xs
xsm
sm
md
lg

วัฒนธรรมทางการเมือง (จบ) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
4.วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย                                      
 
พฤทธิสา ชุมพลให้ความเห็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยสรุปได้ว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเป็นวัฒนธรรมแบบผสมคือ  แบบไพร่ฟ้า-มีส่วนร่วม มีลักษณะอิสระนิยมปนกับอำนาจนิยม  ลักษณะอำนาจนิยมเป็นผลมาจากการขัดเกลาในครอบครัว  ส่วนใหญ่มีอิทธิพลของพุทธศาสนาแทรกอยู่  แต่เมื่อบุคคลเติบโตขึ้นจนได้รับอิทธิพลจากสังคมโดยส่วนรวมซึ่งถูกครอบงำโดยระบบราชการที่ยังมีความเป็นศักดินาหรือความเป็นเจ้าขุนมูลนายสูงขัดเกลาโดยผ่านระบบโรงเรียน  ปลูกฝังการยอมรับในผู้มีอำนาจเหนือกว่า  หรือวัฒนธรรมทางการเมืองแบบอำนาจนิยม  ดังนั้น  วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยจึงไม่เอื้อต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก  เพราะมีลักษณะอำนาจนิยมอยู่มาก1 ลักษณะอำนาจนิยมก่อให้เกิดพฤติกรรม  2 ลักษณะ คือ ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจยอมรับผู้มีอำนาจอย่างหนึ่ง  กับผู้มีอำนาจชอบใช้อำนาจอีกอย่างหนึ่ง
 
ทินพันธ์  นาคะตะ  ศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองและการกล่อมเกลาทางการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัย และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ในช่วง 2-3 ปีก่อนเหตุการณ์  14 ตุลาคม  2516  พบว่า  นักศึกษาไทยมีทัศนคติทางการเมืองแบบผสมระหว่างแบบประชาธิปไตยกับแบบอำนาจนิยม  และนักศึกษาเป็นกลุ่มชนที่มีความเชื่อในความสามารถของตนเองที่จะมีอิทธิพลต่อรัฐบาลสูงกว่าประชาชนทั่วไป  แต่มีความไว้วางใจระบบการเมืองต่ำ
 
วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยทำให้การมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนไทยอยู่ในระดับต่ำเพราะ 1) ประชาชนโดยทั่วไปมีความเชื่อว่าการเมือง หรือการบริหารประเทศเป็นเรื่องของผู้นำซึ่งเป็นคนจำนวนน้อย  2) ประชาชนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่โจ่งแจ้งเกินไปจนเห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก  3) ประชาชนยอมรับในอำนาจนิยม  ตนเองไม่มีอำนาจ หรือความสามารถทางการเมือง  แต่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือข้าราชการเป็นบุคคลที่มีอำนาจ และมีอิทธิพลบารมี
 
วัฒนธรรมทางการเมืองไทย หรือค่านิยมทางการเมืองของคนไทยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลูกตุ้มที่แกว่งจากจุดปลายสุดด้านหนึ่งคือ อิสรนิยมในระดับครอบครัวมายังปลายสุดอีกด้านหนึ่งคืออำนาจนิยมในระดับสังคมและการเมือง  คนไทยชอบแสดงความเป็นคนมีหน้าใหญ่ใจโต  ไม่คำนึงถึงฐานะของตน  ชอบแต่งกาย และมีทรัพย์สินที่แสดงความภูมิฐาน  เช่น  มีรถยนต์ราคาแพง  เที่ยวไนต์คลับชั้นสูง  ใช้ของต่างประเทศ ฯลฯ
 
วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยมีพื้นฐานอยู่บนอิสรนิยม-อำนาจนิยม  ก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนาการเมืองหลายประการ  เช่น ประการแรก  เมื่อใดที่พลังแห่งอำนาจขาดหาย หรืออ่อนแรงไป  ความเป็นอิสรนิยมจะเข้ามาแทนที่และมีอิทธิพลอย่างเห็นได้ชัด  ประการที่สอง การพยายามสร้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย  ประชาธิปไตยจะสามารถหยั่งราก และเจริญงอกงามได้ในประเทศที่มีวัฒนธรรมการเมืองที่มีลักษณะสายกลางระหว่างอิสรนิยมกับอำนาจนิยม  นั่นคือ  ความรักเสรีภาพจะต้องควบคู่กับความรู้สึกในเรื่องหน้าที่ที่มีต่อกันโดยเฉพาะในระดับที่สูงกว่าส่วนตัว
 
ประการที่สาม  มีปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม  สังคมไทยเป็นสังคมฐานะนิยม  แบ่งคนออกเป็นประเภทตามตำแหน่ง  ความมั่งคั่ง  ความรู้และอายุ  ในทางการเมือง  บุคคลบางประเภทถือตัวว่ามีฐานะทางสังคมสูงกว่าคนอื่นและต้องเป็นผู้นำทางธรรมชาติ  การแบ่งคนเป็นฐานะ  เป็นปัญหาในการพัฒนาการเมืองเพราะการพัฒนาการเมืองเป็นการนำไปสู่ระบบที่มีความเท่าเทียมกัน และการมีส่วนร่วม  ความแตกต่างทางฐานะมีรากฐานเรื่องอำนาจคือ  คนมีอำนาจแตกต่างกันย่อมมีฐานะแตกต่างกัน
 
ประการที่สี่  การขาดอุดมการณ์ และการนิยมผู้นำที่มีบารมี  ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกันอยู่  และเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการเมืองแบบอิสระ-อำนาจนิยมซึ่งเป็นความรู้สึก หรือธรรมชาติที่ขัดกัน  แต่สามารถแฝงอยู่ในสิ่งเดียวกันได้
 
ประการที่ห้า  อำนาจนิยมในทัศนะของคนไทยเป็นเรื่องให้คุณให้โทษ  ไม่ใช่อำนาจทางปัญญา หรืออำนาจแห่งความสัตย์ซื่อ  อำนาจสำคัญของบุคคล  ในทางบริหารสังคมไทยเป็นสังคมที่มีการทำงานจากเบื้องบน  ประชาชนทั่วไปและข้าราชการชั้นผู้น้อยไม่มีโอกาสปฏิรูปงานความสัมพันธ์ระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่อยู่ในลักษณะเกรงกลัว และเชื่อฟังคำสั่ง ความคิดเห็นในสถาบันราชการมักจะมาจากผู้ใหญ่ฝ่ายเดียว  ระบบสัมพันธภาพ และค่านิยมแบบนี้ไม่เอื้อต่อการเกิดอุดมการณ์ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ขึ้นกับบุคคล  เมื่อใดก็ตามที่เหตุผล หรืออุดมการณ์ต้องเผชิญหน้าต่อบุคคล  บุคคลจะเป็นฝ่ายมีชัยเสมอ  ดังคำกล่าวที่ว่า “นโยบายอยู่เหนือเหตุผล”
 
ประการที่หก คือ ความรักอิสระมีค่านิยม “ยืดหยุ่น” เปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมได้ไม่ยากเลือกสนใจแต่สิ่งที่เป็นไปได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น