xs
xsm
sm
md
lg

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดูด “เงินลงทุนต่างชาติ” มากกว่าจีนเป็นปีที่สอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - ระบบเศรษฐกิจหลักๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ได้มากกว่าจีนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในปี 2014 เนื่องจากการเติบโตในชาติเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่แห่งนี้หดตัวลดลง แต่ถ้าดูเป็นรายประเทศแล้ว กระแสเงินที่เข้ามายังภูมิภาคนี้ถือว่าไม่สม่ำเสมอ โดยมีเหตุปัจจัยมาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและต้นทุนในการทำธุรกิจที่ผันผวน

เอฟดีไอในสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ 128 พันล้านดอลลาร์ในปี 2014 การประเมินที่จัดทำโดยทอมสัน รอยเตอร์ เผยว่าจำนวนเงินลงทุนดังกล่าวเหนือกว่าเม็ดเงินลงทุน 119 พันล้านดอลลาร์ที่ไหลเข้าไปในแดนมังกร เอฟดีไอในแดนตากาล็อกเติบโตขึ้นเร็วที่สุด โดยอยู่ที่ 66 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในประเทศไทย ซึ่งกองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อปีที่แล้ว กระแสเงินที่ไหลเข้ามาลดลง ส่วนเอฟดีไอในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้นั้น เพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งในปีที่แล้วก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า เนื่องจากภาคการผลิตที่เป็นปัญหาของจีนสูญเสียแรงกระตุ้น ธุรกิจจีนหลายเจ้าจึงกำลังที่จะเสี่ยงตัดลดต้นทุนการประกอบการ และมองหาตลาดใหม่ๆ ดังนั้นมหาอำนาจด้านการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงควรจับตาเอาใจใส่ไว้ให้ดี

“ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นในจีนกำลังชักนำให้ผู้ผลิตระดับล่างเริ่มมองหาทำเลที่ตั้งต้นทุนต่ำอื่นๆ สำหรับโรงงานของพวกเขา โดยประเทศอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวเลือกที่เย้ายวน” แดน มาร์ติน นักเศรษฐศาสตร์เอเชียจากบริษัท แคปิตอล อีโคโนมิกส์ ระบุ และเสริมว่า “อาเซียนยังเป็นตลาดที่ใหญ่ด้วยศักยภาพของมันของมันเองอีกด้วย”

ฟิลิปปินส์ ระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเร็วเป็นอันดับสองในเอเชีย ดึงดูดนักลงทุนด้วยรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของประเทศ แต่ข้อกังวลหนึ่งคือความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2016 สิ่งนี้ส่งผลให้การตัดสินใจลงทุนของบางบริษัทอาจถูกชะลอไว้ก่อน

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกฮวบลงอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่ไหลเข้ามายังประเทศรุ่มรวยทรัพยากรอย่างอินโดนีเซีย และประเทศที่มีอาณาเขตน้อยกกว่าอย่างมาเลเซีย

ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กำลังพยายามชักชวนให้ต่างชาติลงทุนในภาคการผลิตเพิ่มเติมเพื่อทดแทนภาคทรัพยากรที่ไม่มั่นคง แต่อินโดนีเซียมีแผนการพัฒนามากมายที่จะทำ โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจของตน เพื่อก้าวแซงหน้าผู้นำด้านการผลิตในภูมิภาคนี้อย่างไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น