xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมทางการเมือง / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.กิตติคุณวิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในบรรยากาศของการปฏิรูปประเทศ โดยการปฏิรูปการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ด้วยกระบวนท่า “แม่น้ำห้าสาย” ของ “อาแป๊ะ” ตามสำบัดสำนวนของ ศ.กิตติคุณวิษณุ  เครืองาม  เลือดเนื้อเชื้อไขของชาวสงขลา ที่มักได้รับความไว้วางใจให้ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาล ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และนอกระบบเลือกตั้ง
 
แต่ในด้านการเมืองที่มีการปฏิรูปมาแล้วหลายครั้งเพื่อไปให้พ้น “วงจรอุบาทว์” ทางการเมือง  ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่าการเมืองไทยจะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร  ยึดอำนาจสลับกับการเลือกตั้ง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะเราเปลี่ยนแปลงแต่กฎหมาย หรือปัจจัยภายนอกตัวคน  ส่วนปัจจัยภายในคือ “วัฒนธรรมทางการเมือง” ของคนไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงนั่นเอง
 
1.ความหมายของวัฒนธรรมทางการเมือง
 
วัฒนธรรมทางการเมือง (Political  Culture) เป็นเรื่องที่นักรัฐศาสตร์ไทยเริ่มให้ความสนใจเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา  กมล  สมวิเชียร  เป็นนักรัฐศาสตร์ไทยคนแรกๆ ที่ศึกษาเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ.2514  โดยนำเอานิยามความหมายของคำว่า วัฒนธรรมทางการเมืองมาจากแนวคิดของ อัลมอนด์ และ เพาเวลล์ (Grabiel A.Almond  and  G.Bingnam  Powell.) ที่ให้ความหมายของวัฒนธรรมทางการเมืองไว้ว่า
 
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นความรู้สึก หรือการอบรมที่แต่ละคนได้รับ ซึ่งเป็นผลให้การกระทำของแต่ละคน มีความหมาย  ประกอบด้วย  ความรู้ถึงวัตถุทางการเมือง และความเชื่อทางการเมือง (Cognitive  Orientations) ความรู้สึกต่างๆ ที่มีต่อวัตถุ หรือองค์กรทางการเมืองทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกต่อส่วนรวม  ความรู้สึกเป็นคนแปลกหน้า  ความรู้สึกไม่สนใจไยดีต่อระบบ หรือองค์กรทางการเมืองนั้นๆ (Affective  Orientations)  ความคิดเห็นต่างๆ ที่มีต่อวัตถุทางการเมือง หรือเหตุการณ์ทางการเมือง  คือ การเอาค่านิยมทางการเมืองเข้าวัดวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือเหตุการณ์ทางการเมือง (Evaluative  Orientations)
 
จะเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศหนึ่งประเทศใด ต้องศึกษาความเป็นมาของประเทศ  ความเป็นมาของบุคคลภายในประเทศ  ค่านิยมของบุคคล  ความเชื่อ  ความเข้าใจสิ่งแวดล้อม  ทัศนคติซึ่งแสดงออก และไม่แสดงออก  ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมชาติ  ความสำเหนียกในความเป็นชาติ และปฏิกิริยาทั้งทางอารมณ์ และกิริยาอื่นๆ ของบุคคลที่มีต่อเหตุการณ์ หรือการกระทำใดๆ
 
วัฒนธรรมทางการเมืองมีความหมายแตกต่างจากคำว่า “วัฒนธรรม” ในวิชาสังคมวิทยา หรือมานุษยวิทยาอยู่บางประการคือ  วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมทั้งหมด  หรืออีกนัยหนึ่งได้แก่ ความเชื่อทางการเมือง  เช่น  เชื่อว่าผู้นำที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร  ระบบการเมืองที่เป็นอยู่มีลักษณะอย่างไร  ระบบการเมืองที่เป็นอยู่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่  รวมทั้งความรู้ทางการเมืองและค่านิยมทางการเมือง  ซึ่งความรู้  ความเชื่อและค่านิยม (ความรู้สึก) ดังกล่าวนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้  ความเชื่อและค่านิยมของคนในสังคม  ขณะเดียวกันค่านิยมทั่วไปที่เรียกว่า “ค่านิยมมูลฐาน” (Basic  Value  Patterns  of  Culture) ก็อาจจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างแบบแผนของวัฒนธรรมทางการเมือง (Pattern  of  Political  a  Culture) ได้
 
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นแบบแผนของความเชื่อ  ค่านิยมและทัศนคติของบุคคลที่มีต่อระบบการเมือง และส่วนต่างๆ ของระบบการเมือง หรือวิถีชีวิต  วิถีความคิดและค่านิยมของสังคมนั้นๆ เคยชินที่จะมองเห็นว่าอำนาจที่ชอบธรรมนั้นต้องสัมพันธ์กันอย่างนั้นๆ  วัฒนธรรมทางการเมืองมีฐานมาจากวัฒนธรรมสังคม  ประกอบด้วย ประวัติความเป็นมา  ค่านิยม และปทัสถานของคนในสังคม  
 
ดังนั้น  วัฒนธรรมทางการเมืองหมายถึง  ความรู้  ความคิด หรือความเชื่อ และค่านิยมทางการเมืองของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล  ที่แสดงออกหรือไม่แสดงออกต่อระบบการเมือง  สถาบันทางการเมือง  อำนาจทางการเมือง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง  อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทางการเมือง การศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองจึงจำเป็นต้องศึกษาองค์ประกอบ หรือบริบทต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทางการเมืองของบุคคล หรือกลุ่มบุคคล โดยเฉพาะพัฒนาการทางการเมือง
 
2.ความสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมือง
 
วัฒนธรรมทางการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นแบบเกื้อกูลลัทธิประชาธิปไตย หรือสนับสนุนระบบเบ็ดเสร็จเผด็จการ หรือเป็นแบบดั้งเดิม  เป็นผลิตผลของกระบวนการเรียนรู้หลายระดับ และหลายองค์กร  แต่ส่วนที่เป็นองค์กรใดและระดับใดจะมีอิทธิพลมากกว่ากันนั้น ต้องแล้วแต่ประวัติความเป็นมาของชาติ หรือเผ่าชนนั้น  ความยาวนานของระบบ และค่านิยมที่ใช้กันมา  ความต่อเนื่องหรือการขาดตอนของความเป็นชาติ  ประสิทธิภาพของระบบการศึกษา  รวมทั้งสภาพภูมิศาสตร์ และการติดต่อสื่อสารภายในชาติ  ระบบครอบครัว และการอบรมบุตร  รวมทั้งอิทธิพลภายนอกที่มีผลต่อสังคมนั้นๆ ด้วย  การศึกษาเชิงวัฒนธรรมการเมืองจึงเป็นวิธีการซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยาก
 
วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทางการเมือง  เป็นหัวใจของการพัฒนาทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของประชาชน  มาจากประชาชน และใช้อำนาจนั้นไปเพื่อประชาชน
 
(ต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น