xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวใต้ / จรูญ หยูทองแสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทองแสงอุทัย
 
วุฒิสารต้นไชย และคณะ ได้ศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในภาคใต้ ศึกษาเฉพาะกรณีจังหวัดสงขลา พบว่า คนไทย และคนใต้ส่วนใหญ่ยังไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองตามเจตนารมณ์ของระบบการเมืองแบบใหม่ ที่พัฒนาจากการเมืองในระบบตัวแทน หรือการเมืองแบบมีสิทธิ มาสู่การเมืองแบบมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการทางการเมือง
 
การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนในภาคใต้ พบว่า ความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นต่อการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เอื้อให้เกิดประชาธิปไตยในท้องถิ่น ที่มุ่งหวังให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบท้องถิ่นของตนเอง จึงส่งผลให้พฤติกรรมของประชาชนต่อการเมืองทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นเป็นไปในลักษณะ “ไม่สนใจและไม่เข้ามีส่วนร่วม”
 
คนภาคใต้ส่วนใหญ่เห็นว่า การเมืองคือชีวิต และมีความสัมพันธ์กับระบบต่างๆ ในสังคม การเมืองที่ดีจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่ความเข้าใจต่อการเมืองของประชาชนก็มีเพียงการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร่วมรณรงค์ในการหาเสียง และติดตามข่าวสารทางการเมืองจากสื่อมวลชนเท่านั้น ความคิดเห็น และบทบาทในเชิงรุก เชิงต่อรองอำนาจกับกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ ยังคงเป็นเรื่องที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ
 
และแม้จะมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีความแตกต่างในกลุ่มอาชีพ พบว่า ในกลุ่มอาชีพทำสวนยางจะมีความสนใจทางการเมืองมาก เพราะมีเวลาในการพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารกัน และราคายางที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวันจะเกี่ยวพันกับการเมือง ทำให้ชาวบ้านต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงทั้งราคายาง และการเมืองไปพร้อมๆ กัน ขณะที่กลุ่มชาวนาจะมีความสนใจน้อยกว่า เพราะอาชีพทำนาไม่ต้องติดตามราคาข้าวทุกวัน ไม่ต้องพึ่งพาการเมืองนัก เพราะพึ่งตนเองได้ มีข้าวกิน ต่างจากพวกสวนยาง
 
ความสนใจทางการเมืองของคนใต้มีมากกว่าภาคอื่น โดยไม่หวังจะพึ่งพิงนักการเมือง เพราะคิดว่าพึ่งตนเองได้ ต่างจากคนภาคอื่นๆ ที่พบว่า นักการเมืองคือที่พึ่ง เมื่อเดือดร้อนต้องไปหานักการเมือง เป็นการอุปถัมภ์ มีบุญคุณต้องตอบแทนช่วยเหลือกัน ขณะที่นักการเมืองในภาคใต้จะมีความใกล้ชิดกับประชาชน เพราะประชาชนคิดว่านักการเมืองก็คือ คนธรรมดาที่สามารถเข้าถึงได้
 
ในส่วนของการเมืองท้องถิ่น พบว่า  ไม่มีความแตกต่างกันนักในแต่ละพื้นที่  เพราะจะมีความสนใจการเมืองท้องถิ่นน้อยกว่าการเมืองระดับชาติ  การเลือกนักการเมืองท้องถิ่นจึงเลือกตามกระแส  เลือกพวกพ้อง  พี่น้อง  เพราะคิดว่าสื่อกันได้เร็ว  ช่วยเหลือกันดี  หากไม่มีพี่น้องก็จะเลือกคนที่มีความรู้  มีการศึกษา  จะติดตามดูผลงานก่อนที่จะเลือก
 
ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อความเป็นท้องถิ่น และความเป็นท้องที่  ประชาชนมีความผูกพันกับความเป็นท้องที่ (จังหวัด) มากกว่าความเป็นท้องถิ่น (หมู่บ้าน/ชุมชน)  อันเป็นความขัดแย้งต่อแนวทางในการพัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมต่อการปกครองท้องถิ่น ที่ความเป็นท้องถิ่นมีความสำคัญยิ่งที่จะทำให้เกิด  เพราะหมายถึง  ความรัก  ความผูกพันของคนที่มีต่อท้องถิ่นของตนเอง
 
คนไทยขาด  Civic  Culture  หรือวัฒนธรรมพลเมืองที่จะรักท้องถิ่น  เห็นได้จากการแบ่งแยกการเมืองการปกครองท้องถิ่นออกจากตน  ชาวบ้านไม่รู้สึกว่าเป็นองค์กรของตน  เนื่องจากองค์กรปกครองท้องถิ่นจำลองภาพมาจากระบบการเมืองในระดับชาติ และระบบราชการมามาก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าถึงได้
 
