xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊สมจิตต์” ชี้ทางปฏิรูปสื่อ ให้หลุดจาก “กับดักเป็นกลาง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

วันนักข่าว 5 มี.ค.นี้ เป็นโอกาสเหมาะที่ควรนำทัศนะ มุมมอง แนวคิดของคนข่าวมืออาชีพที่มีความหวังดี ต้องการให้วงการสื่อมวลชนไทยกลับมาทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของตนเสียใหม่ เพื่อสื่อจะได้เป็นกลไกที่ดีมีประสิทธิภาพของสังคม ทำหน้าที่เพื่อสังคมไม่ใช่สร้างปัญหาเช่นหลายปีที่ผ่านมา สื่อผิดเพี้ยนไปมาก และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาบ้านเมือง จึงควรเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปในจังหวะเช่นกัน

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นเล็กๆ แต่แหลมคมและท้าทายวงการสื่อสารมวลชนอย่างยิ่ง จากการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง “มานิจ สุขสมจิตร” สื่อมวลชนอาวุโสที่คนในวงการให้ความเคารพ รวมไปถึงการฝากความหวังไว้กับสื่อมวลชนที่ยังรักษาจรรยาวิชาชีพไว้ได้โดยไม่ตกเป็นทาสทุน

สมจิตต์ นวเครือสุนทร นักข่าวภาคสนามที่มีความชัดเจนทั้งการตั้งคำถามและการแสดงความเห็นต่อทิศทางบ้านเมืองอย่างตรงไปตรงมาโดยตลอด พยายามที่จะกระตุ้นเพื่อนร่วมวิชาชีพให้หันมามองตัวเองว่า “สื่อมวลชนในภาวะไม่ปกติควรจะมีบทบาทอย่างไร” ระหว่าง “การเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ความล่มจม” หรือจะเป็น “แนวรบให้ชาติเพื่อคืนความเป็นปกติให้กับสังคม”

แต่น่าเสียดายที่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก แม้แต่ มานิจ สุขสมจิตร ก็มิได้มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อการเสนอมุมมองต่อปัญหาบ้านเมืองที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสภาปฏิรูปแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจตีความได้ว่า “พอเป็นเรื่องสื่อ” คือเรื่องของตัวเอง พวกเราที่เรียกตัวเองว่า “ฐานันดรสี่” เลือกที่จะปกป้องแทนที่จะทบทวน

ด้วยแนวคิดเช่นนี้บ้านเมืองย่อมไม่มีทางปฏิรูปได้ เพราะเท่ากับว่าทุกวงการเป็นเหมือนกันหมด คือไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมที่ไม่ดีและไม่ยอมรับความบกพร่องหรือแม้แต่การตรวจสอบ โดยอ้างคำว่า “เสรีภาพ” อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้ “เสรีภาพ” นั้นเพื่อประชาชน

เนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวมองถึงปัญหาบ้านเมืองได้ค่อนข้างดี เพราะการจะเอาชนะระบอบทักษิณไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบ เพราะมีบทพิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากอาวุธร้ายที่สุดของระบอบทักษิณคือ “ธุรกิจสื่อ” ที่เป็นขุนพลคอยฝังรากความคิดที่ผิดปกติในสังคม จนเรื่องผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แนวรบสำคัญในสงครามนี้จึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ยังมีใจรักและห่วงใยบ้านเมืองโดยแท้

สมจิตต์เริ่มจดหมายของเธอในชื่อเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางข้อมูล กำลังทำให้คนไทยฆ่ากัน โดยเริ่มเนื้อหาด้วยการกราบขอโทษประชาชนทุกคนในฐานะที่เป็นสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นในแวดวงสื่อสารมวลชนขณะนี้ จนทำให้เสรีภาพของสื่อบางค่ายกลายเป็นเครื่องมือโกหกประชาชน ทำร้ายประเทศชาติ”

