ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลพม่าจะใช้ระบบการให้สัมปทานเข้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ถึงวันนี้ความคิดของผู้นำประเทศพม่าที่คนไทยมองว่าล้าหลังกว่ามาโดยตลอดนั้น ก้าวล้ำ หน้า ไปกว่าไทยแล้ว โดยล่าสุดรัฐบาลพม่าตัดสินใจใช้ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือ Production Sharing Contracts (PSCs) ในการให้บริษัทลงทุนจากต่างประเทศสำรวจหาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเบงกอล
ตามความตกลง PSCs 4 ฉบับ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลพม่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนกับหุ้นส่วนต่างประเทศ และร่วมเป็นเจ้าของน้ำมันดิบและก๊าซ ธรรมชาติที่ผลิตได้ รวมทั้งร่วมแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนด้วย
หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ ของทางการพม่า รายงานเรื่องนี้โดยอ้างเจ้าหน้าที่ในรัฐระไค ว่าภายใต้สัญญา PSCs รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้เซ็นความตกลงกับบริษัทบีจีเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น เมียนมาร์ (BG Exploration & Production Myanmar) สำหรับการสำรวจแปลง A-4
สำหรับแปลงที่สอง รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซฯ ของพม่า เซ็นสัญญากับบริษัทวูดไซด์ เอนเนอร์จี (Woodside Energy Myanmar) และเมียนมาร์ปิโตรเลียม เอ็กพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น (Myanmar Petroleum Exploration & Production Co Ltd) ในการสำรวจแปลง AD-2
นอกจากนั้น MOGE ยังเซ็นความตกลง PSCs อีก 2 ฉบับ เพื่อสำรวจแปลง A-7 กับวูดไซด์ เอนเนอร์จีฯ และแปลง AD-5 กับ บีจีเอ็กซ์พลอเรชั่นฯ และ เมียนมาร์ปิโตรเลียมฯ รายเดียวกัน ซึ่งแปลงสำรวจทั้งหมดอยู่ในเขตรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) ทางภาคตะวันตกของประเทศ
สำหรับบริษัทบีจีเอ็กซ์พลอเรชั่นฯ เมียนมาร์ เป็นบริษัทลูกของ British Gas Group แห่งประเทศอังกฤษ และจดทะเบียนในสิงคโปร์ ส่วน บริษัทวูดไซด์ เอนเนอร์จี (เมียนมาร์) จดทะเบียนในสิงคโปร์ เช่นกัน โดยเป็นบริษัทลูกของวูดไซด์เอ็นเนอร์จี แห่งออสเตรเลีย
ทันทีที่มีการเซ็นความตกลงทั้ง 4 ฉบับ รัฐบาลพม่าได้รับเงินโบนัสเป็นค่าเซ็นสัญญา (Signature Bonus) รวมเป็นเงิน 82.4 ล้านดอลลารน์ กับอีก 3.7 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าข้อมูลต่างๆ หรือ Data Fee จากบริษัทคู่สัญญา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในทางปฏิบัติในการเซ็นความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซ
แปลงสำรวจ 2 แปลงแรกที่รัฐวิสาหกิจน้ำมันฯ ของพม่าเซ็นสัญญากันกับบริษัทต่างชาตินั้น อยู่ในเขตน้ำตื้นไหล่ทวีป โดยมีกำหนดระยะเวลาการศึกษาและตรวจตรา (Observation) ทั่วไปจะใช้เวลา 1 ปี และ 6 ปี สำหรับการเจาะสำรวจ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 545.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 2 แปลงหลังอยู่ในเขตน้ำลึก ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปี ในขั้นตอน Observation กับ 6 ปี สำหรับการสำรวจ หนังสือพิมพ์ของทางการพม่ารายงาน โดยไม่ได้ให้มูลค่าการลงทุนสำหรับ 2 แปลงหลัง
การเซ็นสัญญาแบบร่วมผลิตเป็นที่นิยมใช้กันในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และถึงแม้ว่าทั้งสัญญาแบบ PSCs และสัญญาแบบให้สัมปทานแก่ต่างชาติ จะนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาเช่นเดียวกันก็ตาม แต่สัญญาแบบร่วมผลิตจะทำให้เจ้าของประเทศได้เป็นเจ้าของทรัพยากรที่ค้นพบ และได้ส่วนแบ่งเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งยังได้ทั้งค่าภาคหลวง กับรายได้จากการจัดเก็บภาษีอีกด้วย ต่างไปจากระบบสัมปทานที่บริษัทผู้ลงทุนเป็นเจ้าของปิโตรเลียม ส่วนเจ้าของประเทศจะได้รับประโยชน์เฉพาะค่าภาคหลวงกับภาษี แต่ข้อดีก็คือ ไม่ต้องร่วมแบกรับความเสี่ยงใดๆ ในการลงทุน
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสัญญาที่รัฐบาลพม่าทำกับบริษัทต่างชาติในคราวนี้ แตกต่างไปไปจากหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปสำรวจและผลิตพลังงานในพม่าจะเป็นการให้สัมปทานเกือบทั้งหมด
การทำความตกลงแบบ PSC หรือ PSCs ในครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความมั่นใจในความรุ่มรวยทางด้านทรัพยากรปิโตรเลียม รวมทั้งความพร้อมในด้านการลงทุนของรัฐบาลพม่า เนื่องจากที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า แหล่งเบงกอลรุ่มรวยด้วยปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อน หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ได้รายงานเกี่ยวกับปริมาณสำรองมหาศาลในแหล่งนี้
