xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประสบการณ์ ‘3 สุดยอด SMEs’ รวยเงินล้านด้วย “ออนไลน์!”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคนี้การใช้อินเทอร์เน็ตในการทำธุรกิจมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยตัวอย่างแห่งความสำเร็จที่จะกล่าวถึงในครั้งนี้ คือ “3 สุดยอด SMEs” ที่ถือเป็นโมเดลของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นำสื่อออนไลน์มาใช้แล้วได้ผลสูงสุด ช่วยให้ธุรกิจของแต่ละท่านมียอดขายทะลุหลักร้อยล้านต่อปี

“เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” ขายอาหารทะเลออนไลน์ ยอดขาย 10 ล้านบาทต่อเดือน

จากที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงอาหารทะเล ทั้งงานประจำและธุรกิจของครอบครัว ทำให้ “สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ หรือคุณโอ๋” เกิดไอเดียนำปูม้าสดๆ มานึ่งพร้อมส่งขายในกรุงเทพฯ จากความคิดที่ว่าปูม้านึ่งสดในเมืองหลวงค่อนข้างหากินยาก รวมถึงราคาค่อนข้างสูง

ทว่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจลักษณะนี้เป็นที่รู้จัก เธอจึงเลือกใช้ช่องทางประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อออนไลน์ โดยใช้ "เฟซบุ๊ก" เป็นหน้าร้าน

คุณโอ๋เสริมว่า เริ่มใช้ช่องทางสังคมออนไลน์ในการขายอาหารทะเลเมื่อปี พ.ศ. 2555 ซึ่งในเวลานั้นยังไม่มีใครคิดทำธุรกิจลักษณะนี้เลย จนกลายเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกอาหารทะเลผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook) ก่อนจะขยายไปสู่สังคมออนไลน์ยอดฮิตอื่นๆ อย่าง “อินสตาแกรม” และ “ไลน์” ในเวลาต่อมา

“ก่อนหน้านี้เราพยายามค้นหากลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับแบรนด์ โดยใช้วิธีดั้งเดิมอย่างการแจกใบปลิวเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนักและมีต้นทุนการผลิตที่สูง เลยลองหันทำตลาดผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยการทำอาหารเมนูต่างๆ แล้วถ่ายรูปแล้วโพสต์บนเฟซบุ๊ก จากนั้นเกิดกระแสลูกค้าช่วยแชร์ต่ออย่างรวดเร็วมาก มีลูกค้าเริ่มสั่งอาหารเข้ามาเรื่อยๆ ยอดไลก์ก็เพิ่มแบบก้าวกระโดด ทำให้ได้ลูกค้าเข้ามาไม่ขาดสาย” ผู้บุกเบิกอาหารทะเลออนไลน์เล่าการทำตลาดเบื้องต้น
สุรีรัตน์ ศรีพรหมคำ   เจ้าของธุรกิจ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery”
เธอระบุว่า สิ่งสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์ของ “เจคิว ปูม้านึ่ง Delivery” มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1. การเพิ่มการรู้จักแบรนด์ 2. การเพิ่มยอดขายให้ได้สูงสุด และ 3. การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ในด้านการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักและขยายฐานลูกค้า

นอกจากนั้น อีกกลยุทธ์ที่ใช้แล้วได้ผลอย่างดียิ่ง คือ การทำกิจกรรมโปรโมชันกับลูกค้าในแฟนเพจ ช่วยทั้งสร้างสัมพันธ์และดึงดูดลูกค้า รวมถึงยังเป็นการขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนไปในตัวด้วย เช่น กิจกรรมแจกตุ๊กตาเฟอร์บี้ให้แก่ลูกค้าที่กดไลก์และแชร์ หรือแจกแพกเกจไปเที่ยวประเทศเกาหลี ซึ่งล้วนแต่ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย

ปัจจุบัน เจคิว ปูม้านึ่งฯ มียอดขายจากการค้าขายบนโลกออนไลน์ เมนูปูม้านึ่งประมาณ 200-300 กิโลกรัมต่อวัน สร้างยอดขายประมาณ 10 ล้านบาทต่อเดือน ฟังแล้วเป็นตัวเลขที่สูงมาก เชิญชวนให้มาทำตลาดผ่านออนไลน์ ทว่า เจ้าของธุรกิจไม่ลืมที่จะเตือนผู้สนใจจะทำตลาดผ่านช่องทางนี้ ต้องระวังเรื่องการรักษาชื่อเสียง เพราะในโลกออนไลน์สามารถจะทำให้ธุรกิจแจ้งเกิดหรือดับได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” สร้างชื่อกระหึ่มด้วยแชะ! และแชร์

