xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่อันว่างเปล่าของประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ประชาธิปไตยเป็นวาทกรรมหลักทางการเมืองของโลกยุคสมัยใหม่ เป็นลัทธิการเมืองที่ถูกทำให้มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นสิ่งที่ควรบูชา โดยใช้มีฐานค้ำยันอันสำคัญที่เรียกว่า “ประชาชน” แต่คำว่าประชาชนเป็นคำที่มีนามธรรมสูงและไม่อาจระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเหมือนกลุ่มอื่นๆในสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ “ประชาชน” จึงเป็นพื้นที่อันว่างเปล่า ที่แต่ละกลุ่มในสังคมต่างเข้าไปช่วงชิงและใช้ประโยชน์เพื่อตนเอง

ความเชื่อหลักของลัทธิประชาธิปไตยที่มักมีการอ้างว่าดีกว่าลัทธิการเมืองแบบอื่นๆคือ การใช้อำนาจการเมืองในการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติถูกกำหนดโดยตรงจากเสียงของประชาชน และเชื่อว่าเมื่อผู้ใช้อำนาจการเมืองหรือรัฐบาลมาจากประชาชนแล้ว จะใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งมวลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

ในสายตาของอริสโตเติล ประชาธิปไตยอาจเป็นที่ยอมรับได้ตราบเท่าที่รัฐบาลยังยึดหลักนิติธรรมในการปกครองสังคม อย่างไรก็ตาม การปกครองโดยคนหมู่มากที่ไร้การควบคุมและตรวจสอบไม่แตกต่างจากการปกครองโดยทรราชแม้แต่น้อย การปกครองโดยคำสั่งและการใช้อำนาจไม่เหมาะสมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในกลุ่มชนชั้นสูงและสามัญชนที่เป็นรัฐบาล ทั้งสองกลุ่มสามารถแสวงหาผลประโยชน์และอภิสิทธิ์ทางการเมืองได้พอๆกันโดยอ้างหลักการประชาธิปไตย อำนาจที่ไร้การตรวจสอบจึงทำให้ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถเล่นเกมการเมืองและปั่นกระแสความคิดเห็นของคนในสังคมได้อย่างง่ายดาย

สังคมไทยช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีของ “ระบอบประชาธิปไตยที่ไร้การตรวจสอบ” ภายใต้ระบอบทักษิณ การกำหนดนโยบาย คำสั่ง และการใช้อำนาจในทางที่ผิดเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างต่อเนื่องจนเป็นแบบแผนการปฏิบัติทางการเมือง การปั่นความคิดผู้คนเพื่อสร้างกระแสนิยมเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ โดยอาศัยสื่อมวลชน หน่วยงานราชการ และกลไกหัวคะแนนอันเป็นเครื่องจักรทางการเมืองซึ่งดำเนินงานภายใต้เครือข่ายระบบอุปถัมภ์ในพื้นที่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ

หลักการประชาธิปไตยกลายเป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจกดขี่และฉ้อฉล ความไร้ประสิทธิผลและความหายนะจึงเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์และประสบการณ์ที่ผ่านมาของประชาธิปไตยในสังคมไทยพบว่า มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความมืดดำของสังคมหลายเรื่อง เช่น การทุจริตประพฤติมิชอบ การเสียชีวิตของประชาชน การก่อการร้าย ความขัดแย้งที่รุนแรง ความเสื่อมทรามของวัฒนธรรมและศีลธรรม การทรยศต่อชาติ และความไร้เหตุผล

ประชาธิปไตยจึงเป็นระบอบการปกครองที่มีความเสี่ยงและนำไปสู่สถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสังคมไม่น้อย ความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการถูกทำให้กลายเป็นการปกครองที่อยู่ภายใต้การปลุกระดมของนักฉวยโอกาสทางการเมืองผู้อาศัยวาทศิลป์เป็นใบเบิกทางสู่อำนาจ

นักปรัชญาการเมืองผู้เรืองนามอย่างอเล็กซิส เดอ ต็อกเกอะวิลล์ ตั้งข้อสังเกตอยู่บ่อยครั้งว่า หลักการ “เสียงส่วนใหญ่”ของระบอบประชาธิปไตยมีลักษณะเหมือนกับระบอบอภิชนาธิปไตยหรือการปกครองโดยคนชั้นสูง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือทั้งสองระบอบมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ปกครองประเทศเหมือนกัน ระบอบหนึ่ง (ประชาธิปไตย) มี “เสียงส่วนใหญ่” เป็นผู้ปกครอง ขณะที่อีกระบอบหนึ่ง (อภิชนาธิปไตย) มี “กลุ่มชนชั้นสูง” เป็นผู้ปกครอง