เธอพยายามชี้ให้เห็นว่า วิกฤตบ้านเมืองที่สำคัญยิ่งคือ “ความเหลื่อมล้ำทางข้อมูลกำลังจะทำให้คนไทยฆ่ากัน” แต่กลับเป็นเรื่องที่ไม่เคยถูกหยิบยกมาพิจารณาอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ จนคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติกลายเป็นคนกำหนดเกมผ่านธุรกิจสื่อในเครือ สร้างชุดความเท็จเพื่อประโยชน์ของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงจรรยาวิชาชีพ ชี้นำให้สังคมเข้าใจผิดว่า “คนไทยแตกแยกเพราะมีความเห็นที่แตกต่างกัน” ทั้งที่แท้จริงแล้วปัญหาไม่ใช่เรื่อง “ความเห็น” แต่เป็น “ความจริง” ที่ถูก “บิดเบือน” จึงเสนอให้ “มานิจ สุขสมจิตร” ซึ่งเธอคงคาดหวังว่าเป็นสื่อมวลชนอาวุโสที่ควรค่าแก่การเคารพจะได้นำประเด็นเหล่านี้ไปไตร่ตรองและเป็นเจ้าภาพเชิญสื่อมวลชนที่รักชาติมานั่งคุยกันให้ตกผลึกว่า บทบาทสื่อในสถานการณ์ที่มีสื่อมีบิดเบือนและคำโกหกอยู่ตลอดเวลา ควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้สังคมเกิดความสับสนระหว่าง “ความจริง” กับ “ความเท็จ”

เธอเสนอประเด็นที่สื่อมวลชนสามารถทำได้ทันทีเริ่มจากการทบทวนหลักคิดที่เคยใช้ได้ในยามปกติว่ายังคงใช้ได้ในวิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้ได้หรือไม่ หรือว่ากับดักความเป็นกลางทำให้ “สื่อ” กลายเป็นทั้งเหยื่อและเครื่องมือเผยแพร่ชุดข้อมูลเท็จและการสร้างค่านิยมที่ไม่ถูกต้องต่อสังคมโดยไม่รู้ตัว เธอเขียนทิ้งท้ายไว้อย่างทำใจล่วงหน้าว่า “จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้อาจไม่มีความหมายสำหรับใครๆ เลย แต่อย่างน้อยก็ตอบตัวเองได้ว่า “ได้พยายามทำอย่างเต็มที่แล้วในหน้าที่สื่อสารมวลชน”

ดังคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุที่ว่า “ถ้าอยู่ในฐานะที่หลีกทางให้ไม่ได้จริงๆ ก็จงยินดีเผชิญหน้ากับทุกสิ่ง...ที่ประดังกันเข้ามา และ 3 ข้อเสนอด้านล่างคือประเด็นที่เธอเลือกจะพุ่งชนเพราะเชื่อว่าอยู่ในฐานะที่หลีกทางให้ไม่ได้

1) หลุดพ้นจากกับดักความเป็นกลาง

เรามักยึดถือเป็นแนวปฏิบัติกันมาโดยตลอดว่าต้องเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เราไม่เคยพิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาในปัจจุบันที่อยู่ท่ามกลางสงครามระหว่าง “ความเท็จ” กับ “ความจริง” โดยคิดว่าความเป็นกลางคือการให้พื้นที่สองฝ่ายเท่ากัน ซึ่งใช้ได้ในสถานการณ์ปกติ

แต่ในสภาพที่มีการสร้างชุดความเท็จมาครอบความจริงอยู่ตลอดเวลา เป็นเรื่องที่ “สื่อมวลชน” ควรจะได้ทบทวนว่า เราจะให้พื้นที่ “ความเท็จ” เท่ากับ “ความจริง” หรือนำเสนอความจริงเพื่อหักล้าง “ความเท็จ” ที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการเติมเต็มข้อมูลที่ถูกต้องให้ประชาชน ไม่ให้เกิดความสับสนจนลุกลามกลายเป็นความแตกแยก

