คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
หมายเหตุถึงผู้อ่าน : ข้าพเจ้าเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทางสังคมและการเมืองมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ โดยใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงมาตลอด เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความคิดเห็น แต่น่าเสียใจที่คนที่คิดเห็นแตกต่างกับข้าพเจ้ามักใช้ท่าทีแบบก้าวร้าว อันธพาลมากกว่าจะเรียกว่าการแลกเปลี่ยนทางความคิดในสังคมประชาธิปไตย ที่สำคัญคือ คนเหล่านี้ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอจะใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงอย่างข้าพเจ้า คนพวกนี้จึงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นที่หยาบคาย ต่ำช้าอย่างไรก็ได้ น่าเสียดายพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันที่แคบลง และขยายพื้นที่แห่งความเกลียดชังให้กว้างขวางขึ้นโดยไม่จำเป็น
สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจนิยมอุปถัมภ์มาแต่โบราณ ปัจจุบันนี้ ระบบอุปถัมภ์ยังมีบทบาทสำคัญในทุกระดับ และทุกกลุ่มอาชีพ ชนชั้น นับตั้งแต่วงการศึกษา เริ่มตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียน หรืออนุบาล สถาบันการศึกษาบางแห่งมีอัตราราคาเริ่มต้นในการฝากบุตรหลานเข้าเรียนในระดับดังกล่าวที่ ๕๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป ระดับประถม มัธยมก็มีอัตราที่แตกต่างกันไปตามความเข้มข้นของการแข่งขัน ในวงการข้าราชการ โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนบางจำพวกก็มีอัตราค่าตอบแทนในการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นบ้าง ย้ายไปในพื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้เข้าพกเข้าห่อที่เรียกว่า “ขุดทอง” บ้างแตกต่างกันไป
สรุปแล้วในทุกวงการต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์ที่มีเงิน หรือผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนสำหรับผู้อุปถัมภ์คือ ผู้มีอำนาจ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นอุปสรรคขวากหนามของความเป็นประชาธิปไตย หรือการสถาปนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยทั้งสิ้น
วัฒนธรรมประชาธิปไตย คือ แนวทางในการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องต่อหลักการ หรือปรัชญาประชาธิปไตย ซึ่งหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ประกอบด้วย อำนาจการปกครองเป็นของประชาชน มีความเสมอภาค และเท่าเทียมกัน มีการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการเคารพกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีการยอมรับเสียงส่วนใหญ่ และคำนึงถึงเสียงส่วนน้อย มีการใช้เหตุผลในการรับฟังความคิดเห็น มีจิตสำนึกสาธารณะ มีความสามัคคี และประนีประนอม
การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยก็เหมือนกับการสร้าง หรือปลูกฝังวัฒนธรรมอื่น ที่ต้องสร้างผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม เริ่มตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันสันทนาการ ฯลฯ
ครอบครัวที่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย สมาชิกในครอบครัวมีแนวทางในการดำเนินชีวิต ดังนี้ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เคารพและยอมรับในกติกาหรือข้อตกลงร่วมกันของครอบครัว รวมทั้งกฎหมาย กฎระเบียบของชุมชน มีคุณธรรมและปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนา มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริตและรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีอิสระในการคิดและการกระทำภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของครอบครัวและชมชน ให้เกียรติเคารพและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ใช้ความรู้และเหตุผลในการตัดสินใจ หรือแก้ไขปัญหา ปรึกษาหารือกันในเรื่องที่สำคัญหรือมีความเกี่ยวข้องต่อสมาชิกในครอบครัว เสียสละและเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและประเพณีท้องถิ่น ไปใช้สิทธิทำหน้าที่ในการเลือกตั้ง กรณีเกิดความขัดแย้งไม่ใช้ความรนแรง
การเสริมสร้างประชาธิปไตยในสถาบันการศึกษา ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งและสนับสนุนกิจกรรมสภานักเรียน ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักการทำงานเป็นกลุ่มและการรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของคนอื่น เสริมสร้างให้ครูอาจารย์ และผู้เรียนมีวินัย ซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อหน้าที่ ส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและรักใคร่ปรองดองกัน กระตุ้นและเปิดโอกาสให้ผู้เรียนกล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ฝึกให้ผู้เรียนยอมรับในข้อตกลงร่วมกันของกลุ่ม และปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย พยายามโน้มน้าวให้ผู้เรียนเข้าใจเหตุผลในกฎระเบียบต่างๆ ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรม สนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาชมชน กิจกรรมทางศาสนา และประเพณีท้องถิ่น สนับสนุนและเป็นตัวอย่างในการใช้สิทธิเลือกตั้งระดับต่างๆ
การเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในชุมชน มีแนวทางดังนี้ มีหลักธรรม คุณธรรม จริยธรรมในการทำงานและการดำรงชีวิต ยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบ หรือข้อตกลงร่วมกันของชุมชน ยอมรับและปฏิบัติตามจารีต ขนบธรรมเนียมของชุมชนและท้องถิ่น รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีวินัยและซื่อสัตย์สุจริต เสียสละและเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตัว กระตุ้นและเปิดโอกาสให้สมาชิกของชุมชนแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมและเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมเวทีประชาคม ยอมรับในมติ หรือเสียงส่วนใหญ่ของชุมชน ใช้ความรู้และเหตุผลในการตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหา ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างหลากหลาย ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในระดับต่างๆ และกรณีมีความขัดแย้งจะแก้ปัญหาโดยวิธีการประนีประนอม และไม่ใช้ความรุนแรง
นี่คือแนวทางพื้นฐานในการปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทย
เก็บความจาก การเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในสังคมไทย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ๒๕๕๒.