xs
xsm
sm
md
lg

[ชมคลิป] “ขายตรง” จี้ “สคบ.” แก้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ยึด 3 หลักการหวังเอื้อเกิดความเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“ภคพรรณ ลีวุฒินันท์” นายสมาคมการขายตรงไทย (TDSA)
สมาคมการขายตรงไทยยอมรับหลักการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... หลังใช้ฉบับเก่ามานาน 13 ปี ย่องพบเลขาฯ สคบ. 5 รอบ แนะ 3 หลักการในการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฯ ให้เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น หวังมีผลในการจัดประชาพิจารณ์ 19 มี.ค. 58 เผยตลาดขายตรงเติบโตต่อเนื่อง 5-10% จนมีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท

นางภคพรรณ ลีวุฒินันท์ นายกสมาคมการขายตรงไทย (TDSA) เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นำเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ....) พ.ศ. .... เมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2557 นั้น สมาคมฯ เห็นด้วยกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.งกล่าวเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ขายตรงฉบับปัจจุบันถูกนำมาใช้เป็นเวลาประมาณ 13 ปีแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับภาวะสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

แต่ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังไม่เห็นด้วยกับบางมาตราของร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งควรมีความชัดเจน เหมาะสม และอยู่บนพื้นฐานบังคับทางกฎหมายใช้ได้จริง เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจขายตรง ทั้งยังเป็นการช่วยคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนจำหน่าย ตลอดจนเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแท้จริง

ในช่วงที่ผ่านมาสมาคมฯ จึงได้มีการจัดการประชุมร่วมกับสมาชิกสมาคมฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เพื่อหารือเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ พร้อมมีโอกาสเข้าพบ นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการ สคบ. เป็นจำนวนถึง 5 ครั้ง เพื่อขอเสนอแนะความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยยึด 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. การคุ้มครองผู้บริโภคและผู้แทนจำหน่าย 2. การส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงที่ดี และ 3. ช่วยขจัดแชร์ลูกโซ่ที่เข้ามาในธุรกิจขายตรง

สำหรับประเด็นที่สมาคมฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติม ประกอบด้วย 9 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อที่ 1 การเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “บริษัท” ในร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่....) พ.ศ. .... (มาตรา ๓) เพื่อเป็นการคัดกรองผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงที่จะยื่นคำขออนุญาตการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง โดยกำหนดคุณสมบัติคือต้องเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท (มาตรา ๓๘/๑ (๑))

แม้สมาคมฯ จะเห็นด้วยกับบทนิยามคำว่า “บริษัท” ตามร่างที่เสนอ แต่การกำหนดให้บริษัทต้องมีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วเป็นจำนวนสูงถึง 10 ล้านบาท อาจช่วยป้องกันบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างผิดกฎหมายได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกันบริษัทที่ระดมทุนและใช้แผนการแยบยลในการหลบเลี่ยงกฎหมายได้

“ขณะเดียวกันยังมีบริษัทในธุรกิจขายตรงที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 10 ล้านบาทเป็นจำนวนมาก แต่ก็สามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีจริยธรรม สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทยเป็นจำนวนมาก สมาคมฯ จึงเห็นว่าควรมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 2 ล้านบาท เพื่อมิให้เป็นภาระหนักเกินไปสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย” นางภคพรรณกล่าว

หัวข้อที่ 2 องค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา ๘) ซึ่งมีคณะกรรมการรวม 15 คนนั้น สมาคมฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่าประธานกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งควรเป็นบุคคลที่ไม่ดำรงตำแหน่ง หรือถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรงเกินร้อยละ 10 ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนดำรงตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส ส่วนการคัดเลือกคณะกรรมการและผู้แทนสมาคมไม่ควรกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น แต่ควรมีการกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ ที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบประวัติสมาคมนั้นๆ ได้ และควรเป็นผู้มีประสบการณ์ หรือมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขายตรงและตลาดแบบตรงมาอย่างยาวนาน เพื่อส่งเสริมธุรกิจขายตรงให้เป็นไปตามกรอบนโยบายและสอดรับกับข้อกฎหมาย

หัวข้อที่ 3 จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง” (มาตรา ๑๘) เพื่อให้มีหน่วยงานที่กำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงขึ้นเป็นการเฉพาะนั้น สมาคมฯ เห็นด้วยตามร่างฯ แต่เสนอให้ตัดมาตรา ๑๘/๑ (๒) รับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการบริหารกองทุน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งกองทุนฯ และให้แก้ไข มาตรา ๑๘/๑ (๗) เป็น ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

