เรื่องราวรักสามเส้า เราสามคน ระหว่าง ไฮโซตั๋ม - รองอั๋น - หมอแอร์ ซึ่งเป็นที่พูดถึงอยู่ในสังคมขณะนี้ ผู้คนมากมายต่างสงสัยว่าจำเป็นขนาดไหนที่ต้องให้ความสนใจกับศึกชิงรักหักสวาทครั้งนี้ ทั้งที่พวกเขาแทบไม่ได้มีบทบาทอะไรต่อสังคมไทยเลย นอกจากการดรามาเรื่องฉันรักผัวเขา
รักครั้งนี้ ทำโซเชียลฯ ระอุ!
เป็นกระแสดรามาไม่เลิก! ระหว่างไฮโซสาว “ตั๋ม-วิชชุดา ลีนุตพงษ์” กับ “หมอแอร์-พ.ต.ท.หญิง แพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล” กรณีนี้สืบเนื่องจากไฮโซตั๋มเลิกรากับ “รองอั๋น-พ.ต.ท.อรรถพล อิทธโยภาสกุล” ถึงขั้นโพสต์ข้อความต่อว่าพฤติกรรมนายตำรวจหนุ่มผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย โดยพาดพิงไปถึงหมอแอร์ว่าเป็นมือที่สามทำรักล่ม
“หมอแอร์” ตัดสินใจเข้าแจ้งความเอาผิดข้อหาหมิ่นประมาททำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ทว่าเรื่องราวยังคงบานปลาย เมื่อจู่ๆ “ไฮโซตั๋ม” บุกงานแถลงข่าว “หมอแอร์” เปิดฉากด่ากราด กล่าวหาหมอสาวแย่งแฟนหนุ่มที่หมั้นกันแล้ว สร้างความฮือฮาแก่ทัพสื่อมวลชนจนเป็นข่าวโด่งดังเมื่อหลายวันก่อน
ศึกชิงรักหักสวาทครั้งนี้ดูเหมือนจะไม่จบสิ้นเสียง่ายๆ เมื่อต่างฝ่ายต่างออกมาพูดถึงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง ด้าน “รองอั๋น” เปิดใจถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องคนสองคนเลิกคบด้วยความคิดเห็นไม่ตรงกัน ขอโทษหากทำให้ใครเสียหาย โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า “หมอแอร์” เป็นแค่เพื่อนจ้างตนไปเป็นพรีเซ็นเตอร์อาหารเสริมเท่านั้น
พร้อมกับระบายความในใจผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยแจงข้อเท็จจริงเหตุที่เลิกกับ “ไฮโซตั๋ม” ไม่ใช่จากเงินและไม่ใช่เรื่องของมือที่สาม อีกทั้งยังยืนยันว่าไม่ได้หมั้นหมาย ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายยังไม่ได้เจอกัน พร้อมยืนยันว่าหมอแอร์ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ นอกจากเพื่อนร่วมงาน
ทางด้าน “หมอแอร์” ก็เช่นกัน วอนยุติเรื่องดังกล่าวและไม่ขอต่อความยาวสาวความยืดอีก ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย เพราะหากพูดอะไรออกไปก็จะถูกนำไปขยายไม่จบสิ้นเสียที มันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง และอยากให้เรื่องดังกล่าวนี้จบลงเสียที
สื่อหลายสำนักต่างจับจ้องจ่อไมค์เข้าหา เพื่อหาข้อเท็จจริงจากประเด็นนี้ ไม่เว้นแม้แต่รายการข่าวชื่อดัง ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ ก็หยิบจับประเด็นนี้ขึ้นมาพูดถึง ทำให้เกิดเรื่องราวดรามาขึ้นมาอีกระลอกเมื่อ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” พิธีกรและผู้ดำเนินรายการ อ่านข้อความชี้แจงของ “ไฮโซตั๋ม” กรณีการบุกงานแถลง “หมอแอร์” โดยได้พูดประโยคหนึ่งออกมาว่า “ยาวฮะท่านผู้ชมฮะ อ่านเหนื่อยอะ”
เหตุนี้เองทำให้ “ไฮโซตั๋ม” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Vitchuda Leenutaphong” พาดพิงถึงกรณีการอ่านข่าวของในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ความว่า “คุณสรยุทธคะ ถ้าคุณจะบอกว่าดิฉันเขียนอะไรยาวขี้เกียจอ่าน ก็ไม่ต้องเอาข่าวดิฉันไปออกรายการคุณก็ได้นะคะ คุณมันพวกเสื้อแดง อิคนที่มีเรื่องกับดิฉันก็เสื้อแดง ดิฉันไม่ได้อยากให้คุณพูดถึงดิฉันเลย พูดไปพวกคุณก็เข้าข้างกันเอง สื่อใหญ่คนดูเยอะแล้วไงคะ ไม่ใช่พ่อใช่แม่ ต้องแคร์ปะ”
ประเด็นร้อนระอุข้างต้น นับว่าเป็นเรื่องราวรักๆ ใคร่ๆ ระหว่างคน 2 คน ที่เมื่อเลิกรากันไปแล้วเกิดการออกมาแฉเพราะไม่พอใจการกระทำของอีกฝ่าย เรื่องราวดังกล่าวนี้จึงคล้ายกับเป็นการต่อความยาวสาวความยืด ทำให้เรื่องบานปลายอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลเสียแล้ว และผลกระทบต่อหลายฝ้ายแล้ว หนำซ้ำผู้อ่านยังไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ
ไร้สาระ ไม่จำเป็นต้องรู้!
“เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ก่อผลประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนเลย” นี่คือคำพูดของ “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เขาได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้กับทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive
“ประเด็นเรื่องนี้ในมุมผมเลยนะ ผมเห็นหนังสือพิมพ์หลายฉบับเอามาลง ก็ค่อนข้างรู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่สื่อไม่ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลยนะครับ เรื่องนี้ที่ว่าไม่ควรให้ความสำคัญเพราะว่ามันเป็นเรื่องของความขัดแย้งส่วนตัว และความขัดแย้งส่วนตัวนั้นมันเป็นความขัดแย้งส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องชิงรักหักสวาท เรื่องความรักความใคร่
จริงๆ แล้ว ถึงแม้ว่าหมอแอร์ รองอั๋นหรือว่าไฮโซตั๋ม จะไม่ใช่ดารา เป็นบุคคลธรรมดาทั่วๆ ไป และถึงแม้ว่าสถานภาพหมอแอร์จะเป็นคนที่รู้จัก แต่ว่าโดยเนื้อแท้ของเหตุการณ์นี้เรื่องส่วนตัวที่ไม่ก่อผลประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชนเลยนะครับ และที่สำคัญไม่น่าเชื่อ มันชิงพื้นที่ข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ได้มาก และที่สำคัญมันยังถูกกลายเป็นข่าวที่ถูกแชร์ถูกส่งต่อกันมากในพื้นที่ข่าวออนไลน์”
การเล่นประเด็นข่าวแบบนี้ ถือว่าเป็นการเปลืองทรัพยากรพื้นที่ข่าว ยิ่งนำเสนอ ยิ่งเจาะลึกไปมากเท่าไหร่ ก็ไม่ได้ส่งผลดีกับสาธารณะเลย
“มันเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในการใช้ทรัพยากรคนข่าว ใช้ทรัพยากรของพื้นที่ข่าว และก็ใช้ทรัพยากรของความน่าเชื่อถือที่สำนักข่าวมี ข่าวแบบนี้มันสะท้อนว่าคนทำข่าวให้ความสำคัญกับข่าวเรื่องส่วนตัว แล้วก็เอาเรื่องความกระหายใคร่รู้ ซึ่งบางทีผมเชื่อว่าในยุคหลังๆ ประชาชนจะเริ่มตั้งคำถามว่าข่าวพวกนี้มันมีมูลค่าหรือว่ามันมีคุณค่าตรงไหนที่ควรจะอ่าน และที่สำคัญก็คือข่าวแบบนี้มันคือข่าวความขัดแย้งส่วนบุคคล ยิ่งนำเสนอไปมากยิ่งเจาะลึกไปมากนะครับ มันไม่ได้ให้ผลดีอะไรกับสาธารณะเลย
ที่สำคัญมันค่อนข้างผิดจริยธรรม เพราะมันเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว ลองคิดดูว่าทำไมคุณหมอแอร์ถึงต้องแถลงข่าวก็เพราะว่าข่าวที่มันปรากฏในพื้นที่สาธารณะมันมีการหมิ่นประมาท มันมีการให้ข้อมูลเป็นเท็จ แล้วไฮโซตั๋มก็มาที่งานแถลงข่าวบอกว่าจริงๆ ข่าวมันไม่ใช่แบบนั้น เพราะฉะนั้น มันเลยกลายเป็นประเด็นที่ไปกันใหญ่ เพราว่าตัวคนขัดแย้งทั้ง 3 คนนี้ ใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียหรือพื้นที่สื่อในการให้ข้อมูล