“เจ๊กเม้ง” ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อเล็กๆ ใน จ.เพชรบุรี ได้รีแบรนด์จากร้านเก่าแก่ขายแค่ในท้องถิ่น มาสู่เจ้าดังประจำจังหวัด และสู่ระดับประเทศในปัจจุบัน ช่วยขยายตลาดเปิดกว้างรองรับลูกค้านักท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยสร้างชื่อผ่านการบอกต่อในโลกอินเทอร์เน็ต

ผู้ที่เข้ามาพลิกโฉมร้านก๋วยเตี๋ยว “เจ๊กเม้ง” คือ ธีรศานต์ สหัสสพาศน์ ซึ่งปัจจุบันนอกจากธุรกิจของตัวเองแล้ว ยังรับหน้าที่เป็นคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาด้วย

เวลานั้นเขามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น โดยจุดเริ่มต้น ร้าน “เจ๊กเม้ง” เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 โดยเจ้าของที่แท้จริงคือ “นายลิ่มเชียง แซ่ไหล” ซึ่งกำลังจะเลิกกิจการเพราะขาดคนดูแล แต่ครอบครัวของเขาเสียดายสูตรก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยเป็นที่ยอมรับ กับชื่อเสียงร้านที่สั่งสมมานาน จึงอาสาเข้ามาสานต่อกิจการ โดยมอบหมายให้เขาเป็นผู้พัฒนาร้านทั้งหมด

หลังเข้ามาดูแลร้าน จุดอ่อนแรกที่มองเห็นและต้องการเปลี่ยนทันที คือ เดิมลูกค้ามีเฉพาะขาประจำในพื้นที่รอบๆ ร้านซึ่งติดใจรสชาติ ยอดขายต่อวันเฉลี่ย 3-4 พันบาท ไม่สามารถจะเพิ่มได้มากกว่านี้เพราะจำนวนลูกค้ามีจำกัด ดังนั้น มุ่งปรับตำแหน่งจากร้านดังในท้องถิ่น ให้กลายเป็นร้านดังประจำจังหวัด เพื่อขยายหาลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่จะมาพักผ่อนที่ชะอำ หรือหัวหิน
ธีรศานต์ สหัสสพาศน์  ผู้ก่อตั้งก๋วยเตี๋ยวเจ๊กเม็ง และ  SOdA -PrintinG.com  ปัจจุบัน รับหน้าที่คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
สิ่งสำคัญได้นำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาเป็นสื่อในการโฆษณาร้าน โดยเครื่องมือที่ใช้เป็นเว็บของฟรีที่หาได้ในอินเทอร์เน็ตทั่วไป เช่น facebook และ youtube เป็นต้น โดยเทคนิคง่ายๆ จะถ่ายรูปอาหารเมนูต่างๆ แล้วโพสต์ขึ้นตามเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งทุกภาพจะแอบสอดแทรกโลโก้ร้านไว้ให้มากที่สุด ทั้งที่ภาชนะ หรือสิ่งของตกแต่งร้าน เพื่อให้ผู้พบเห็นคุ้นตา และเสาะหามาที่ร้านได้ รวมถึงทุกภาพจะถ่ายในมุมภาพเดิม สร้างการจดจำแก่ผู้พบเห็น และสร้างเอกลักษณ์ประจำตัว

ภาพที่โพสต์ขึ้นไป เมื่อลูกค้ามากินที่ร้านแล้วเกิดประทับใจ มักไปโพสต์ข้อความ ถ่ายรูป เล่าถึงความอร่อย และแนะนำบอกต่อให้เพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ของตัวเองมาลองชิมบ้าง ช่วยให้กิจการร้านเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้หน้าเว็บอยู่เสมอ เสริมความน่าเชื่อถือด้านความอร่อยมากกว่าทางร้านโพสต์เองฝ่ายเดียว

นอกจากนั้น ฐานข้อมูลลูกค้าขาประจำในโซเชียลเน็ตเวิร์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้ต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะมีทีมงานคอยดูแลตอบคำถามผ่านเว็บบอร์ด รวมถึง แจ้งข่าวสารให้สมาชิกรับทราบ เช่น ส่งข้อความบอกโปรโมชันพิเศษประจำเดือน หรือแจ้งเมนูใหม่เพื่อกระตุ้นให้แฟนคลับกลับมากินซ้ำ

ทั้งนี้ การนำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาสนับสนุนการตลาดมีข้อดีมากมาย ทั้งประหยัดเงิน สื่อสารถึงลูกค้าเป้าหมายได้โดยตรง และตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าอย่างดี เช่น การแจ้งข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ ต้องเหมาะสม ไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลูกค้าจนเกินไป

