คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย
(2) ชุมชนตะเครียะ (ชุมชนชาวนา) อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ชุมชนตะเครียะ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของทะเลสาบสงขลาตอนบน ต่อแดนตำบลควนชะลิก อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย บ้านปากบางตะเครียะ บ้านคลองโพธิ์ บ้านปากเหมือง บ้านสามอ่าง บ้านหนองลาน บ้านหนองถ้วย บ้านดอนแบกบ้านหัวป่า (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว)
ก่อน พ.ศ.2520 ชุมชนตะเครียะ เป็นท้องถิ่นทุรกันดาร ไกลปืนเที่ยง การคมนาคมติดต่อกับภายนอกไม่สะดวก อาศัยเรือพาย เรือแจว เรือถ่อ เรือใบ เรือหางยาว และเรือยนต์ กับการขี่ม้า และเดินเท้าเป็นหลัก หน้าน้ำน้ำท่วมนาน 3 เดือน ดังคำกล่าวที่ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำท่อง เดือนอ้ายนั่งย่อง พุงป่องปากอยาก” แต่ตะเครียะ มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหาร สัตว์น้ำจืด และตาลโตนด เนื่องจากเป็นดินแดนที่มีดินดำน้ำชุ่มอันเกิดจากการทับถมของตะกอนจากฝั่งพัทลุง และวัชพืชในพรุทางเหนือของทะเลสาบ มีทุ่งนากว้างใหญ่ไพศาลต่อเนื่องถึงท้องที่อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ติดทะเลสาบตอนบนอันอุดมไปด้วยพันธุ์สัตว์น้ำนานาชนิด มีหนอง คลอง มาบที่อุดมสมบูรณ์ด้วยปลาน้ำจืดนานาชนิด บนคันนา และริมรั้วบ้านมีทิวต้นตาลโตนดเรียงรายไปทั่วจนเป็นที่มาของชื่อ “อำเภอระโนด” หรือ “ราวโหนด” เป็นแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์จากน้ำตาลที่นำมาแปรรูปอย่างหลากหลาย ตั้งแต่น้ำผึ้งเหลว น้ำผึ้งแว่น น้ำส้ม น้ำตาลเมา (ตะหวาก/กะแช่) และเหล้ากลั่น โดยเฉพาะเหล้ากลั่นของชุมชนตะเครียะ มีรสชาติเป็นที่ร่ำลือ และยอมรับของคอเหล้าคนนักเลงทั่วลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาว่า “ดีเหมือนเหล้าเครียะ” และน้ำตาลโหนด หรือ “น้ำผึ้งเหลว” เป็นสินค้าออกที่สำคัญของชุมชนตะเครียะมายาวนาน นอกจากนั้น ตาลโตนดยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “3 เกลอหัวแข็ง” แห่งคาบสมุทรสทิงพระ เช่นเดียวกับข้าว และไม้ไผ่ เพราะเป็นพืชท้องถิ่นคู่ชีวิตของชาวคาบสมุทรสทิงพระที่นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปลายราก ถึงปลายใบ โดยเฉพาะอาหารเลิศรสอันเป็นเอกลักษณ์ของคนทุ่งระโนด และทุ่งตะเครียะคือ “ยำหัวโหนด” ความผูกพันของชาวตะเครียะ หรือชาวระโนด กับตาลโตนด ดังจะเห็นได้จากบทกลอนโนรา หรือเพลงบอกที่ว่า “บ้านฉานไหม้ไหร มีแต่ไผกับโหนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา …”
เดิมชาวตะเครียะ ทำนาปีละครั้งตามฤดูกาล หรือ “นาหยาม” ส่วนใหญ่ทำนาดำ ปลูกพันธุ์ข้าวท้องถิ่นที่หลากหลาย ทั้งข้าวเบา และข้าวหนัก การไถนาใช้แรงงานคนและสัตว์เลี้ยง (วัว ควาย) เป็นหลัก มีความเชื่อเกี่ยวกับการแรกไถนา แรกเก็บเกี่ยว และความเชื่อเกี่ยวกับแม่โพสพ การทำขวัญข้าว การบำรุงรักษาใช้ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลควาย มูลค้างคาว ที่ชาวบ้านเรียกว่า “มายา” เป็นหลัก ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช ใช้ภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาวัชพืช และศัตรูพืชต่างๆ การเก็บเกี่ยวก็ใช้แกะเก็บทีละรวง เมื่อเต็มกำมือก็มัดด้วยต้นข้าวเป็นเลียง ตากจนแห้งแล้วนำไปเก็บบนเรือนข้าวเป็นลอมๆ ดูฐานะความเป็นอยู่กันที่ขนาดของลอมข้าว
