“...รากฐานที่นับว่าสำคัญ คือรากฐานทางจิตใจ อันได้แก่ ความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรมอย่างหนึ่ง ในความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานให้ดีจนสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง เหตุใดจึงต้องมีความสุจริตและความมุ่งมั่น ก็เพราะความสุจริตนั้น ย่อมกีดกั้นบุคคลออกจากความชั่วและความเสื่อมเสียทั้งหมดได้ จึงช่วยให้บุคคลมีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถแต่ในทางที่ถูกที่เจริญแต่เพียงทางเดียว
ส่วนความมุ่งมั่นในการทำงานนั้น ถ้าขาดไป ก็ทำให้ย่อท้อเหนื่อยหน่าย หรือไม่ก็มักง่ายหยาบคาย ไม่ว่าจะทำสิ่งใด ก็มักไม่สำเร็จเด็ดขาด หรือบกพร่องเสียหาย ที่สุดก็จะไม่มีโอกาสสร้างสรรค์ประโยชน์ และความเจริญก้าวหน้าอันใดให้แก่ตนเองหรือแก่ใครๆได้
ในโอกาสที่บัณฑิตจะออกไปเริ่มต้นชีวิตการงาน จึงขอให้วางรากฐานการที่จะใช้วิชาการประกอบการงานให้มั่นเหมาะครบถ้วน เพื่อจักได้มีความเจริญก้าวหน้าสมดังที่ตั้งใจปรารถนาโดยแท้จริง...”
ความตอนหนึ่งในพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ชวนให้ระลึกถึงลักษณะบุคคลผู้ตั้งอยู่และไม่ตั้งอยู่ในธรรม ที่พระศาสดาได้ทรงแสดงไว้ในธรรมบท เรื่องมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัย ซึ่งมีความพิสดารว่า
วันหนึ่ง พวกภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้าน ใกล้ประตูด้านทิศเหนือแห่งนครสาวัตถี แล้วเดินกลับมายังพระเชตวันวิหารโดยท่ามกลางพระนคร ขณะนั้น ก็มีเมฆใหญ่ตั้งขึ้น ทำให้เกิดฝนตก พวกภิกษุเหล่านั้นเข้าไปสู่ศาลาที่ทำการวินิจฉัยอันตั้งอยู่ตรงหน้า เพื่อหลบฝน ทำให้ได้เห็นพวกมหาอำมาตย์ผู้วินิจฉัยรับสินบนแล้ว ทำเจ้าของไม่ให้เป็นเจ้าของ จึงคิดว่า “โอ! มหาอำมาตย์เหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม แต่พวกเราได้มีโอกาสเห็น มหาอำมาตย์เหล่านี้ทำการวินิจฉัยโดยธรรม”
เมื่อฝนหายขาดแล้ว พวกภิกษุก็เดินกลับมาถึงวิหาร เข้าไปเฝ้าถวายบังคมพระศาสดา กราบทูลความที่ได้ประสบมา
พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกอำมาตย์ผู้วินิจฉัยเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น ตัดสินความโดยผลุนผลัน ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม ส่วนพวกที่ไต่สวนความผิดแล้วตัดสินความโดยละเอียดลออ ตามสมควรแก่ความผิดนั่นแหละ เป็นผู้ชื่อว่าตั้งอยู่ในธรรม"
พระอรรถกถาจารย์ ได้ขยายความแห่งพุทธดำรัสว่า มหาอำมาตย์ที่เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นผู้ตั้งอยู่ในอคติ คือ ผู้ใดตั้งอยู่ในความพอใจ กล่าวเท็จ ย่อมทำญาติหรือมิตรของตน ซึ่งมิใช่เจ้าของนั่นแลให้เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ในความชัง กล่าวเท็จ ย่อมทำคนที่เป็นศัตรูของตนซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงไม่ให้เป็นเจ้าของ ตั้งอยู่ในความหลง รับสินบนแล้วในเวลาตัดสิน ทำเป็นเหมือนส่งจิตไปในที่อื่น แลดูข้างโน้นและข้างนี้ กล่าวเท็จ ย่อมนำบุคคลอื่นออกด้วยคำว่า "ผู้นี้ชนะ ผู้นี้แพ้" ตั้งอยู่ในความกลัว ย่อมยกความชนะให้ผู้เป็นใหญ่บางคนนั่นแล แม้ที่ถึงความแพ้ เขาจึงตัดสินคดีด้วยความผลุนผลัน เหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "ผู้นั้น เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม"
มหาอำมาตย์ที่เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นบัณฑิต วินิจฉัยเหตุที่เป็นคดีและไม่เป็นคดีทั้งสองแล้ว ย่อมกล่าว โดยไม่กล่าวเท็จ โดยธรรมเครื่องวินิจฉัย คือหาใช่โดยอำนาจอคติ มีฉันทาคติเป็นต้นไม่ ย่อมนำบุคคลเหล่าอื่นไป คือให้ถึงความชำนะหรือความแพ้โดยสมควรแก่ความผิดนั่นเอง ผู้นั้นอันธรรมคุ้มครองแล้ว คืออันธรรมรักษาแล้ว ประกอบแล้วด้วยปัญญาอันรุ่งเรืองในธรรม ชื่อว่ามีปัญญา เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม" เพราะเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมเครื่องวินิจฉัย