“ศรีจันทร์” พลิกแบรนด์ในตำนาน เปิดตลาดคนรุ่นใหม่ด้วยโซเชียลเน็ตเวิร์ก

แบรนด์เครื่องสำอางรุ่นเดอะ “ผงหอมศรีจันทร์” อยู่มากว่า 60 ปีที่แล้ว ที่ผ่านมามีสภาพแค่ประคองตัว จนเมื่อทายาทรุ่น 3 อย่าง “รวิศ หาญอุตสาหะ” เมื่อเข้ามารับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่คนใหม่ขององค์กรได้รีแบรนด์ให้ภาพของ “ผงหอมศรีจันทร์” จากเครื่องสำอางโบราณล้าสมัยมาสู่แบรนด์สำหรับคนรุ่นใหม่

การปรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ให้ขยายสู่กลุ่มคนวัยเด็กลง หรือเป็นแบรนด์เพื่อวัยรุ่นมากยิ่งขึ้น จากเดิมผงหอมศรีจันทร์ผู้ใช้จะเป็นสุภาพสตรีวัยตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป อยู่ตามต่างจังหวัด ทางภาคใต้และเหนือเป็นหลัก ให้ปรับมาสู่เครื่องสำอางของเด็กสาวในเมือง วัยตั้งแต่ 20 ปี ซึ่งใส่ใจสุขภาพโดยการใช้สมุนไพร

วิธีการปรับโฉมดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ปรับบรรจุภัณฑ์ให้เป็นตลับที่ดูสดใส ส่วนภายในยังเป็นสูตรแป้งแบบต้นตำรับดั้งเดิมที่ได้รับความเชื่อถืออยู่แล้ว นอกจากนั้น เสริมทางเลือกบรรจุภัณฑ์นานาประเภท เช่น แบบซอง แบบกระป๋องพลาสติก รวมถึงในเวลาต่อมาได้ปรับชื่อแบรนด์ให้กระชับขึ้นจาก “ผงหอมศรีจันทร์” เหลือแค่ “ศรีจันทร์”

พร้อมกันนั้น เดินหน้าทำตลาดในช่องทางใหม่ๆ และเมื่อกลุ่มเป้าหมายต้องการขยายไปสู่คนวัยน้อยลง จำเป็นต้องอาศัยสื่ออย่างออนไลน์ โดยมีทั้งทำหนังโฆษณา และอัดโปรโมชันต่างๆ สร้างกิจกรรมเพิ่มความสนใจให้สินค้า ทุกอย่างล้วนมีจุดประสงค์หลักให้ลูกค้าเป้าหมายจดจำแบรนด์ “ศรีจันทร์” ในภาพลักษณ์ใหม่ที่ทันสมัย
รวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผงหอมศรีจันทร์ จำกัด
ที่ผ่านมา คุณรวิศได้ให้ความสำคัญในการทำสื่อแห่งอนาคตนี้อย่างมาก ทั้งโปรโมตผ่านเว็บไซต์ และสังคมออนไลน์ต่างๆ มีทีมงานโดยเฉพาะแจ้งข่าวสารต่อเนื่อง โดยปีที่ผ่านมาอัดงบโฆษณาในสื่อออนไลน์มากถึง 25% ของงบประมาณทำตลาดทั้งหมด

ทั้งนี้ ปีแรกที่คุณรวิศเข้ามาบริหารงาน สร้างยอดขายให้บริษัท 30 ล้านบาท และตัวเลขเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 30-40% ปี 2556 ยอดขายได้ถึง 250 ล้านบาท และปี 2557 อยู่ที่ 300 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายต่อไปต้องการทำให้องค์กรเติบโตเป็นเอสเอ็มอีที่แข็งแกร่ง และภายใน 3 ปีข้างหน้ารายได้ถึง 500 ล้านบาทต่อปี และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในการนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปี 2563 เพื่อก้าวสู่องค์กรมืออาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งเท่านั้นของสุดยอด SMEs ทั้ง 3 คน สามารถพบตัวจริงเสียงจริงของพวกเขาได้ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี หัวข้อ “ส่องเทรนด์ทำธุรกิจออนไลน์ให้รุ่งในยุคดิจิทัล อีโคโนมี” ซึ่งทั้งสามจะมาเป็นวิทยากรเสวนา หัวข้อ “ต้นแบบเอสเอ็มอีสำเร็จได้ด้วยสื่อออนไลน์” เพื่อเล่าประสบการณ์ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจออนไลน์ @@@ลงทะเบียนร่วมงานได้ฟรีที่นี่@@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น