ทีนี้สื่อมวลชนก็ตกหลุมพรางจริง ไม่ควรเอาเรื่องนี้ไปเล่นกับกระบวนข่าวนี้เลย เพราะมันจะยิ่งเท่ากับว่าใช้ทรัพยากรคนทำงานสื่อไปโดยไม่ได้เกิดประโยชน์และที่สำคัญนี่คือการขยายความขัดแย้ง เรื่องนี้ที่ดีที่สุดคือไม่เอาความขัดแจ้งส่วนตัวที่ถูกนำเสนอบนพื้นที่สาธารณะมาเอาเป็นประเด็นข่าว”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ข่าวดังกล่าวนี้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนเลย หากย้อนกลับไปดูคอมเมนต์ใต้ข่าวจะเห็นได้ว่าเขาเหล่านั้นบอกว่าข่าวนี้มันไร้สาระ
“เสียงคนไทยบางส่วนที่เป็นคอมเมนต์ใต้ข่าว เท่าที่ผมไปดู 80-90 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกว่าข่าวนี้มันไร้สาระมากเลย แล้วเขาถามว่าจำเป็นที่จะต้องรู้มั้ย สื่อควรจะคำนึงถึงคุณค่าข่าวที่ส่งผมกระทบใกล้ชิดประชาชนที่จำเป็นต่อเขา ที่เขาควรจะรู้จริงๆ”
หากเนื้อหาของข่าวไหนไม่ได้สร้างความจรรโลงใจให้แก่ผู้อ่าน แนะนำว่าให้กดรีพอร์ตไปเสีย เพราะการคอมเมนต์ใต้ข่าวไม่ส่งผลใดๆ ทั้งสิ้น
“ข่าวพวกนี้จัดอยู่ในประเภทที่สนองความอยากรู้ แต่ไม่ใช่ความจะเป็นที่จะต้องรู้ เพราะฉะนั้น ประชาชนอาจจะลุกขึ้นมาปฏิเสธ ต่อไปผมก็จะแนะนำว่าถ้าเกิดประชาชนไม่ชอบข่าวไหนก็ควรจะกดรีพอร์ต
การคอมเมนต์ การติเตียนสำหรับสื่อมวลชนไทย หรือว่าในหน้าเว็บเพจต่างๆ การคอมเมนต์ด่าไม่ส่งผลใดๆ ทั้งสิ้น ทำรีพอร์ตสิครับ ว่าทำไมฉันถึงไม่ชอบข่าวนี้ ไม่ชอบคลิปวิดีโออันนี้มันส่งผลมากกว่าจริงๆ”
ระวัง! ข่าวรักทำให้เกิด “ขยะออนไลน์”
เมื่อถามสังคมไทยจะได้อะไรกับข่าวแบบนี้ เขาตอบกลับทันทีว่าคนอ่านอยากรู้หรือนักข่าวอยากรู้กันแน่ การทำงานต้องตั้งสมมุติฐานใหม่ คือการทำข่าวที่ประชาชนอยากรู้จริงๆ
“มันต้องตั้งคำถามว่าข่าวพวกนี้ คนดู คนอ่านอยากรู้ หรือว่านักข่าวอยากรู้จริงๆ กันแน่ เพราะว่าผมคิดว่าแต่ก่อนนักข่าวทำข่าวบนสมมุติฐานที่เชื่อว่าคนดู คนอ่านชอบ แต่ทุกวันนี้นักข่าวไม่สามารถทำข่าวเสร็จปุ๊บแล้วกลับบ้านไปพักได้ มันไม่ใช่ ที่ที่คุณโพสต์คุณสามารถรู้ความคิดเห็นของประชาชนได้ทันที
สมมุติฐานคุณต้องตั้งใหม่ว่านี่คือข่าวที่ประชาชนอยากจะรู้จริงๆ น่ะหรอ ลองไปดูความคิดเห็นเขาสิ อ้าว 80 เปอร์เซ็นต์บอกว่าข่าวชิ้นนี้เขาไม่ชอบเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่เขาบอกว่าเขาไม่ชอบแล้วคุณยังอยากทำข่าวประเภทนี้อยู่อีกเหรอ ผมว่าคุณทำไม่ได้แล้วจริงๆ”
สื่อมวลชนมีบทบาทความสำคัญต่อสังคมมาก ทว่าเรื่องบางเรื่องหากมันไม่มีประโยชน์ ให้เพิกเฉยและไม่ต้องให้ความสำคัญกับมันมากนัก
“ควรเปลี่ยนแนวในการมุ่งเข้าหาข่าวซะใหม่นะครับ คุณสามารถรู้ได้จริงๆ ข่าวประเภทนี้คนไม่ชอบกันทั้งนั้นแหละครับ เป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เสียงของผู้อ่านใกล้ชิดกว่าเดิมมากๆ เลย เพราะฉะนั้น การที่ไฮโซตั๋มออกมาแฉ ผมมองว่าถ้านักข่าวจะมีบทบาทอะไรที่สำคัญต่อสังคมมากกว่านั้นก็คือว่า เพิกเฉยต่อเรื่องบางเรื่องบ้างก็ได้ ไม่ต้องไปให้ความสำคัญมากก็ได้ เพราะว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรกับเรื่องนี้เลย”