นอกจากนั้น ก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลที่พม่าขายให้แก่จีน โดยส่งผ่านระบบท่อ ข้ามภาคเหนือเข้าสู่มณฑลหยุนหนัน หรือยูนนานนั้น ก็ผลิตจากแหล่งเบงกอลในรัฐระไคทั้งสิ้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี 2557 รัฐบาลพม่าได้ให้สัมปทานแปลงสำรวจ จำนวน 30 แปลง ให้แก่บริษัทข้ามชาติ ซึ่งรวมทั้งเชฟรอน กับโคโนโคฟิลลิปป์ จากสหรัฐฯ โตตาลจากฝรั่งเศส บีจีจากอังกฤษ และบริษัทน้ำมันสแตทออยล์ จากนอร์เวย์ด้วย ทั้งหมดเป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่ง และล้วนอยู่ในเขตน้ำลึก ซึ่งการสำรวจต้องใช้เทคโนโลยีสูง และลงทุนอย่างสูง บริษัทผู้ลงทุนได้รับสิทธิให้ถือหุ้นถึง 100% หรือมี MOGE ร่วมถือหุ้นส่วนน้อยอยู่ด้วย
หันมามองประเทศไทย หลังจากที่ผ่านการถกเถียง เคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงของภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้สัมปทานและต้องการให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปก่อน
การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการนำระบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้กับระบบสัมปทาน ส่งผลให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2558 ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปไม่มีกำหนดเพื่อศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมมาศึกษารายละเอียด และตัดสินใจว่าให้ไปแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าเปิดให้ต่างชาติเข้ามาสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมต่อไป โดยช่วงเวลานี้จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน และไม่ใช่แต่แก้กฎหมายอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีขั้นตอนของการดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ต้องทำ และเรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไหร่ ก็ทำเมื่อนั้น
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงาน กำหนดคร่าวๆ ว่า กระบวนการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ครั้งที่ 6 จะทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากที่มีมติครม.ออกมา โดยหลักการแก้ไข พ.ร.บ.เบื้องต้น นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ระบุว่า จะปรับปรุงเงื่อนไขระบบการแบ่งปันผลผลิต (PSC) เพิ่มเติม ซึ่งหลังจากการแก้ไข พ.ร.บ.เสร็จสิ้น จะออกประกาศให้เอกชนสามารถเข้าร่วมยื่นสำรวจและผลิตภายใน 120 วัน และคาดว่าจะเริ่มพิจารณาเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ได้ไม่เกินช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค. 2558
ขณะที่ข้อเรียกร้องของภาคประชาชน นอกจากจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 แล้ว ยังต้องแก้พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ก่อนที่จะเปิดให้นักลงทุนเข้ามาสำรวจขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เขียนเปรียบเทียบระบบสัมปทานปิโตรเลียมกับระบบแบ่งปันผลผลิต เอาไว้อย่างย่นย่อว่า ระบบสัมปทานเป็นรูปแบบที่ให้สิทธิเอกชนเข้ามาสำรวจและผลิตในแผ่นดินและผืนน้ำของเรา และเมื่อพบแล้วเอกชนผู้ขุดเจาะก็จะมีสิทธิในผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดที่ผลิตได้ ซึ่งหากประเทศเราจะนำมาใช้ในประเทศ เราก็ต้องไปซื้อมาในราคาตลาดโลก หรืออ้างอิงตลาดโลกตามที่ตกลงกัน ส่วนรัฐก็จะได้ส่วนแบ่งค่าภาคหลวงและภาษีเป็นการตอบแทน
ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตนั้น เมื่อมีการผลิตปิโตรเลียมได้ก็จะแบ่งผลผลิตดังกล่าวตามสัดส่วนที่ตกลงกัน ผลผลิตส่วนหนึ่งก็จะเป็นของประเทศ ซึ่งอาจจะนำไปขายในราคาใดก็ได้ แล้วแต่การบริหารจัดการของประเทศนั้น ส่วนเอกชนก็นำส่วนแบ่งที่ได้ไปขายให้กับใครก็ได้แล้วแต่จะตัดสินใจเช่นกัน
สำหรับการเปิดให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาทางเลือกในการจัดการปิโตรเลียมของประเทศ ทั้งระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบสัมปทานในเวลานี้ เสมือนว่าพร้อมจะใช้ทั้งสองทางเลือก จะเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของรัฐต่อผู้ลงทุน แทนที่จะตัดสินใจเลือกใช้เพียงระบบสัมปทานเท่านั้น เป็นการสร้างทางเลือกเชิงนโยบายที่นับเป็นความชาญฉลาดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์
แน่นอนการดำเนินนโยบายเช่นนี้ คงไม่เป็นที่สบอารมณ์ของบรรดาเทคโนแครตด้านพลังงาน และนอมินีทุนพลังงานสักเท่าใดนัก แต่ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ เพียงชำเลืองดูพม่าที่นับว่ากล้าหาญชาญชัย กล้าต่อรองกับบริษัทพลังงานข้ามชาติ นาทีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นไหวอะไรอีกแล้ว