xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมวลชนไม่ใช่ "เหยื่อ" แยกแยะ-เข้าใจกันบ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความร้อนแรงของสถานการณ์บ้านเมืองอาจดูเบาบางลงไป เมื่อเทียบกับ“จุดเดือดต่ำ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ที่มักใส่อารมณ์ฉุนเฉียวเอากับนักข่าว
ตั้งแต่กรณี ฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการสามมิติ ไปจนถึงการผรุสวาทใส่สื่อมวลชนอื่นที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองด้วยข้อความว่า “โดยเฉพาะของผู้จัดการ เปิดอ่านดูไม่ได้สักหน้าหนึ่ง เป็นบ้ากันไปหรืออย่างไร เขียนอะไรไม่รู้กันทุกวัน จะเอาอะไรกันนักหนา เก่งนักหนา มาบริหารงานมา มาเป็นส.ส.เลย ไอ้ชัชวาลย์ ไอ้โสภณ”
เลยเป็นที่มาของการตอบโต้ผ่านเฟซบุ๊ก จาก โสภณ องค์การณ์ ตามมา แบบหยิกเจ็บเหน็บแรง ว่า
** "ท่านเรียกพวกผมว่า ไอ้ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนสนิทสนมกับผมมายาวนาน ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว ไม่เคยพบกัน ไม่เคยเดินเฉียดกันในระยะ 100 เมตร ผมรู้สึกเป็นเกียรติมาก ที่ท่านตาถึง มองว่าผมมีศักยภาพพอที่จะรับช่วงนายกฯ แทนท่าน
**แต่ถ้าจะให้ผมเป็นส.ส.ก่อน ผมไม่เอาครับ ผมชอบมาทางลัดแบบท่านนี่แหละ ถ้าให้ผมเป็นนายกฯ จริง ผมต้องมีอำนาจเหมือนท่านนะครับ ขอขอบพระคุณอย่างสูงในความกรุณา บอกผมล่วงหน้า 1 ชั่วโมงก็พอครับ เอ่อ ผมมีเงื่อนไขเดียว ผมต้องไว้ผมยาว นุ่งยีนส์ ใส่เสื้อลายสก็อตเหมือนเดิมนะครับ อย่าลืมนะครับ ผมรออยู่ "
อารมณ์ขันของ โสภณ คงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ขำไม่ออก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า สื่อสารมวลชนก็เพียงแค่ทำหน้าที่วิจารณ์ตามความจริง ส่วนผู้บริหารประเทศ ถ้าคิดว่าสื่อไหนบิดเบือน ข้อเท็จจริง ใส่ร้าย ก็ดำเนินการตามกฎหมาย
แต่ด้วยบุคลิกความเป็นทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เห็นทุกคนเป็นทหาร ชี้นิ้วสั่งซ้ายหันขวาหันได้ คงไม่ใช้ช่องทางกฎหมาย เพราะมีอำนาจพิเศษอยู่ในมือ ถึงขนาดเคยหลุดคำพูดว่า " ประหารชีวิตมั้ง ถามส่งเดชไปได้ ก็อย่าทำสิ ระวังหน่อยสิ มีวิจารณญาณหน่อย มีจรรยาหน่อย จรรยาบรรณสื่อน่ะ" แม้จะแก้เกี้ยวในตอนท้ายในเชิงล้อเล่นว่าเมื่อถูกถามเรื่องประหารชีวิตว่า "เครื่องประหารหัวสุนัข"
ยิ่งมาเกิดเหตุ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อารมณ์ขึ้นถึงขั้นบอกว่า “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” ผู้สื่อข่าวช่อง 7 ว่า “คุณไม่ใช่คนไทย”แล้วยังสั่งให้ทหารไปบ้านผู้สื่อข่าวที่ถามเรื่องกฎอัยการศึก โดยใช้คำว่า ชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ว่าเดือดร้อนจากการใช้กฎอัยการศึกยังไง
แม้บรรดาติ่งพล.อ.ประยุทธ์ จะออกโรงเชียร์พากันถล่ม “สมจิตต์”ว่าถามจิกนายกฯ สุดรักมากเกินไป แต่ภาพที่ออกมาก็ฟ้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใส่อารมณ์อยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่บรรยากาศ และการตั้งคำถามไม่มีประเด็นใดที่น่าจะทำให้เกิดอารมณ์โกรธเกรี้ยวถึงขนาดนั้น ในขณะที่ สมจิตต์ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างลุ่มลึก มองทะลุไปถึงการทำหน้าที่ระหว่างสื่อ กับนายกฯ ว่า
การสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้ได้คิดว่า ช่วงเวลานี้เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ท้าทายวิชาชีพสื่อสารมวลชนและผู้มีอำนาจ ว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีความสมดุล เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้มากน้อยแค่ไหน
**“ดิฉันไม่โกรธและไม่มีอคติกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อยากบอกตรงๆ ว่า ตลอดการทำข่าวกว่า 20 ปี ไม่เคยเศร้าและสะเทือนใจมากเท่านี้มาก่อน เพราะเพิ่งรู้ว่าตัวเอง“ไม่ใช่คนไทย”จากการตัดสินของ“คนเป็นผู้นำประเทศ”
มีอุดมการณ์ของสื่อมวลชนชั้นครูอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา เคยให้สติรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้นไว้ว่า
** “ถ้ารัฐบาลไม่ชอบให้ใครพูดถึงรัฐบาลในสิ่งที่ไม่ดี รัฐบาลก็จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้น รัฐบาลต้องแก้การกระทำของรัฐบาล ไม่ใช่มาเรียกร้องให้เราแก้การเขียนหนังสือของเราที่เขียนตามความเป็นจริง”
หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนวิธีคิดที่ชอบ“ปรับทัศนคติ”คนอื่นมาเป็น เปิดใจรับฟัง“แลกเปลี่ยนทัศนคติ”เสียบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และยังเป็นการใช้สื่อมวลชนได้อย่างเต็มที่ด้วย โดยสามารถนำข้อเสนอ หรือความคิดที่เป็นประโยชน์ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารประเทศได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิด“สมดุล”ระหว่างสื่อมวลชนกับผู้มีอำนาจ ในการร่วมแก้ปัญหาชาติยามวิกฤตเช่นนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ควรดูการตัดสินใจของ“สมจิตต์”เป็นตัวอย่าง เพราะเมื่อเกิดเหตุ ก็มีคนพยายามขยายผล โดย "จอม เพชรประดับ" สื่อรับใช้ทักษิณ ถึงขนาดโทรศัพท์มาจากต่างประเทศ เพื่อขอสัมภาษณ์ หวังเสี้ยมให้ด่าว่าเป็นเผด็จการที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่เธอก็ปฏิเสธทันที พร้อมกับวาทะที่ จอม คงสะดุ้งในใจว่า “ไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะเป็นสื่อ ไม่ได้เป็นเหยื่อ”
**การแยกแยะมิตร ศัตรู เป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งอยู่สูง ต้องยิ่งมองกว้าง อย่ามองเห็นอะไรแค่มิติเดียว หรือมองเฉพาะในสิ่งที่อยากเห็น เพราะเป็นการปิดโอกาสตัวเอง และยังกัดกร่อนภาวะผู้นำไปเรื่อยๆ โดยไม่ทันรู้ตัวด้วย

----------------------

โปรย--

หากพล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนวิธีคิดที่ชอบ“ปรับทัศนคติ”คนอื่น มาเป็นเปิดใจรับฟัง “แลกเปลี่ยนทัศนคติ”เสียบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และยังเป็นการใช้สื่อมวลชนได้อย่างเต็มที่ด้วย โดยสามารถนำข้อเสนอหรือความคิดที่เป็นประโยชน์ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารประเทศได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิด“สมดุล”ระหว่างสื่อมวลชนกับผู้มีอำนาจ ในการร่วมแก้ปัญหาชาติยามวิกฤตเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น