xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ให้สัมปทานอีกแล้ว พม่าเซ็น 4 แปลงล่าสุดสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซ สัญญา PSCs ร่วมผลิตล้วนๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#00003>แผนภูมิที่ทำขึ้นใหม่ แสดงระบบท่อน้ำมันดิบและท่อก๊าซพม่า-จีน แต่รูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ แสดงแปลงสำรวจในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล ในเขตเบงกองของพม่านั้น จัดทำขึ้นเพื่อแสดงอาณาบริเวณโดยสังเขป ไม่สามารถใช้อ้างอิงได้ รัฐบาลพม่าเพิ่งเซ็นสัญญาสำรวจทรัพยากรในบริเวณนี้อีก 4 แปลง และ เป็นสัญญาที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นระบบร่วมผลิต.  </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการพม่า ได้เซ็นความตกลงอีก 4 ฉบับในวันศุกร์ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้บริษัทลงทุนจากต่างประเทศเข้าสำรวจหาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเบงกอล ทั้งหมดเป็นสัญญาแบบร่วมการผลิต (Production Sharing Contracts) ซึ่งรัฐบาลเข้าไปมีส่วนร่วมในการลงทุนกับหุ้นส่วนต่างประเทศ และร่วมเป็นเจ้าของน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ รวมทั้งร่วมแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนด้วย

ภายใต้สัญญา PSCs รัฐวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซพม่า (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน ได้เซ็นความตกลงกับบริษัทบีจีเอ็กซ์พลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น เมียนมาร์ (BG Exploration & Production Myanmar) สำหรับการสำรวจแปลง A-4 เซ็นกับบริษัทวูดไซด์ เอนเนอร์จี (Woodside Energy Myanmar) และเมียนมาร์ปิโตรเลียม เอ็กพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น (Myanmar Petroleum Exploration & Production Co Ltd) ในการสำรวจแปลง AD-2

นอกจากนั้น MOGE ยังเซ็นความตกลง PSCs อีก 2 ฉบับ เพื่อสำรวจแปลง A-7 กับวูดไซด์ เอนเนอร์จีฯ และแปลง AD-5 กับ บีจีเอ็กซ์พลอเรชั่นฯ และ เมียนมาร์ปิโตรเลียมฯ รายเดียวกัน ซึ่งแปลงสำรวจทั้งหมดอยู่ในเขตรัฐระไค (Rakhine/ยะไข่) ทางภาคตะวันตกของประเทศ หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ รายงานเรื่องนี้อ้างเจ้าหน้าที่ในระไค

บริษัทบีจีเอ็กซ์พลอเรชั่นฯ เมียนมาร์ เป็นบริษัทลูกของ British Gas Group แห่งประเทศอังกฤษ และจดทะเบียนในสิงคโปร์ ส่วน วูดไซด์ เอนเนอร์จี (เมียนมาร์) จดทะเบียนในสิงคโปร์ เช่นกัน โดยเป็นบริษัทลูกของวูดไซด์เอ๊นเนอร์จี แห่งออสเตรเลีย

ทันทีที่มีการเซ็นความตกลงทั้ง 4 ฉบับ รัฐบาลพม่าได้รับเงินโบนัสเป็นค่าเซ็นสัญญา (Signature Bonus) รวมเป็นเงิน 82.4 ล้านดอลลารน์ กับอีก 3.7 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าข้อมูลต่างๆ หรือ Data Fee จากบริษัทคู่สัญญา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในทางปฏิบัติในการเซ็นความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซ

แปลงสำรวจ 2 แปลงที่เซ็นกันเมื่อวันศุกร์ อยู่ในเขตน้ำตื้นไหล่ทวีป การศึกษาและตรวจตรา (Observation) ทั่วไปจะใช้เวลา 1 ปี และ 6 ปีสำหรับการเจาะสำรวจ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนราว 545.5 ล้านดอลลาร์ อีก 2 แปลงอยู่ในเขตน้ำลึก ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปี ในขั้นตอน Observation กับ 6 ปี สำหรับการสำรวจ หนังสือพิมพ์ของทางการรายงาน โดยไม่ได้ให้มูลค่าการลงทุนสำหรับ 2 แปลงหลัง

การเซ็นสัญญาแบบร่วมผลิตเป็นที่นิยมใช้กันในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย และถึงแม้ว่าทั้งสัญญาแบบ PSCs และสัญญาแบบให้สัมปทานแก่ต่างชาติ จะนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมาเช่นเดียวกันก็ตาม แต่แบบแรกทำให้เจ้าของประเทศได้เป็นเจ้าของทรัพยากรณ์ที่ค้นพบ และได้ส่วนแบ่งเต็มเม็ดเต็มหน่วย และยังได้ทั้งค่าภาคหลวง กับรายได้จากการจัดเก็บภาษีอีกด้วย

ต่างไปจากระบบสัมปทานที่บริษัทผู้ลงทุนเป็นเจ้าของทรัพยากร เจ้าของประเทศได้รับประโยชน์เฉพาะค่าภาคหลวงกับภาษี แต่ข้อดีก็คือ ไม่ต้องร่วมแบกรับความเสี่ยงใดๆ ในการลงทุน

ต่างไปจากหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปสำรวจและผลิตพลังงานในพม่า จะเป็นการให้สัมปทานเกือบทั้งหมด การทำความตกลงแบบ PSC หรือ PSCs ในครั้งนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความมั่นใจในความรุ่มรวยทางด้านทรัพยากร รวมทั้งความพร้อมในด้านการลงทุน เนื่องจากที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่า แหล่งเบงกอลรุ่มรวยด้วยปิโตรเลียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อน หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติได้รายงานเกี่ยวกับปริมาณสำรองมหาศาลในแหล่งนี้

นอกจากนั้น ก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาลที่พม่าขายให้แก่จีน โดยส่งผ่านระบบท่อ ข้ามภาคเหนือเข้าสู่มณฑลหยุนหนันนั้น ก็ผลิตจากแหล่งเบงกอลในรัฐระไคทั้งสิ้น

ต้นปี 2557 พม่าได้ให้สัมปทานแปลงสำรวจ จำนวน 30 แปลง ให้แก่บริษัทข้ามชาติ ซึ่งรวมทั้งเชฟรอน กับโคโนโคฟิลลิปย์ จากสหรัฐฯ โตตาลจากฝรั่งเศส บีจีจากอังกฤษ และบริษัทน้ำมันสแตทออยล์ จากนอร์เวย์ด้วย ทั้งหมดเป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่ง และล้วนอยู่ในเขตน้ำลึก ซึ่งการสำรวจต้องใช้เทคโนโลยีสูง และลงทุนอย่างสูง บริษัทผู้ลงทุนได้รับสิทธิให้ถือหุ้นถึง 100% หรือมี MOGE ร่วมถือหุ้นส่วนน้อยอยู่ด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น