รายงานการเมือง
ความร้อนแรงของสถานการณ์บ้านเมืองอาจดูเบาบางลงไป เมื่อเทียบกับ “จุดเดือดต่ำ” ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ที่มักใส่อารมณ์ฉุนเฉียวเอากับนักข่าว
ตั้งแต่กรณี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าวรายการ 3 มิติ ไปจนถึงการผรุสวาทใส่สื่อมวลชนอื่นที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองด้วยข้อความว่า “โดยเฉพาะของผู้จัดการ เปิดอ่านดูไม่ได้สักหน้าหนึ่ง เป็นบ้ากันไปหรืออย่างไร เขียนอะไรไม่รู้กันทุกวัน จะเอาอะไรกันนักหนา เก่งนักหนา มาบริหารงานมา มาเป็น ส.ส.เลย ไอ้ชัชวาลย์ ไอ้โสภณ”
เลยเป็นที่มาของการตอบโต้ผ่านเฟซบุ๊กจาก “โสภณ องค์การณ์” ตามมา แบบหยิกเจ็บเหน็บแรงว่า “ท่านเรียกพวกผมว่า ไอ้ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนสนิทสนมกับผมมายาวนาน ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัว ไม่เคยพบกัน ไม่เคยเดินเฉียดกันในระยะ 100 เมตร ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ท่านตาถึง มองว่าผมมีศักยภาพพอที่จะรับช่วงนายกฯ แทนท่าน
แต่ถ้าจะให้ผมเป็น ส.ส.ก่อน ผมไม่เอาครับ ผมชอบมาทางลัดแบบท่านนี่แหละ ถ้าให้ผมเป็นนายกฯ จริง ผมต้องมีอำนาจเหมือนท่านนะครับ ขอขอบพระคุณอย่างสูงในความกรุณา บอกผมล่วงหน้า 1 ชั่วโมงก็พอครับ เอ่อ ผมมีเงื่อนไขเดียว ผมต้องไว้ผมยาว นุ่งยีนส์ ใส่เสื้อลายสกอตเหมือนเดิมนะครับ อย่าลืมนะครับ ผมรออยู่
อารมณ์ขันของ โสภณ คงทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ขำไม่ออก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าสื่อสารมวลชนก็เพียงแค่ทำหน้าที่วิจารณ์ตามความจริง ส่วนผู้บริหารประเทศถ้าคิดว่าสื่อไหนบิดเบือน ข้อเท็จจริง ใส่ร้าย ก็ดำเนินการตามกฎหมาย
แต่ด้วยบุคลิกความเป็นทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เห็นทุกคนเป็นทหารชี้นิ้วสั่งซ้ายหันขวาหันได้ คงไม่ใช้ช่องทางกฎหมายเพราะมีอำนาจพิเศษอยู่ในมือ ถึงขนาดเคยหลุดคำพูดว่า “ประหารชีวิตมั้ง ถามส่งเดชไปได้ ก็อย่าทำสิ ระวังหน่อยสิ มีวิจารณญาณหน่อย มีจรรยาหน่อย จรรยาบรรณสื่อน่ะ” แม้จะแก้เกี้ยวในตอนท้ายในเชิงล้อเล่นว่าเมื่อถูกถามเรื่องประหารชีวิตว่า “เครื่องประหารหัวสุนัข”
ยิ่งมาเกิดเหตุเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อารมณ์ขึ้นถึงขั้นบอกว่า “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” ผู้สื่อข่าวช่อง 7 ว่า “คุณไม่ใช่คนไทย” แล้วยังสั่งให้ทหารไปบ้านผู้สื่อข่าวที่ถามเรื่องกฎอัยการศึก โดยใช้คำว่า ชายหนึ่งหญิงหนึ่ง ว่าเดือดร้อนจากการใช้กฎอัยการศึกยังไง
แม้บรรดาติ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จะออกโรงเชียร์พากันถล่ม “สมจิตต์” ว่าถามจิกนายกฯ สุดรักมากเกินไป แต่ภาพที่ออกมาก็ฟ้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใส่อารมณ์อยู่ฝ่ายเดียว ในขณะที่บรรยากาศและการตั้งคำถามไม่มีประเด็นใดที่น่าจะทำให้เกิดอารมณ์โกรธเกรี้ยวถึงขนาดนั้น ในขณะที่ สมจิตต์ โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างลุ่มลึก มองทะลุไปถึงการทำหน้าที่ระหว่างสื่อกับนายกฯ ว่า
การสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้ได้คิดว่า ช่วงเวลานี้เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่ท้าทายวิชาชีพสื่อสารมวลชน และผู้มีอำนาจว่าจะทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม มีความสมดุล เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้มากน้อย แค่ไหน
“ดิฉันไม่โกรธและไม่มีอคติกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อยากบอกตรงๆ ว่า ตลอดการทำข่าวกว่า 20 ปี ไม่เคยเศร้าและสะเทือนใจมากเท่านี้มาก่อน เพราะเพิ่งรู้ว่าตัวเอง “ไม่ใช่คนไทย” จากการตัดสินของ “คนเป็นผู้นำประเทศ”
มีอุดมการณ์ของสื่อมวลชนชั้นครูอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือศรีบูรพา เคยให้สติรัฐบาลเผด็จการทหารในขณะนั้นไว้ว่า
“ถ้ารัฐบาลไม่ชอบให้ใครพูดถึงรัฐบาลในสิ่งที่ไม่ดี รัฐบาลก็จะต้องไม่ทำในสิ่งนั้น รัฐบาลต้องแก้การกระทำของรัฐบาล ไม่ใช่มาเรียกร้องให้เราแก้การเขียนหนังสือของเราที่เขียนตามความเป็นจริง”
หาก พล.อ.ประยุทธ์ จะเปลี่ยนวิธีคิดที่ชอบ “ปรับทัศนคติ” คนอื่นมาเป็น เปิดใจรับฟัง “แลกเปลี่ยนทัศนคติ” เสียบ้างก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเอง และยังเป็นการใช้สื่อมวลชนได้อย่างเต็มที่ด้วย โดยสามารถนำข้อเสนอหรือความคิดที่เป็นประโยชน์ไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารประเทศได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิด “สมดุล” ระหว่างสื่อมวลชนกับผู้มีอำนาจ ในการร่วมแก้ปัญหาชาติยามวิกฤตเช่นนี้
พล.อ.ประยุทธ์ควรดูการตัดสินใจของ “สมจิตต์” เป็นตัวอย่าง เพราะเมื่อเกิดเหตุก็มีคนพยายามขยายผล โดย จอม เพชรประดับ สื่อรับใช้ทักษิณถึงขนาดโทรศัพท์มาจากต่างประเทศเพื่อขอสัมภาษณ์หวังเสี้ยมให้ด่าว่าเป็นเผด็จการที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่เธอก็ปฏิเสธทันทีพร้อมกับวาทะที่ จอม คงสะดุ้งในใจว่า “ไม่ให้สัมภาษณ์เพราะเป็นสื่อไม่ได้เป็นเหยื่อ”
การแยกแยะมิตร ศัตรู เป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งอยู่สูงต้องยิ่งมองกว้าง อย่ามองเห็นอะไรแค่มิติเดียว หรือมองเฉพาะในสิ่งที่อยากเห็น เพราะเป็นการปิดโอกาสตัวเองและยังกัดกร่อนภาวะผู้นำไปเรื่อยๆ โดยไม่ทันรู้ตัวด้วย