2) ลดการเสนอความเห็นมุ่งเน้นที่การเสนอความจริง

จะเห็นได้ว่าเนื้อข่าวในแต่ละวันเต็มไปด้วยความเห็นแต่แทบจะไม่มีการแสวงหาความจริงเพื่อมานำเสนอต่อประชาชน ที่แย่ไปกว่านั้นคือความเห็นที่เป็น “ขยะ” ก็ไม่เคยถูกแยกออกจาก “ข่าว” ทั้งๆ ที่เรามีหน้าที่เป็นคนปิดเปิดประตูข่าวสาร การปล่อยให้ขยะปนกับข่าวออกไปสู่สายตาประชาชนทุกวัน คือการให้ยาพิษที่อันตรายยิ่ง เพราะทำให้คนไทยแยกไม่ออกระหว่าง “ความเท็จ” กับ “ความจริง

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม คือ กรณีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ผู้ถูกถอดถอนบิดเบือนว่ากระบวนการตรวจสอบผิดปกติ สร้างความเข้าใจผิดให้ประชาชนหลงเชื่อว่า “การถอดถอนทำได้เฉพาะคนที่อยู่ในตำแหน่งแล้วเท่านั้น” ซึ่งเป็นความเท็จ แต่สื่อมวลชนทุกแขนงกลับช่วยขยายผลนำเสนอความเห็นเท็จเหล่านั้น แทนที่จะให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชน

เช่น ถ้าจะเสนอความเห็นที่บิดเบี้ยวดังกล่าว ก็ต้องมีการให้ความรู้ต่อท้ายด้วยว่า “อย่างไรก็ตาม การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นตำแหน่งไปแล้วเป็นเรื่องปกติตามกระบวนการทางกฎหมาย เพราะยังมีการลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี รวมอยู่ด้วย โดยที่ผ่านมาก็ดำเนินการเช่นนี้มาโดยตลอด กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด”

3) ให้ความสำคัญกับบทบรรณาธิการที่เป็นจุดยืนของหนังสือพิมพ์

บทบรรณาธิการคือทิศทางของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ แต่คนอ่านน้อยมาก เพราะถูกไปซุกอยู่ในมุมมืดที่ไม่เตะตาประชาชน ถ้าเพียงแค่เปลี่ยนพื้นที่บทบรรณาธิการให้มาอยู่หน้า 3 ประชาชนก็จะได้อ่านบทบรรณาธิการที่หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่เขียนด้วยหลักการและเหตุผล ยกตัวอย่าง เช่น นสพ.ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่ง บทบรรณาธิการแสดงให้เห็นความเป็นสื่อที่แท้จริง แต่พื้นที่หน้า 3 ซึ่งคนอ่านมากกว่าถูกใช้ไปเพื่ออะไรผู้ที่ติดตามข่าวสารย่อมทราบดี

เธอยังหยิบยกเอาการแสดงจุดยืนของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา สื่อมวลชนที่ยึดมั่นในวิชาชีพโดยไม่เกรงกลัวต่อผู้มีอำนาจ พร้อมอุทิศชีวิตเพื่อรักษาความถูกต้องที่เคยระบุไว้ว่า

“ในเวลาสงบ ท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตะวัน ใครๆ ก็แลเห็นว่าเรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้า ฟ้าคนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปในอากาศ ไม่เห็นตัวกัน ต่อพายุสงบ ฟ้าสว่าง ใครๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าเรายืนอยู่ที่เดิมและจักอยู่ที่นั่น”

ท่ามกลางพายุที่กำลังถาโถมเข้าใส่ประเทศไทยในขณะนี้ เราในฐานะสื่อมวลชน “จะพัดปลิวไปตามพายุ กลายเป็นแค่ฝุ่นละอองคละคลุ้งทำให้สายตาประชาชนพร่ามัวจนมืดบอด กระจัดกระจายแยกส่วนออกไป จนแม้แต่ตัวเองอาจไม่รู้ว่ากำลังอยู่ที่ใด อย่างนั้นหรือ”

คำถามจากสมจิตต์....จะมีใครกล้าออกมาตอบไหม?
กำลังโหลดความคิดเห็น