น้องสาวผู้ถือหุ้นใหญ่ “แก๊งยูฟัน” ติดต่อมอบตัวเพิ่มอีกราย อ้างพี่สาวนำเอกสารส่วนตัวไปเปิดพอร์ตการลงทุนจริง แต่ไมเคยยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกรรม ด้านตำรวจเปิดตู้เซฟเพื่ออายัดทรัพย์ทั้งหมดไปตรวจสอบ
เมื่อเวลา 11.30 น. วันนี้ (18 เม.ย.) ที่ บก.ปคบ พล.ต.ท.ดร.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร.พร้อมด้วย พ.ต.อ.อังกูร คล้ายคลึง รอง ผบก.ปคบ. เป็นประธานประชุม คณะพนักงานสอบสวนคดียูฟัน เรื่องแนวทางการออกหมายจับแนวร่วมเพิ่มเติม โดยนอกจากการประชุมแล้วยังมี น.ส.หรรษา ธาราบัณฑิต อายุ 36 ปี หนึ่งในแม่ข่ายซึ่งเคยโอนเงินเข้าบริษัท ยูฟัน พร้อพเพอร์ตี้ กว่า 6 ล้านบาท น้องสาวของ น.ส.ณมนพรรณ์ ธาราบัณฑิต อายุ 41 ปี ผู้ต้องหาที่ถูกนำตัวส่งศาลฝากขังไปก่อนหน้านี้ก็ได้ติดต่อขอมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจอีกราย
น.ส.หรรษากล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัด ระหว่างทางกลับบ้านที่ จ.ปทุมธานี ทราบข่าวว่าตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกับพี่สาว และมีข่าวว่าตนหลบหนีไปแล้วซึ่งไม่เป็นความจริง ตนเพียงกลับไปเยี่ยมบ้านเท่านั้น ยอมรับว่าเคยส่งรูปบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านให้พี่สาวทางไลน์ ตอนที่ส่งเอกสารไปให้ ตนไม่ได้ถามว่าเอาไปทำอะไร แต่มาพูดคุยกันภายหลังพี่สาวบอกว่าเอาไปเปิดพอร์ตการลงทุนกับบริษัท ยูฟัน นอกจากนี้ก็มีการเปิดบัญชีให้พี่สาวอีก 1 บัญชี แต่พี่สาวเป็นคนดูแลทั้งหมด ตนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินใดๆ ไม่เคยเข้าไปทำงานที่บริษัทดังกล่าว ไม่รู้เรื่องระบบต่างๆของบริษัทเลย เพียงแต่พี่สาวเคยมาชักชวนให้เข้าไปทำ และเคยไปฟังบรรยาย 1 ครั้งแต่ก็ไม่ได้สนใจทำเพราะตนไม่ชอบอยู่แล้ว
น.ส.หรรษากล่าวอีกว่า เมื่อตกเป็นผู้ต้องหาจึงรีบมามอบตัวต่อตำรวจเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และหวังว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับตนได้ ปกติแล้วตนมีอาชีพสุจริต โดยเปิดร้านขายมือถือ นำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรับเหมาก่อสร้าง ยืนยันสามารถชี้แจงที่มาทางการเงินได้ทั้งหมดว่ามาจากที่ใดบ้าง เช่น เงินในบัญชีทีโอนเข้ามา 500,000 บาท สามีตนเป็นคนโอนเข้ามาให้เป็นเงินที่ได้มาจากการทำธุรกิจส่วนตัว
ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.ส่วนตรวจ 2 ดีเอสไอ กล่าวว่า ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่ได้รับคดีของบริษัท ยูฟัน เป็นคดีพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามดีเอสไอจะสนับสนุนข้อมูลทั้งหมดให้ตำรวจสืบสวนดำเนินการ ซึ่งเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำได้ดีอยู่แล้ว
พล.ต.ท.สุวิระกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำงานแบบบูรณาการโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.),กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), กรมสรรพากร, ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยดี สำหรับผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่ในต่างประเทศนั้น ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน อย่างไรก็ตาม ทาง ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศรับแจ้งความเกี่ยวกับคดีนี้ โดยให้ผู้เสียหายนำหลักฐาน หรือบันทึกหน้าจอของเว็บไซต์ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ได้มีการปิดเว็บไซต์ดังกล่าวเนื่องจากเกรงว่าทางบริษัทจะเป็นข้ออ้างในการไม่คืนเงินให้กับลูกข่าย
