xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมทางการเมือง (2) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
3.ลักษณะและประเภทของวัฒนธรรมทางการเมือง
 
วัฒนธรรมทางการเมือง  คือกระบวนการศึกษาการเมืองจากความเป็นมาของประเทศ  ความเป็นมาของบุคคล  ความเชื่อ  ความเข้าใจในสิ่งแวดล้อม  ทัศนคติซึ่งแสดงออก และไม่แสดงออก  ความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมชาติ  ความตระหนักสำเหนียกในความเป็นชาติ และปฏิกิริยาอื่นๆ ที่บุคคลมีต่อเหตุการณ์ หรือการกระทำใดๆ ซึ่งบุคคลได้รับมาจากกระบวนการศึกษา และกระบวนการสร้างค่านิยม และโลกทัศน์ของบุคคลตั้งแต่แรกเกิด  ตั้งแต่ระดับครอบครัว  ระดับเพื่อน  สถาบันทางการศึกษาและสังคม  ด้วยกระบวนการเรียนรู้ 4  ขั้นตอน คือ
 
ขั้นมูลฐาน  คนได้รับการฝึกฝนให้เป็นสมาชิกของสังคม  เช่น  ทัศนคติ  ค่านิยม  ความชำนิชำนาญ  ความสัมพันธ์ของบทบาทต่างๆ ต่อบุคคล  ความรู้ทั่วไป และสิ่งต่างๆ ที่จำเป็น
 
ขั้นก่อให้เกิดบุคลิกภาพของบุคคล  เป็นขั้นที่ประสบการณ์ต่างๆ มีอิทธิพลต่อจิตใต้สำนึก  มีความรู้สึกว่าเป็นสมาชิกของสังคม
 
ขั้นที่บุคคลเริ่มมีความรู้สึกถึงโลกการเมืองรอบๆ ตัว  ได้รับการเรียนรู้ทางการเมืองได้รู้  มีทัศนะและเข้าใจถึงเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ
 
ขั้นที่บุคคลผ่านจากการเป็นสมาชิกการเมืองที่ไม่ได้มีกิจกรรม มาเป็นผู้เข้าร่วมมีบทบาททางการเมือง  มีบุคลิกทางการเมือง หรือทัศนคติทางการเมืองชัดเจน หรือถาวรกว่าเดิม
 
ขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการเรียนรู้จะมีอิทธิพลต่อค่านิยม  ทัศนคติ  ความรู้ หรือโครงสร้างบุคลิกภาพมูลฐาน (Basic  Personality  Structure)  มากน้อย  ตื้นลึกไม่เท่ากัน
 
วัฒนธรรมทางการเมือง  นอกจากจะใกล้ชิดแนบแน่น และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพื้นฐานของสังคม และต้องมีการวิเคราะห์แยกแยะออกมาจึงจะแลเห็นได้แล้ว  วัฒนธรรมทางการเมืองจะต้องเป็นความเชื่อ  ความรู้ หรือความรู้สึกทางการเมืองของกลุ่มชนที่มีลักษณะเป็นแบบแผนอย่างเดียวกัน หรือคล้ายคลึงกัน  แยกได้เป็น 2 ระดับ คือ ระดับผู้ปกครอง และระดับผู้ถูกปกครอง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีลักษณะเหมือนกันเสมอไป
 
กราเบรียล  อัลมอนด์ และ ซิดนีย์  เวอร์บา (Grabrial  Almond  and  SidnyVerba) จำแนกวัฒนธรรมทางการเมืองออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ๆ  คือ
 
3.1 วัฒนธรรมทางการเมืองแบบประเภทคับแคบ  (parochial  politic  culture)  คือ  คนในสังคมมีความโน้มเอียงต่อวัตถุทางการเมืองน้อยมาก  ทั้งในแง่การรู้จัก  ความรู้สึก และการประเมินค่า  ไม่ว่าจะเกี่ยวกับระบบการเมือง  สถาบัน  บุคคล และนโยบาย  กล่าวคือ  บุคคลแทบจะไม่มีความสัมพันธ์กับระบบการเมืองเลย  ไม่คิดว่าการเมืองจะตอบสนองความต้องการ หรือกระทบการดำรงชีวิตได้
 
วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบมักจะปรากฏในสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยกบทบาททางการเมืองออกจากบทบาทอื่น  เช่น  การเป็นหัวหน้าเผ่า  เป็นการผสมผสานบทบาทต่างๆ ทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  ศาสนาไว้ด้วยกัน  ความโน้มเอียงทางการเมืองของคนในสังคมจึงแยกไม่ออกจากความโน้มเอียงทางสังคม หรือศาสนา
 
ในสังคมที่เริ่มมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่แล้ว ก็ยังคงมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบอยู่  แต่จะเป็นด้านความรู้สึก และการประเมินค่ามากกว่าด้านการรับรู้
 
3.2 วัฒนธรรมทางการเมืองประเภทไพร่ฟ้า (subject  political  culture)  คือ  เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมรู้จักสถาบันทางการเมือง และมีความรู้สึกต่อมัน  ไม่ว่าในแง่บวก หรือลบ  อีกทั้งสามารถประเมินค่าว่ามันชอบธรรมหรือไม่  แต่เขาจะมีความสัมพันธ์ต่อระบบการเมืองโดยทั่วไป และกับปัจจัยนำออกของมันเท่านั้น  คืออยู่ในฐานะผู้รอรับผลจากระบบการเมือง โดยไม่เข้าไปมีส่วนในการเสนอความต้องการของตนต่อระบบ โดยมองว่าตัวเองแทบจะไม่มีอิทธิพลใดๆ ต่อระบบ  คอยแต่จะรับผลกระทบจากระบบ  คือเป็นบุคคลที่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับอำนาจรัฐและยอมรับมัน  แต่ไม่รู้ว่าตัวเองจะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยผ่านช่องทาง  กลไก หรือสถาบันใด
 
3.3 วัฒนธรรมทางการเมืองประเภทมีส่วนร่วม (participant  political  culture) คือ เมื่อคนในสังคมมีความรู้  ความรู้สึกเกี่ยวกับระบบการเมือง และมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมือง
 
ในสภาพความเป็นจริงไม่มีสังคมใดมีวัฒนธรรมทางการเมืองเหมือนกับตัวแบบบริสุทธิ์ดังกล่าวข้างต้นเสียทีเดียว  หรือมีวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างเดียวกันทั้งสังคม  สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าคือ  การมีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบผสม  คือ
 
1) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ-ไพร่ฟ้า (parochial-subject)  คือ ประชาชนพลเมืองเริ่มผูกพันกับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบน้อยลง และเริ่มมีความจงรักภักดีต่อสถาบันทางการปกครองส่วนกลางมากขึ้น  แต่ความสำนึกว่าตนเองเป็นพลังทางการเมืองอย่างหนึ่งยังมีอยู่น้อย  มีการยอมรับนับถือ และปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนทางการเมืองทำการปกครองไปโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
 
2) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้า-มีส่วนร่วม (subject-participant) คือ ประชาชนพลเมืองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่  พวกมีความเข้าใจถึงบทบาททางด้านการนำเข้ามาก และมีความรู้สึกไวต่อวัตถุทางการเมืองทุกชนิด  และมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมทางการเมือง  กับอีกพวกหนึ่งที่ยังคงยอมรับในอำนาจของอภิสิทธิ์ชนทางการเมือง และมีความเฉื่อยชาทางการเมือง
 
3) วัฒนธรรมทางการเมืองแบบคับแคบ-มีส่วนร่วม (parochial-participant)  เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองในประเทศกำลังพัฒนา  โดยเฉพาะประเทศที่แต่เดิมอำนาจของรัฐบาลกลางอ่อน  มีท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมแบบคับแคบอยู่มาก  เมื่อจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบสมัยใหม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมใหม่ กับวัฒนธรรมเก่าที่คับแคบ  ความผูกพันกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มชนที่คับแคบจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการปฏิบัติภารกิจในโครงสร้างทางการเมืองการปกครองสมัยใหม่  ทางด้านการเมือง  เช่น   พรรคการเมือง  และทั้งทางด้านการปกครอง  เช่น  ระบบราชการ  จนสถาบันเหล่านี้ขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ของมัน
 
(อ่านต่อฉบับหน้า)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น