หัวข้อที่ 4 การแจ้งย้ายสำนักงานและการส่งรายงานที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงต่อนายทะเบียน (มาตรา ๒๖/๑, ๒๖/๒) โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีการย้ายสำนักงาน แต่สมาคมฯ ขอเสนอให้มีการแจ้งนายทะเบียนทราบภายใน 30 วัน เพื่อความยืดหยุ่นในการทำงาน

หัวข้อที่ 5 การเปลี่ยนการยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงเป็นการยื่นคำขออนุญาตการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา ๓๘) โดยใบอนุญาตที่ออกให้มีอายุ 2 ปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต ในกรณีผู้ที่ได้รับอนุญาตประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตให้ทำการยื่นคำขอก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ เมื่อได้ยื่นคำขอแล้วจะประกอบธุรกิจต่อไปก็ได้จนกว่าผู้อนุญาตจะสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาตนั้น

สมาคมฯ มีข้อเสนอเพิ่มเติมให้การต่อใบอนุญาตครั้งที่ 2 มีอายุ 5 ปี ส่วนการต่อใบอนุญาตครั้งที่ 3 เป็นต้นไปมีอายุ 10 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับกฎหมายขายตรงของประเทศมาเลเซีย โดยค่าธรรมเนียมการต่ออายุไม่ควรเกิน 5,000 บาทต่อครั้ง

หัวข้อที่ 6 การวางหลักประกันเพื่อขอใบอนุญาตการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา ๓๘/๓, ๓๘/๔, ๓๘/๕, ๔๑/๑, ๔๑/๒, ๔๑/๘) เพื่อป้องกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงที่ฝ่าฝืนกฎหมายจึงให้มีการวางหลักประกันก่อนได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และเพื่อเป็นการกลั่นกรองผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงที่ประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมายอีกขั้นหนึ่งนั้น

นางภคพรรณกล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการวางหลักประกัน เนื่องจากตามหลักสากลของธุรกิจขายตรงในประเทศต่างๆ ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่มีการกำหนดกฎหมายในเรื่องนี้แต่อย่างใด นอกจากนั้นประเทศไทยก็มี พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว

“การกำหนดหลักประกันไม่ได้เป็นแนวทางที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่ เพราะผู้ที่ไม่หวังดี หรือต้องการจะใช้ช่องทางธุรกิจขายตรงอาจอ้างอิงแก่ผู้บริโภคว่ามีหลักประกันวางอยู่กับภาครัฐแล้ว ซึ่งจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับบริษัท หรือผู้ประกอบการดังกล่าวให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงได้ง่ายยิ่งขึ้น สมาคมฯ จึงเสนอให้ตัดทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับการวางหลักประกันออกทั้งหมด”
คณะกรรมการ สมาคมการขายตรงไทย ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ....
หัวข้อที่ 7 มาตรการควบคุมมิให้มีการโอนสิทธิในใบอนุญาต (มาตรา ๓๘ วรรคสิบ) เพื่อควบคุมมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงทำการซื้อขายใบอนุญาตการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงและดำเนินธุรกิจฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงนั้น

สมาคมฯ เห็นว่าควรให้สามารถโอนสิทธิใบอนุญาตแก่ทายาทซึ่งตกทอดทางมรดก เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงที่ดีย่อมต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการประกอบธุรกิจให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนเพื่อให้เป็นมรดกตกทอดแก่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคต รวมทั้งคำนึงถึงผู้ร่วมธุรกิจซึ่งเป็นผู้จำหน่ายอิสระจำนวนมากจะได้เกิดความเชื่อถือและมั่นใจในการร่วมธุรกิจกับบริษัท

“ในความเป็นจริงแล้วบริษัทที่ตั้งใจประกอบธุรกิจขายตรงที่ดีจะไม่กระทำการใดอันเป็นการสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้เกิดขึ้นกับองค์กรของตนอย่างแน่นอน แต่ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนสิทธิให้ชัดเจน” นางภคพรรณกล่าวเสริม

หัวข้อที่ 8 การจัดตั้ง “กองทุนธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง” (มาตรา ๔๒/๑-๔๒/๑๔) เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภค หรือผู้จำหน่ายอิสระที่ถูกละเมิดสิทธิจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงในกรณีผู้ได้รับอนุญาตล้มละลาย หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต

สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาความเสียหายควรที่จะมุ่งไปที่ผู้บริโภคมากกว่าผู้จำหน่ายอิสระ ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันยังมี พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และ พ.ร.บ.อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การกู้ยืมเงิน เป็นต้น จึงเห็นว่าหากมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นโดยไม่เป็นส่วนของราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย อาจก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสได้

“สินค้าของธุรกิจขายตรงส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปซึ่งมีราคาไม่สูงมาก โดยแต่ละบริษัทก็มีการรับประกันคุณภาพและความพอใจในการซื้อสินค้าอยู่แล้ว การจัดตั้งกองทุนฯ จึงไม่ได้เป็นการช่วยป้องกัน หรือแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่อย่างแท้จริง แต่จะเป็นการทำให้เกิดความยุ่งยากและต้องเพิ่มบุคลากรอีกจำนวนมากเพื่อมาบริหารจัดการกองทุนฯ ดังกล่าว ทั้งยังอาจเป็นช่องโหว่ให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในด้านต่างๆ จากผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย” นางภคพรรณกล่าวเสริม

หัวข้อที่ 9 จัดตั้ง “องค์กรส่งเสริมอาชีพธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง” (มาตรา ๔๒/๑๕) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีบทบาทในการกำกับดูแลของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมขายตรงและตลาดแบบตรงให้มีมาตรฐานและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงดำเนินงานเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน การสอบ การอบรม ผู้จำหน่ายอิสระนั้น

นางภคพรรณกล่าวว่า สมาคมฯ เห็นว่ามาตราดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อธุรกิจขายตรง เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงมีสมาคมที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันกำกับดูแลบริษัทสมาชิกและผู้จำหน่ายอิสระในสังกัดของตนอยู่แล้ว หากให้เอกชนเข้ามากำกับและควบคุมกันเองอาจเกิดการเอนเอียงได้ อีกทั้งการที่บริษัทนำข้อมูลของผู้จำหน่ายอิสระมาให้องค์กรเอกชนอื่นที่ไม่ใช่ภาครัฐ อาจขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว

จากการศึกษาข้อมูลของสมาคมการขายตรงไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาพันธ์การขายตรงโลก ณ สหรัฐอเมริกา ไม่ปรากฏว่ามีองค์กรลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศทั่วโลก ทั้งยังเห็นว่าการขึ้นทะเบียนผู้จำหน่ายอิสระอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่หวังดีใช้ประโยชน์ในการแอบอ้างชื่อบริษัทที่ตนขึ้นทะเบียนแล้วไปทำการหลอกลวงผู้บริโภค โดยขายสินค้า หรือเสนอแผนธุรกิจของบริษัทอื่นที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแทน

“สมาคมฯ พยายามระดมความคิดเห็นและทำงานอย่างเต็มที่ในการนำเสนอความคิดเห็น โดยคาดหวังว่าจะมีประโยชน์ต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจขายตรงให้ได้มาตรฐาน มีความถูกต้อง โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นกรอบให้ผู้ประกอบวิชาชีพขายตรงได้ปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนดของภาครัฐ ก่อนที่ สคบ.จะจัดให้มีการประชาพิจารณ์ในวันพฤหัสบดีที่ 19 มี.ค. ศกนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ณ โรงเรียมเอเชีย กรุงเทพฯ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการในขั้นตอนต่อไป เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจขายตรงมีความเกี่ยวข้องกับผู้จำหน่ายอิสระเป็นจำนวนมากกว่า 11 ล้านคน” นางภคพรรณกล่าว

ปัจจุบันธุรกิจขายตรงในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 300 ราย แต่มีผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องประมาณ 100 ราย และเป็นสมาชิกของสมาคมฯ 33 ราย สามารถทำยอดขายได้ประมาณ 70% ของมูลค่าตลาดรวมประมาณ 7 หมื่นล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5-10% ยกเว้นในช่วงปี 2557 ซึ่งถือว่าตลาดอยู่ในภาวะชะลอตัว

“ในปี 2558 คาดว่าตลาดจะกลับมาเติบโตขึ้นประมาณ 3-5% เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายด้าน ทั้งสถานการณ์การเมืองที่นิ่งสงบมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับคืน ตลอดจนราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และอื่นๆ จึงทำให้ภาพรวมด้านกำลังซื้อสินค้าทุกประเภทของผู้บริโภคในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาของปี 2558 เริ่มมีภาวะที่ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2557 อย่างเห็นได้ชัด” นางภคพรรณกล่าวในที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น