ประเทศใดที่มีข้าราชการที่เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมมาก ประเทศนั้นย่อมความหายนะวิบัติ เกิดกลียุค ก่อความทุกข์ให้แก่พลเมืองมากมาย ประเทศใดที่มีข้าราชการที่เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรมมาก ประเทศนั้นย่อมมีแต่ความเจริญ วัฒนาสถาพร ก่อความสุขให้แก่พลเมืองมากมาย
สุจริตธรรม ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง การมีกาย วาจา ใจ ที่สุจริต อันเป็นคุณธรรมของคนดี มี ๓ อย่าง คือ ๑) กายสุจริต ประพฤติชอบด้วยกาย อันได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ และเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๒) วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา อันได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๓) มโนสุจริต ประพฤติชอบด้วยใจ อันได้แก่ ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และไม่เห็นผิดจากครรลองคลองธรรม
บุคคลผู้ประพฤติสุจริตย่อมเป็นผู้มีศีลธรรมประจำตนอยู่เสมอ ประกอบกิจการใดๆ ก็ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของตนและสังคมเป็นนิตย์
เมื่อพระมหากษัตริย์และข้าราชบริพาร ล้วนประพฤติสุจริตธรรม งานราชการแผ่นดินจึงเป็นไปตามครรลองของพุทธธรรม ก่อสุขประโยชน์อันวัฒนาสถาพรแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน จนทำให้เกียรติยศลือชาไปทั่วทุกทิศ ด้วยเหตุดังนี้ ความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรม จึงเป็นรากฐานทางจิตใจอย่างหนึ่ง
บุคคลเมื่อมีสุจริตธรรมในการทำงานแล้ว ย่อมเป็นดุจดังผู้ที่กำลังสร้างสมบารมีขึ้นในตนเอง บารมีในทางพระพุทธศาสนา คือ ความดีที่บำเพ็ญเพื่อบรรลุซึ่งจุดหมายอันสูงสุด อันประกอบด้วย ๑. ทาน (การให้ การเสียสละ) ๒. ศีล (ความประพฤติดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย) ๓. เนกขัมมะ (ความปลีกตัวปลีกใจจากกาม) ๔. ปัญญา (ความหยั่งรู้เหตุผล เข้าใจสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง) ๕. วิริยะ (ความเพียร ความไม่เกรงกลัวอุปสรรค พยายามบากบั่นอุตสาหะ ก้าวหน้าเรื่อยไป ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่) ๖. ขันติ (ความอดทน ความสามารถใช้สติปัญญาควบคุมตนให้อยู่ในอำนาจเหตุผล และแนวทางความประพฤติ ที่ตั้งไว้เพื่อจุดหมายอันชอบไม่ลุอำนาจกิเลส) ๗. สัจจะ (ความจริง คือ พูดจริง ทำจริง และจริงใจ) ๘. อธิษฐาน (ความตั้งใจมั่น การตัดสินใจเด็ดเดี่ยว วางจุดหมายแห่งการกระทำของตนไว้แน่นอน และดำเนินตามนั้นอย่างแน่วแน่) ๙. เมตตา (ความปรารถนาดี มีไมตรี คิดเกื้อกูลให้ผู้อื่นและเพื่อนร่วมโลกทั้งปวงมีความสุขความเจริญ) ๑๐. อุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง ความวางใจสงบราบเรียบสม่ำเสมอ เที่ยงธรรม ไม่เอนเอียงไปด้วยความยินดียินร้ายหรือชอบฟัง)
ในบารมีทั้ง ๑๐ ประการนี้ วิริยบารมี เป็นตัวขับเคลื่อนให้บำเพ็ญความดีไปจนถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีแต่บุคคลที่ประพฤติสุจริตธรรมเท่านั้น จึงสามารถประพฤติตนตามหลักทศบารมีนี้ได้ ด้วยเหตุดังนี้ ความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานให้ดีจนสำเร็จ จึงเป็นรากฐานทางจิตใจ อีกอย่างหนึ่ง
เมื่อบุคคลสามารถสร้างรากฐานทางจิตใจให้เกิดมีขึ้นในตนได้ดังนี้ ย่อมเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธรรมเสมอ กิจการงานหน้าที่รับผิดชอบจึงเป็นไปเพื่อความเจริญวัฒนาสถาพรของหน่วยงานตน อันก่อสุขประโยชน์แก่ตนเองและสังคมเป็นนิตย์ สมดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานว่า “เพื่อจักได้มีความเจริญก้าวหน้าสมดังที่ตั้งใจปรารถนาโดยแท้จริง”
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย พระครูพิศาลสรนาท (พจนารถ ปภาโส) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)