เมื่อพูดถึงการเมืองท้องถิ่นจะเป็นเรื่องของรายได้  โครงสร้างขององค์กร  ความก้าวหน้าของบุคลากรในองค์กร ซึ่งจำลองระบบราชการ แทนที่จะมุ่งสร้างประชาธิปไตยในท้องถิ่นอย่างที่ควรจะเป็น
 
วิถีชีวิตของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น  ชาวบ้านจะมีการประนีประนอมสูง  ไม่นิยมการเผชิญหน้า  การขัดแย้งกัน  เพราะทุกคนมีความเป็นเครือญาติกัน และอยู่ด้วยกันมาหลายชั่วอายุคน  ทำให้มีความผูกพัน  เพราะเป็นชุมชนขนาดเล็ก  มีความเกรงใจเพราะมีบุญคุณต้องทดแทน  พึ่งพา  อุปถัมภ์กันมา  ชาวบ้านจะมีการพูดคุยกันเมื่อเกิดปัญหาใดๆ มักจะคุยกันด้วยเหตุผลเพื่อแก้ปัญหา และหาข้อยุติ  หากคุยกันไม่ได้ก็จะหาคนกลางมาไกล่เกลี่ย
 
ภาคใต้มีวัฒนธรรมกระฎุมพีมากกว่าภาคอื่น  มีความเป็นเสรีชนสูง  ต้องการปลอดจากอำนาจรัฐ  หยิ่งในศักดิ์ศรี  พึ่งตนเองได้  ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐมากนัก  ยกเว้นเรื่องใหญ่ๆ  พึ่งตนเอง และกลุ่มก้อน  หากไม่สำเร็จจึงพึ่งนักการเมือง  แต่จะไม่พึ่งข้าราชการ เพราะไม่เชื่อว่าจะช่วยเหลือได้ เนื่องจากชุมชนท้องถิ่นกินดีอยู่ดี  ไม่อดอยาก และไม่ค่อยว่างงาน  ชอบคนพูดเก่ง  ใช้สำนวนโวหารดี และคิดว่าคนที่พูดได้ดีย่อมเป็นคนเก่ง  มีความรู้และความคิดเป็นระบบ  มองว่าคนที่กล้าพูดคือ คนกล้าหาญมาก
 
วิถีชีวิตของคนใต้มีส่วนหล่อหลอมให้มีความสนใจเรื่องราว  ความเป็นไปของท้องถิ่นตนเอง  มีการถ่ายทอดพฤติกรรมของบรรพบุรุษ  สื่อตัวบุคคลระหว่างรุ่น และการถ่ายทอดแต่ละรุ่นทางความคิดจะมีสูง  มีเวทีที่พบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล  และติดตามข่าวสารการเมือง  เศรษฐกิจอยู่หลายแหล่ง  เช่น  ร้านน้ำชา  แหล่งรับซื้อยาง/น้ำยาง  ปาล์ม และสื่อบุคคลที่เรียกว่า “คอการเมือง”  เป็นต้น
 
วัฒนธรรมการยึดตัวบุคคล  ระบบอุปถัมภ์โดยบุคคลที่เหนือกว่าทั้งด้านเศรษฐกิจ  ฐานะทางสังคม  ติดยึดกับตัวบุคคล  มีความเกรงใจและซื่อสัตย์ต่อบุคคล  คือยึดตัวบุคคลด้วยความชื่นชมพรรคการเมือง  ชอบคนที่มาดูแลเอาใจใส่  มีความประพฤติดี  ซื่อสัตย์  มีความรู้ความสามารถมากกว่าสาระของนโยบาย และเหตุผลอื่นมาประกอบ  ยึดตัวบุคคลเพราะรับผลประโยชน์จึงต้องตอบแทน  เกรงใจที่เขาช่วยเหลือหรือเคยช่วยเหลือมา  เป็นต้น
 
สาเหตุเนื่องจากขาดความรู้  ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย  หรือการปกครองตนเอง  ไม่ทราบว่าหลักการ และอุดมการณ์ที่แท้จริงคืออะไร  ไม่คิดว่าตนเองจะมีความสำคัญ  หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมือง  จึงไม่รู้ว่าตนควรจะปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะเกื้อหนุนระบอบประชาธิปไตยได้  และถูกชี้นำได้ง่าย  ขาดอิสระในการตัดสินใจ  ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมือง
 
วัฒนธรรมทางการเมืองของคนใต้ส่วนใหญ่ยังไม่มีความสนใจ หรือเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองเท่าที่ควร จะเป็นเพราะความคิดเห็นของคนใต้ต่อการเมืองเป็นไปในลักษณะเชิงลบ และขาดความรู้ความเข้าใจต่อการเมืองที่ถูกต้อง ความรู้สึกผูกพันที่เคยมีต่อท้องถิ่นขาดหายไปจากสังคม คนใต้มีวิถีชีวิตที่ขัดแย้งกับการบริหารงานขององค์กรท้องถิ่น และความเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ยึดตัวบุคคล มากกว่าสาระนโยบาย หรือเหตุผลอุดมการณ์อื่นๆ ทางการเมือง
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น