พล.ต.ท.สุวิระกล่าวว่า ในวันนี้หลังจากที่ น.ส.หรรษาเข้ามอบตัวแล้วจะมีการเปิดตู้เซฟที่ตรวจยึดได้จากบ้านย่านลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งภายในมีทรัพย์สินหลายรายการได้แก่ โฉนดที่ดิน ทองรูปพรรณ และอาวุธปืน หลังจากตรวจสอบเจ้าหน้าที่จะได้ทำการอายัดโฉนดที่ดินจำนวน 4 ฉบับ ทองคำ 10 บาท และรถยนต์ 2 คันของ น.ส.หรรษาไว้เพื่อตรวจสอบพร้อมทั้งจะทำการสอบปากคำ น.ส.หรรษาอย่างละเอียดอีกครั้ง
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 11.00 น. พ.ต.ท.ชัชวาลย์ พิมพ์ศรี พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ควบคุมตัว น.ส.ณมนพรรณ์ ธาราบัณฑิต อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3173 ซ.พหลโยธิน 69/1 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน มาขออำนาจศาลฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 18-29 เม.ย.นี้ เนื่องจากต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 30 ปาก และสอบปากคำผู้เสียอีกจำนวนมาก และรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้คัดค้านการประกันตัว
คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2558 เมื่อเวลา 13.10 น. ตำรวจ ปคบ.ได้ร่วมกันจับกุม น.ส.ณมนพรรณ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาข้อหา ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามความผิด พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12, 15 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เนื่องจากพฤติการณ์ที่บริษัท ยูฟันสโตร์ จำกัด กับพวกผู้ต้องหาไม่ได้จำหน่ายสินค้า 3 รายการ ตามที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนประกอบธุรกิจขายตรง ตาม พ.ร.บ.ขายตรง พ.ศ. 2545 แต่กลับเสนอขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ จำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “U-TOKEN” ซึ่งบริษัทกำหนดขึ้นเอง และไม่ใช่สินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ผู้ต้องหายังใช้กลยุทธ์มุ่งเน้นชักชวนบุคคลให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกผ่านทางเว็บไซต์เพื่อระดมทุนโดยการซื้อหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินหมุนเวียน 2 หมื่นล้านบาท การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ทั้งนี้ ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน น.ส.ณมนพรรณ์ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลพิจารณาคำร้องและสอบถามผู้ต้องหาแล้วไม่คัดค้านจึงอนุญาตให้ฝากขังได้ ขณะที่ญาติ น.ส.ณมนพรรณ์ ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 3 ล้านบาทเพื่อขอปล่อยชั่วคราว
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า เป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำเป็นขบวนการหลอกลวงประชาชนทั่วไป จนมีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก และมีการจับกุมผู้ต้องหาอื่นตามหมายจับของศาลได้บางส่วน และศาลไม่ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ส่วนผู้ต้องหาบางส่วนที่หลบหนีการจับกุมบางคนก็หลบหนีออกนอกประเทศ เมื่อรับฟังประกอบคำร้องขอฝากขัง กับพยานหลักฐานในชั้นที่ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาไว้แล้ว ปรากฏหลักฐานว่าผู้ต้องหานี้เป็นกรรมการบริษัทที่เกี่ยวพันกับบริษัท ยูฟันฯ โดยโอนเงินที่เชื่อได้ว่าเป็นเงินจากประชาชนที่ถูกหลอกลวงไปยังผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี และอาศัยเป็นจุดเริ่มต้นในการหลอกลวงประชาชน การกระทำของผู้ต้องหาจึงเชื่อมโยงกับการกระทำผิดของผู้ต้องหารายอื่น หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหานี้อาจหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงได้นำตัว น.ส.ณมนพรรณ์ไปควบคุมที่ทัณฑสถานหญิงกลาง บางเขนต่อไป