คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
จากการสำรวจของเอแบคโพลล์เมื่อปี ๒๕๕๒ พบว่า คนไทยร้อยละ ๘๔.๕ มองว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติธรรมดาในการทำธุรกิจ และคนไทยร้อยละ ๕๑.๒ ยอมรับได้ที่รัฐบาลทุจริตคอร์รัปชัน ขอเพียงทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง และประชาชนอยู่ดีกินดีเท่านั้น
สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยยังอยู่หลังเขาของระบบเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ ๒๑ หรือคนไทยถูกนักการเมืองหลอกได้สนิท จนไม่รู้เลยว่าประเทศที่เจริญรุ่งเรือง และประชาชนอยู่ดีกินดีได้จริงๆ นั้น เพราะเขาป้องกัน และปราบคอร์รัปชันอย่างได้ผล และการจะทำอย่างนั้นได้ประชาชนต้องได้รับการศึกษาอบรมให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม และความเป็นพลเมืองที่มีการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
ความจริงแล้วเชื่อกันว่า ประเทศไทยมิได้ขาดแคลนแรงงาน และทรัพยากร แต่เราขาดภูมิปัญญา และจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะเราขาดผู้นำที่ฉลาด มีสติปัญญา จึงทำให้เราเป็นประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนามานับศตวรรษแล้ว
ประเทศไทยเต็มไปด้วยชนชั้นนำที่คิด และทำเพื่อตัวเอง ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดถึงอนาคตอันยาวนาน
ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางความคิดอันรุนแรงตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมาของปรากฏการณ์ระบอบทักษิณ (แนวคิด นโยบายและการบริหารจัดการแบบทักษิณ) ของผู้ต่อต้านและสนับสนุนระบอบทักษิณ เราพบเห็นแต่คนโง่ และเห็นแก่ตัวเต็มไปหมด ทั้งโง่จริงและแกล้งโง่
ฝ่ายหนึ่งโง่ที่สำคัญผิดคิดว่า ระบอบทักษิณเข้าใจ และเห็นใจคนจน คนด้อยโอกาส ทักษิณ และคนที่ทักษิณสนับสนุนเป็นนักประชาธิปไตย เพราะเพียงแต่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจแล้วจะทำชั่วช้าสามานย์อย่างไรก็ได้ ประชาชนโดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้เลือกพวกเขามาไม่มีสิทธิที่จะไปต่อต้าน กระบวนการยุติธรรม กระบวนการตรวจสอบที่มีอยู่ ถ้าไม่เข้าข้างพวกเขา ก็ไม่มีความชอบธรรมที่จะมาตรวจสอบ หรือถอดถอน เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
อีกฝ่ายหนึ่งก็โง่ที่เชื่อว่า ถ้าล้มระบอบทักษิณลงได้แล้ว ประเทศชาติจะมีความเจริญก้าวหน้าสถาพรทันที โดยคิดว่าความเป็นจริงในสังคม ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของประเทศชาติบ้านเมืองมันมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้นหลายเท่านัก
ความเป็นจริงระบอบทักษิณ และปรากฏการณ์ทักษิณ เกิดจากความผิดพลาดของชนชั้นสูง และชนชั้นกลางหรือที่ฝ่ายทักษิณเรียกว่า “อำมาตย์” ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาที่คนเหล่านี้มีส่วนในการพัฒนาประเทศแบบเพิ่มช่องว่าง ความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวย คนเมืองกับคนชนบท ผู้ได้เปรียบกับผู้เสียเปรียบ ทั้งฐานะทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม การศึกษา ขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงบริการจากรัฐมากเสียจนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนอย่างทักษิณก้าวขึ้นมาถึงจุดที่มีอิทธิพลขั้นนี้ได้ คือ เป็นทั้งผู้ผูกขาดทางเศรษฐกิจ ผูกขาดอำนาจรัฐ เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา และรัฐบาล เป็นเจ้าพ่อธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม หรือเจ้าพ่อดาวเทียม และเป็น “เทพเจ้า” ของคนจนคนด้อยโอกาสด้วยนโยบายประชานิยมจอมปลอม และเป็นนักประชาธิปไตยแบบลวงโลกผู้เชื่อมั่นในนโยบายปราบปรามแบบฆ่าตัดตอน มากกว่าผ่านกระบวนการยุติธรรม
ในวันที่นักการเมืองผู้ฉ้อฉลเชิงนโยบาย ทุจริตต่ออำนาจหน้าที่ และเป็นเผด็จการรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการบริหารชาติบ้านเมืองให้เกิดความเสียหาย ก่อภาระหนี้สินครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ จนถูกกระบวนการตรวจสอบพิจารณาดำเนินการถอดถอนออกจากอำนาจ และเอาผิดทางการเมือง และอาญา แต่กลับมีประชาชนคนไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะระดับแนวหน้าในหลายวงการ เช่น นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา สื่อมวลชนอาวุโส นักคิด นักเขียนคนสำคัญ ฯลฯ ต่างออกมาปกป้องและประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ตรวจสอบ และผู้เห็นด้วยต่อการตรวจสอบ ด้วยตรรกะตื้นๆ เพียงว่า “คนที่ถูกถอดถอนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ผู้ถอดถอนไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจจากผู้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และไม่เอื้อต่อการปรองดองของคนในชาติ”
คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ท่องคาถา “มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตย ไม่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เป็นประชาธิปไตย” โดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และที่สำคัญคือ ผลประโยชน์ของส่วนรวม คล้ายๆ กับว่า “แม้จะรู้ว่าน้ำที่อยู่ในกะลาเป็นน้ำบริสุทธิ์ สะอาด และมีประโยชน์ ไม่เป็นพิษเป็นภัย ใช้ดับกระหายได้ แต่ก็ยังไม่น่ายินดีเท่ากับน้ำผสมยาพิษที่อยู่ในเหยือกทองคำ”
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะให้ไม่เชื่อว่า “คนไทยโง่และเห็นแก่ตัว” ได้อย่างไรกัน.