ยุคนี้ถือเป็นยุคข่าวออนไลน์ ที่นำเสนอข่าวประเภทที่มีเนื้อหาไม่ประเทืองปัญญาซึ่งไม่ใช่แนวข่าวที่ดี ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวสารนำไปสู่สังคมที่โง่ลง
“ยุคนี้ยอดพิมพ์มันหายลงไปนะ เพราะว่ามันมีข่าวออนไลน์มาแทน เพราะฉะนั้น ผมเลยอยากเรียกยุคนี้ว่ายุคข่าวออนไลน์ขยะ ข่าวไร้สาระมากแล้วมันรก News Feed ผมว่ายุคนี้มันเป็นข่าวที่สะท้อนว่าคนทำข่าวโง่ การทำข่าวแบบนี้ทำให้ผู้คนในสังคมได้รับข่าวสารที่ไม่ประเทืองปัญญานำไปสู่สังคมที่โง่ลง
การทำข่าวแบบนี้มากไปเรื่อยๆ มันสะท้อนว่าสื่อมวลชนทำข่าวแบบ Dumbing Down ก็คือการทำข่าวแบบทำให้คนโง่ลง ซึ่งไม่ใช่แนวข่าวที่ดีเลย โดยอ้างว่าประชาชนสนใจใคร่รู้ นักข่าวควรทำข่าวที่ประชาชนควรรู้ แต่ตอนนี้นักข่าวอาจจะทำข่าวในสไตล์โลกยุคเก่าก็คือทำข่าวที่ประชาชนอยากจะรู้ จริงๆ ไม่ต้องตามใจประชาชนมากก็ได้”
นักวิชาการสื่อสาธารณะ ให้บทเรียนสำหรับกรณีนี้ทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นข่าวเสียด้วยซ้ำ ทางที่ดีให้ทนายเป็นคน จัดการและดำเนินเรื่องทั้งหมดจะดีกว่า
“เรื่องนี้ไม่ควรเป็นข่าวเพราะจะพังกันทั้ง 2 ฝ่าย ดีที่สุดคือทนายเป็นคนจัดการ และที่สำคัญงดการแถลงข่าว การพูดให้ข่าวด้วยตัวเองจะดีที่สุด มันสะท้อนให้เห็นว่า 1. ความขัดแย้งเรื่องราวลับๆ รักๆ ใคร่ๆ มีทุกชนชั้น 2. มันสะท้อนว่านักข่าวส่วนหนึ่งเชื่อว่าความขัดแย้งของบุคคลสาธารณะดารา นักร้อง ไฮโซ เป็นเรื่องดี ขายได้ ซึ่งความเชื่อนี้ผิด
3. นักข่าวที่ทำงานข่าวแบบนี้ยังขาดทักษะและขาดความรอบรู้ในการนำเสนอข่าวความขัดแย้งของบุคคลสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทหรือว่าขาดทักษะในการชั่งน้ำหนักว่าข่าวใดก็ตามที่จะมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม
4. สังคมไทยส่วนหนึ่งยังคงเชื่อ ยังคงชอบ เพราะผมไปดูในยอดคอมเมนต์ ยอดไลค์ ถึงจะไม่ชอบข่าวพวกนี้นะแต่ว่าการคลิกเข้าไปอ่านสูงมากนะครับ แต่ว่าพฤติกรรมตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปนะอย่างเช่น ผมคลิกอ่าน ผมไม่ได้คลิกอ่านเนื้อหาข่าวนะ ผมคลิกอ่านคอมเมนต์นะ มันจะสะท้อนว่านอกจากเราจะสนใจเรื่องของความขัดแย้งแล้ว เรายังสนใจความคิดเห็นของคนอื่นๆ อีก
5. ผู้คนชาวเน็ตกดด่าเพราะไม่ชอบข่าวแบบนี้แต่คนกดรีพอร์ตน้อยมาก แต่ก็จะเป็นด่าซ้ำ เช่น ข่าวนี้ไม่ได้เกิดประโยชน์ อะไรเลยไม่เป็นในเชิงสร้างสรรค์หรือว่าในลักษะณะเชิงปราบ มันก็จะสะท้อนปัญหาโดยรวมๆ ว่าเรายังคงวนอยู่กับข่าวแบบนี้ ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754