สิ่งที่แตกต่างคือระบอบอภิชนาธิปไตยประกอบด้วยบุคคลที่เป็นจริงซึ่งสามารถระบุตัวตนได้ชัดเจนว่ามีใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองโดยเสียงส่วนใหญ่อันมีนัยว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งมวล ทว่าคำว่า “ประชาชน” มีความเป็น “นามธรรม” สูงยิ่งและสูงกว่าคำว่า “เสียงส่วนใหญ่” ด้วยซ้ำไป และไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าประชาชนประกอบด้วยใครบ้าง เพราะคนที่ทำหน้าที่ปกครองหรือคนที่ไม่ได้ทำหน้าที่ปกครองต่างก็เป็นประชาชนเหมือนกัน ในแง่นี้ประชาชนจึงเป็นทั้งผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง เป็นทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ สิ่งใดที่ไม่อาจแยกแยะความแตกต่างได้จากสิ่งอื่น สิ่งนั้นย่อมมีปัญหาของการดำรงอยู่

นักคิดอย่าง โจเซฟ ชุมปีเตอร์ได้ชี้ว่า ประชาชนในฐานะที่เป็นประชาชนทั้งมวลมิได้ปกครอง มิได้แสดงออกความคิดเห็น มิได้ปฏิบัติการทางนโยบายและการเมือง และมิได้รับผลสืบเนื่องจากการตัดสินใจทางการเมืองโดยตรง ดังที่กลุ่มชนชั้นสูงหรือกษัตริย์อันเป็นผู้ปกครองได้ทำและได้รับ ด้วยปรากฏการณ์ดั่งนี้เอง จุดศูนย์กลางของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยคือ “ความว่างเปล่าจากประชาชนตัวเป็นๆ” หรือ เป็น ”พื้นที่ว่างเปล่า”ที่มีกลุ่มบุคคลหนึ่งเข้าไปสวมแทน ซึ่งบุคคลเหล่านั้นอาจถูกแต่งตั้งหรืออาจตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นผู้แทนของประชาชนก็ได้

ประชาชนที่เป็นนามธรรมหรือสภาวะพื้นที่อันว่างเปล่านี้ ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสและความเป็นไปได้แก่นักปลุกระดมซึ่งเป็นนักการเมืองที่อาศัยประชานิยมขึ้นสู่อำนาจเท่านั้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” เป็นเครื่องมือในการบังหน้าหรือเป็นเสื้อคลุมให้แก่การปกครองแบบ “อำนาจนิยม”ของพวกเขาอีกด้วย

แนวความคิดเกี่ยวกับ “ประชาชน” จึงเป็นความคิดที่ปราศจากแก่นแท้และไร้เสถียรภาพ ลักษณะที่ปราศจากแก่นแท้คือ เพราะไม่อาจจะระบุได้ว่ามีความครอบคลุมปัจเจกบุคคลใดบ้างที่เป็นการเฉพาะเจาะจง ดังนั้นนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประกาศว่า “เป็นตัวแทนประชาชน” อันที่จริงแล้ว เขาเป็นตัวแทนใครกันแน่

บางคนอาจพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นตัวแทนกลุ่มที่เลือกเขามา แต่เกือบทั้งหมดมิได้พูดเช่นนั้น สิ่งที่นักการเมืองพูดเสมออย่างซ้ำซากคือ พวกเขาเป็นตัวแทนประชาชน ซึ่งหมายความว่าพวกเขาได้เอาตัวเองเข้าไปสวมพื้นที่อันว่างเปล่า เพราะระบอบประชาธิปไตยเชื่อว่าพื้นที่อันว่างเปล่านี้เป็นรากฐานอำนาจการเมืองที่สำคัญนั่นเอง

ในขณะเดียวกันสาธารณะมีความรังเกียจความว่างเปล่า และมีแนวโน้มที่จะผูกโยงพื้นที่ของประชาธิปไตยกับประชาชนที่สามารถระบุตัวตนได้ สิ่งนี้จึงเป็นการอธิบายประการหนึ่งสำหรับการให้ความสนใจอย่างล้นเกินกับการอุทิศชีวิตของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของบางประเทศ ด้วยเหตุที่พวกเขาถูกรับรู้และคาดหวังว่าต้องกระทำและตัดสินใจทางการเมืองให้เป็นหนึ่งเดียวกับเจตจำนงของประชาชนนั่นเอง แต่ทว่าเจตจำนงของประชาชนที่พวกเขาอ้างต่อสาธารณะนั้น โดยเนื้อแท้คือเจตจำนงของพวกเขานั่นเอง

นักปลุกระดมหรือนักฉวยโอกาสทางการเมืองมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างยิ่งในการฉวยประโยชน์จากแบบแผนเช่นนี้ของประชาธิปไตย พวกเขาท่องว่า “ประชาชน” เสมือนหนึ่งคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ของพ่อมดหมอผีเพื่อใช้เป็นหนทางในการเข้าสู่อำนาจการเมือง และใช้ป้องกันการตรวจสอบจากสาธารณะ

ขณะเดียวกันนักการเมืองบางกลุ่มที่มีภาวะจิตแบบอำนาจนิยม และมีพฤติกรรมแบบนักอำนาจนิยมก็ใช้ “ประชาชน” เป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การปกครองแบบอำนาจนิยมของพวกเขา ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกนั่นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น