ศูนย์ข่าวขอนแก่น - DSI ตระเวนเดินสายเตือนภัย 4 ภูมิภาคป้องกันประชาชนตกเป็นเหยื่อธุรกิจแชร์ลูกโซ่ ประเดิมเวทีแรกภาคอีสานที่ขอนแก่น เผยมีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนดีเอสไอมากถึง 99 คดี เสียหายรวมกว่า 2 พันล้านบาท โดยเฉพาะชาวอีสานถูกหลอกสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 40 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
วันนี้ (5 ก.พ.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ขอนแก่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและสมาคมขายตรงไทย เดินสาย “แจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ 4 ภูมิภาค เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2558” นำร่องจังหวัดขอนแก่น โดยให้ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่ และสร้างเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น โดยมีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธานเปิดงาน
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของธุรกิจการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนผ่าน DSI อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2547-2558 มีคดีมากถึง 99 คดี สอบสวนแล้ว 70 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 29 คดี โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 2 พันล้านบาท โดยเฉพาะในภาคอีสานพบว่ามีผู้หลงเชื่อธุรกิจแชร์ลูกโซ่มากที่สุดในประเทศ คือร้อยละ 40 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับ “แชร์ลูกโซ่” คือการฉ้อโกงประชาชน มีรูปแบบหลอกลวงให้เหยื่อสมัครเป็นสมาชิก เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจที่คล้ายคลึงกับการทำธุรกิจแบบขายตรง แต่มีความแตกต่างกันตรงที่แชร์ลูกโซ่จะไม่เน้นการจำหน่ายสินค้า แต่จะใช้วิธีโน้มน้าวชักจูงให้เข้ามาร่วมลงทุน โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้น ต่อมาจะหยุดการจ่ายค่าตอบแทนปิดกิจการและนำเงินหนีไป ทำให้สมาชิกไม่ได้รับค่าตอบแทนและได้หุ้นส่วนคืน ซึ่งเกิดความเสียหายลุกลามใหญ่โตในเวลาอันรวดเร็ว
“การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นคดีความผิดทางอาญาตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547” นางสุวณากล่าว และว่า
จากความเสียหายของประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจแชร์ลูกโซ่ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบและมีการวางแผนที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ประชาชนจำเป็นต้องมีความรู้เท่าทันกลโกงของแชร์ลูกโซ่เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อต่อไป