xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในชนบทภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย (4) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ส่วนที่ 2 วิธีการวิจัย
 
การศึกษาความเปลี่ยนแปลง และกระบวนการสร้างประชาธิปไตยใน “ชนบท” ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยใช้แนวพินิจทางประวัติศาสตร์ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทภาคใต้ในมิติเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการเมืองในชุมชนชนบทภาคใต้ การเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่ทำให้ชุมชนสามารถแสดงออกบนเวทีการเมืองระดับต่างๆ ตลอดจนการปรับเปลี่ยน/ต่อรองเชิงอำนาจกับคนกลุ่มอื่นในสังคมทั้งที่ใกล้ และไกลออกไป ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับ “ชนบท” และการพัฒนา/สร้างประชาธิปไตยในชนบท
 
2.1 การคัดเลือกพื้นที่
 
โดยกำหนดเลือกพื้นที่การเลือกพื้นที่ในการศึกษาจากชุมชนในลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งในอดีตได้ชื่อว่าเป็น “เมืองบังคับยาก”  แต่ให้มีความแตกต่างในแง่ภูมินิเวศการตั้งถิ่นฐาน การประกอบกิจกรรม และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ คือ ชุมชนชนบทชาวนา ชุมชนชนบทชาวประมง และชุมชนชนบทชาวสวน ประกอบด้วย ชุมชนตะเครียะ อำเภอระโนด ชุมชนหัวเขา อำเภอสิงหนคร และชุมชนท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามลำดับ ซึ่งเป็นการคัดเลือกแบบเจาะลง ด้วยเหตุผล และความสำคัญ ดังนี้
 
(1) ชุมชนท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 
 
ชุมชนท่าข้าม ตั้งอยู่ในตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางทิศตะวันออกของอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ห่างจากที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ประมาณ 21  กิโลเมตร และห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองสงขลา ประมาณ 20 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือ ติดกับตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ทิศใต้ ติดตำบลเนินพิจิตร อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา ทิศตะวันออก ติดตำบลทุ่งหวัง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา  ทิศตะวันตก ติดตำบลทุ่งใหญ่ ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย 8 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 8,500 คน (ณ 2554) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา นาข้าว และลูกจ้างโรงงานอุตสาหกรรม ในอดีตชุมชนท่าข้าม ได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีความสับสนอลม่าน (Liminal Space) จากการเป็นพื้นที่ “ชนบทชายขอบ” ของสองเมืองใหญ่ในจังหวัดสงขลาคือ อำเภอเมืองสงขลาและอำเภอหาดใหญ่ ยิ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากการทำนาเป็นสวนยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของภาคใต้ มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 10 และการขยายตัวเข้ามาอย่างรวดเร็วของโรงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ และตำบลใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง ปี พ.ศ.2520 ที่จังหวัดสงขลา ถูกกำหนดให้เป็นเมืองหลักของพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยแล้ว ทำให้ท่าข้ามเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่อง ยาวนาน ในด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม จากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว
 
การพลิกฟื้นชุมชนเกิดขึ้นเด่นชัด เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2542 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ได้ริเริ่มผลักดันกิจกรรมการพัฒนาชุมชนภายใต้แนวคิดพลิกฟื้นชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้เข้าสู่การเปลี่ยนพึ่งตนเอง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนจำนวนมาก ทั้งสมาพันธ์กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านท่าข้าม ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มออมทรัพย์การผลิตในแต่ละหมู่ของท่าข้าม กองทุนสัจจะวันละบาท กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กลุ่มโรงสีข้าวชุมชน ชมรมผู้พิการ กลุ่มอาชีพ วิทยุชุมชน เป็นต้น ซึ่งนับว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะในหลายกลุ่ม/กิจกรรมเหล่านี้ก่อร่างสร้างพลังจากกระบวนการทางวัฒนธรรมหลายหลากรูปแบบ เช่น การรื้อฟื้นประเพณี “ลงแขก ซอแรง”, “ออกปาก กินวาร” การสร้างพื้นที่สนทนาภายใน การเชื่อมต่อเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นภายนอกด้วยระบบ “ผูกเกลอ” ที่เรียกว่า “เกลอเขา นา เล” ทำให้ไม่เพียงเกิดการ “ย่องเงียบ” ในรูปการณ์จิตสำนึกของชาวชุมชนเท่านั้น แต่โน้มนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การต่อรองที่เท่าทัน เทียบเทียม ทั้งในและนอกชุมชน ดังรูปธรรมภาคีความร่วมมือที่เรียกขานกันอย่างหลวมๆ ว่า 3 ขาความร่วมมือ ที่หมายถึง ท้องที่ (รัฐ ราชการ) ท้องถิ่น และชุมชน และที่สำคัญคือ การวางรากฐาน “ชุมชนจัดการตนเอง”  ด้วยระบบประชาธิปไตยชุมชน ที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม เรียกขานอย่างมั่นใจใน “แนวนัย” ที่ผ่านการเคี่ยวข้นกระทั้งแน่วนิ่ง ว่า “ประชาธิปไตยชุมชนแบบเข้มข้นและมีคุณภาพ” อันหมายถึงการเรียนรู้ ตระหนักในสิทธิประชาชน พลเมือง จากการกระทำใน “กิจการ” ที่เกี่ยวข้องต่อการดำรงวิถี และชีวิตประจำวัน พร้อมก้าวสู่การเป็น “วิศวกรการเมืองชุมชน ” ได้อย่างมั่นคงและแน่นหนา มีความตื่นตัว ตื่นรู้ เท่าทันโครงสร้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องเป็นอย่างดีต่อความเห็นของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ (2013) ที่ว่า การเติบโตของวัฒนธรรมพลเมืองที่เชื่อมั่นใน “พลังการเปลี่ยนแปลง” ที่มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ชุมชนและจะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างประชาธิปไตย ความเข้มแข็ง และอนาคต
 
กล่าวโดยสรุป ชุมชนท่าข้าม เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ไม่ใกล้/ไม่ไกลเมือง แม้ในอดีตชุมชนท่าข้ามได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สับสนอลหม่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการเปลี่ยนแปลงจากการทำนาไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวยางพารา แต่การพลิกฟื้นชุมชน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างชุมชน และองค์กรบริหารส่วนตำบล ในรูปแบบ วิธีการที่หลากหลาย ทำให้ชุมชนเปลี่ยนผ่านไปสู่การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ทั้งใน และนอกชุมชนได้อย่างน่าสนใจ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น