม่เคยปรากฎอยู่ในโลกของความเป็นจริง

อภิมหาเสวนาเชิงคุณธรรมนั้นเป็นการดำเนินการโดยตัวแทนของกลุ่มและชุมชนต่างๆที่นำความเชื่อ ค่านิยม อัตลักษณ์และวัฒนธรรมเข้ามาเป็นกรอบในการพิจารณา จากนั้นก็พยายามแสวงหาค่านิยมหลักร่วมกันของสังคมที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อสร้างเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างกลุ่ม ภายใต้กฎที่ว่า “หากต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบเดียวกัน” และหากสิ่งใดหรือการกระทำใดที่เราไม่ประสงค์ให้ผู้อื่นปกิบัติต่อเรา เราก็จะต้องไม่ปฏิบัติแบบนั้นต่อผู้อื่นด้วย

การผสานค่านิยมและวัฒนธรรมระหว่างชุมชนมิใช่เป็นการกระทำแบบเบ้าหลอมที่เอาส่วนผสมหลายอย่างมาหลอมรวมเป็นเนื้อดียวกันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ ขณะเดียวกันก็มิใช่แถบของสีรุ้งที่รวมอยู่ในเส้นสายเดียวกัน หากแต่เป็นเสมือน “โมเสก” ที่มีความหลากหลายของเฉดสีและรูปทรง โดยองค์ประกอบย่อยที่หลากหลายยึดโยงด้วยค่านิยมร่วมซึ่งเปรียบเสมือนกาวที่ทำให้แต่ละชุมชนเกาะติดเข้าด้วยกัน และยังดำรงอัตลักษณ์ของตนเอง และมีความหมายของการดำรงอยู่ในสังคม

ความขัดแย้งของสังคมไทยที่เกิดขึ้นในช่วงสิบกว่าปีมานี้และต่อเนื่องในอนาคต นอกจากจะเป็นเรื่องความไร้คุณธรรมและการทุจริตของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงแล้ว สิ่งที่จะเป็นความขัดแย้งในเชิงความเชื่อและความคิดที่สำคัญซึ่งจะแสดงออกมาให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ก็คือความขัดแย้งระหว่างค่านิยมที่เน้นเสรีภาพส่วนบุคคลแบบตะวันตกกับความเชื่อที่เน้นความมีระเบียบของสังคมนี่แหละครับ

ดังนั้น ผมคิดว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องตั้งวงอภิมหาเสวนาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้มีทางออกที่สะท้อนถึงดุลยภาพระหว่างหลักคิดทั้งสอง หากสังคมไทยยังไม่ตระหนักและดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริง ผมเกรงว่าวิกฤติที่รออยู่ข้างหน้าอาจจะใหญ่กว่าวิกฤติทางการเมืองที่เราเคยผ่านมา เพราะคราวนี้จะเป็นวิกฤติของทั้งสังคมทีเดียวครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น