ล่าสุดเข้าไปดำเนินกิจกรรม “dtac Digikidz School Visit” จากโครงการ Safe Internet ในรูปแบบ Edutainment ที่ โรงเรียนราชินีบน โดยพร้อมจะขับเคลื่อนกว่า 100 โรงเรียนนำร่อง ในเขตกทม.และปริมณฑล ในปีนี้
กิจกรรม dtac Digikidz School Visit นั้นเป็นการขับเคลื่อนในรูปแบบ Edutainment ด้วยการเล่าเรื่องสั้นเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้เด็กได้ตระหนักคิด โดยผ่านไอดอล “d Hero” ที่จะมาคอยตักเตือนและให้ข้อแนะนำที่ถูก หวังให้ไอดอล d Hero เป็นซุปเปอร์ฮีโร่ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กๆ นอกจากนี้ จัดให้เด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ได้มีการประกวดเรียงความในหัวข้อ “การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ในความคิดฉัน” ชิงทุนการศึกษากว่า 1 ล้านบาท พร้อมมอบสื่อช่วยสอนชุดการ์ตูนอนิเมชั่น d Hero สนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนในการรณรงค์เรื่องนี้
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า Safe Internet เป็นโครงการซีเอสอาร์ที่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนซึ่งต่อไปจะเติบโตและเป็นอนาคตของประเทศชาติ ดีแทค จึงมีความมุ่งมั่นเพื่อจะมอบประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Safe Internet Experience)
ปัจจุบันกลุ่มประเทศในแถบตะวันตกยังเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูง และตื่นตัวและตระหนักเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยควบคู่กันไป อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นประเด็นที่องค์กรต่างๆ จากกว่า 100 ประเทศให้ความสำคัญจนเกิดเป็นภาคีความร่วมมือที่กำหนดให้มีวันแห่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยมากขึ้น (Safer Internet day) ซึ่งจัดในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อรณรงค์ให้เด็กและเยาวชน ทรัพยากรที่สำคัญของโลกได้ตระหนักรู้เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
ส่วนบ้านเรา ในปีที่ผ่านมา ผลสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ต โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร พบว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มอายุ 15-24 ปี มีสัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 69.7 รองลงมา กลุ่มอายุ 6-14 ปี ร้อยละ 58.2
“ จะเห็นว่าทั้งสองกลุ่มหลัก คือ เด็กและเยาวชนไทย หากเราไม่มีความรู้และคุณลักษณะนิสัยที่ดีเป็นภูมิคุ้มกันก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กและเยาวชนไทย โดยเด็กอายุระหว่าง 9-11 ปี กำลังเรียนอยู่ในชั้นประถมต้นเป็นช่วงวัยที่สำคัญมากเนื่องจากเด็กจะมีความเปลี่ยนแปลงจากพัฒนาการด้านต่างๆ ไม่ว่าสมอง จิตใจ อารมณ์ ถือว่าเป็นช่วงวัยอยากเรียนรู้ อยากเห็น อยากลอง เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง จึงเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงภัยที่เกิดขึ้นจากการใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด โดยโรงเรียนราชินีบน จะเป็นโรงเรียนนำร่องพร้อมๆ กับอีกประมาณ 100 โรงเรียน ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ที่เป็นสังคมเมืองและมีการใช้อินเทอร์เน็ตมาก
ส่วนกลุ่มวัยรุ่น ในระดับการศึกษาชั้นมัธยมต้น มัธยมปลาย เป็นอีกกลุ่มในลำดับต่อไปที่เราให้ความสนใจ แต่จะต้องสร้างสรรค์กิจกรรมที่สอดคล้องกับพฤติกรรม เช่น มีไอดอลที่สามารถไปกระตุ้นให้เขาสนใจ และเชื่อมั่น ”
ดร.เย็นฤทัย จงถนอม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผน โรงเรียนราชินีบน กล่าวเสริมว่ากิจกรรม “dtac Digikidz School Visit” จากโครงการ Safe Internet จะไปเสริมให้เด็กรู้และเข้าใจในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเท่าทัน โดยสามารถแยกแยะว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ รวมถึงเป็นโครงการที่มาช่วยเสริมแนวทางการสอนของโรงเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม ไอดอลที่สำคัญของเด็กๆ วัยนี้ คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นคนอยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย เช่น พฤติกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตขณะที่รับประทานอาหารร่วมกันบนโต๊ะ พ่อแม่ควรทักทายพูดคุยกับลูกๆ ไม่ใช่กินไป กดสมาร์ทไปด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กเห็นและเลียนแบบจนติดเป็นนิสัย
ภัยของโลกไซเบอร์ที่เด็กไม่พร้อมรับมือ
•อันตรายร้ายแรงที่สุดของเด็กและเยาวชน คือการพูดคุยทางอินเทอร์เน็ต
•เยาวชนร้อยละ 24 เคยมีนัดกับเพื่อนที่รู้จักกันบนอินเทอร์เน็ต
•เยาวชนร้อยละ 42 มีความคิดอยากพบเพื่อนที่รู้จักผ่านอินเทอร์เน็ต
•กลุ่มวัยรุ่นร้อยละ 71 เคยเข้าไปดูเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพอนาจาร ขณะที่ร้อยละ 52 เชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาในการเข้าไปดูและแลกเปลี่ยนภาพเหล่านี้
•เมื่อเจอปัญหา และตกเป็นเหยื่อของการถูกหลอกลวงโดยคู่สนทนาบนอินเทอร์เน็ต เด็กร้อยละ 45 จะเก็บไว้โดยไม่เล่าให้ใครฟัง ซึ่งอาจทำให้ล่าช้าเกินกว่าจะแก้ไข
ที่มา : ECPAT (End Child Prostitution, Child Pornography and Trafficking of Children for Sexual Purposes) เครือข่ายองค์กรและบุคคลทั่วโลกซึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อยุติการค้าประเวณีเด็ก สื่อลามกเด็ก และการค้าเด็กเพื่อธุรกิจทางเพศ
พ่อแม่ ผู้ปกครองยุคดิจิทัล…ต้องรู้ทันลูก ทันโลก อย่างไร ?
•ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ถูกต้อง
•เปิดใจและเริ่มต้นการพูดคุย ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์และโอกาสที่ได้จากการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์
•กำหนดข้อตกลงร่วมกัน สร้างเงื่อนไขที่สร้างสรรค์ในการใช้อินเทอร์เน็ต
•สอนให้รู้จักว่าอะไร คือ “ความเป็นส่วนตัว” ไม่แชร์ข้อมูลตนเองให้ผู้อื่น ไม่แชร์สิ่งที่ไม่เหมาะสม
•กำหนดเวลาในการใช้อินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม และใช้เวลาที่เหลือในการสอนทักษะการใช้ชีวิต
•กำหนดอายุของเด็กให้เหมาะสมกับเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นที่ควรจะใช้