หลัง พ.ศ.2520 มีโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ ของกรมชลประทาน เป็นโครงการสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาให้ชาวบ้านในตำบลตะเครียะ ทำนาปรังในหน้าแล้ง เริ่มเปิดใช้งาน พ.ศ.2522 ชุมชนชาวตะเครียะ หันมาทำนาปีละ 2 ครั้ง วัตถุประสงค์ และกระบวนการในการทำนาเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง จากการใช้แรงงานคน และสัตว์ใช้งาน มาเป็นเครื่องจักรกล รถไถเดินตาม หรือแทรกเตอร์ จากนาดำเป็นนาหว่าน จากการใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง มาเป็นพันธุ์ข้าวต่างถิ่น เช่น พันธุ์ชัยนาท จากการเก็บเกี่ยวด้วยแกะมาเป็นเก็บเกี่ยวด้วยการว่าจ้างรถเกี่ยวข้าว เปลี่ยนจากการเก็บไว้บนลอมข้าวมาเป็นบรรจุกระสอบแล้วส่งขายสหกรณ์ หรือโรงสีเลย เปลี่ยนจากทำนาไว้กิน และทำบุญ มาทำนาเพื่อขายอย่างเดียวแล้วซื้อข้าวสารจากต่างถิ่นมาบริโภคแทน แรงงานที่เคยออกปากกินวานก็เปลี่ยนเป็นการจ้างเต็มรูปแบบ ความเชื่อเกี่ยวกับการแรกนา และแม่โพสพก็สูญหายไปจากทุ่งตะเครียะโดยสิ้นเชิง
ในด้านการปกครอง เดิมชุมชนตะเครียะ อยู่ในความดูแลของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจากอำเภอ และตำรวจที่มาตั้งกองดูแลความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ชาวตะเครียะ มีทัศนคติทางการเมืองว่า คนที่เป็นผู้นำสมัยก่อนมี 3 พวก คือ นักเลง หรือผู้กว้างขวาง ครู และพระ (เจ้าอาวาส) แต่ปัจจุบันการเลือกตั้งแปรเปลี่ยนเป็นระบบพรรคพวก ญาติมิตร ระบบ “หัวคะแนน” โดยเฉพาะผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับคนใต้มาหลายยุคหลายสมัย ในด้านหนึ่ง มีการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองผลประโยชน์ในการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กลุ่มอาชีพ วิสาหกิจชุมชน การจัดเวทีสาธารณะเพื่อสร้างกิจกรรมระดมความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ รวมถึงการเรียกร้อง ต่อรองกดดันกับรัฐทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นให้ตอบสนองความต้องการในเรื่องเดือดร้อนต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็ม การแก้ปัญหาราคาผลิตผลภาคเกษตรตกต่ำ การสูบน้ำจากทะเลสาบสงขลาเพื่อทำนาปรังในหน้าแล้ง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า วิวัฒนาการ และการเคลื่อนเปลี่ยนของชุมชนตะเครียะ เกี่ยวเนื่อง โยงใยด้วยเหตุปัจจัยจำนวนมาก เพื่อใช้ในการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และน่าสนใจมากขึ้นในการศึกษาประชาธิปไตยในชนบทในฐานะชุมชน/ พื้นที่ที่ถูกอุปมาอุปไมยว่าเป็นถิ่นทุรกันดาร ไกลปืนเที่ยง และห่างไกลการพัฒนา แต่ใกล้ชิดกับระบบการเมืองในระบบตัวแทนและการเลือกตั้งในระดับจังหวัด และชาติเป็นอย่างมาก ผ่านเครือข่ายระบบพรรคพวก เครือญาติ และหัวคะแนน ขณะที่การก่อตัวของกลุ่มประชาชนในพื้นที่มีรากฐานมาจากการต่อรองผลประโยชน์ในการเข้าถึงบริการ และการเรียกร้อง ผลักดันกับการเมืองในระดับต่างๆ ให้ตอบสนองความต้องการ ความเดือดร้อนต่างๆ เช่น การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ การสร้างเขื่อนกั้นนำเค็ม เป็นต้น ทำให้ชุมชนมีความน่าสนใจในแง่ทวิลักษณ์การเมือง และประชาธิปไตยในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันซับซ้อนของสังคม การเมือง วัฒนธรรมในระดับต่างๆ