ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาจนได้ เมื่อ ปตท. ยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในข้อหาจัดทำเสื้อระดมทุน “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิของปตท.
งานนี้ “รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์” ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะจำเลยที่ 1 จึงให้สัมภาษณ์แก่ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ถึงเรื่องดังกล่าว ทั้งยังฝากไปถึงปตท. ว่ากลยุทธ์ในการฟ้องร้องไม่น่าจะได้ผล แต่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคด้วยซ้ำไป เพราะจะทำให้เกิดการตื่นตัว และเกิดการตรวจสอบมากขึ้น
รู้สึกอย่างไรที่ถูกปตท. ฟ้องร้องว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำเสื้อระดมทุน “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” แล้วละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก็อดจิของ ปตท.
อาจารย์รู้สึกผิดหวังที่ถูกฟ้องร้องครั้งนี้ ผิดหวังในประเด็นที่ว่า ปตท. เป็นหน่วยงานที่ใหญ่ ส่วนหนึ่งถือเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจ มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นการที่ภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบในเรื่องพลังงาน ซึ่งตัวเองมีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากอยากให้เรื่องพลังงานของประเทศไทยมีการปฏิรูปที่ดีขึ้น พอถูก ปตท.ฟ้อง จึงแปลกใจ และผิดหวังที่องค์กรใหญ่ขนาดนี้ไม่น่าที่จะมาทำเรื่องที่มันไร้สาระ และทำให้มันต้องกลายเป็นเรื่องรกโรงรกศาล
ประเด็นที่สอง อาจารย์มองว่ามันเป็นโอกาสของประชาชนหรือผู้บริโภคที่จะต้องใช้กรณีนี้ มาเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตนเอง ฉะนั้นใจลึกๆ ก็ขอบคุณ ปตท. ที่ฟ้อง เพราะทำให้เราเองนั้นได้เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาชนในการที่จะตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานสำคัญในการจัดหาพลังงาน ซึ่งเราเห็นว่าการปฏิรูปพลังงานมีความสำคัญมาก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่ะ
สาเหตุที่เราจัดตั้ง“กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ขึ้นมา เพื่อที่อยากจะให้มีกองทุนๆ หนึ่ง ซึ่งประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้ระบบพลังงานของประเทศนั้น เป็นระบบที่ดี มีความโปร่งใส มีธรรมาธิบาล และทุกคนเข้าถึงพลังงานในราคาที่ยุติธรรมได้ นอกนั้น เราได้มีการแสดงงบดุลบัญชีตามหลักการของมูลนิธิอย่างโปร่งใส เพราะฉะนั้นไม่มีการหาผลประโยชน์หรือการระดุมทุนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวแต่อย่างใด แล้วอย่างที่บอกว่าเป้าหมายของกองทุนคือ เพื่อให้ประชาชนทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วม โดยเข้ามาช่วยระดมทุน ซึ่งการระดมทุนในสังคมไทยนั้น ก็มีได้หลายรูปแบบเช่น เป็นการระดมทุนในลักษณะที่เปิดกว้างว่าใครอยากที่จะเข้ามาสนับสนุนก็บริจาคเข้ามา ส่วนหนึ่งก็ใช้การรณรงค์ด้วยเสื้อยืดที่เราทำขึ้นมา และเป็นตัวที่ถูก ปตท.ฟ้อง
ความจริงความหมายในเสื้อตัวนี้ เราต้องการรณรงค์ว่าในเรื่องการปฏิรูปพลังงานนั้น คุณจะต้องคิดให้ดีนะ ไม่ใช่ปฏิรูปแล้วไปเจอะจระเข้อีกตัวหนึ่ง หรือไปปะจระเข้ตัวใหม่ คือ ปฏิรูปแบบหนึ่งที่มีอันตรายหรือผลเสียเหมือนกัน มันเป็นสิ่งที่สังคมไทยรู้ดีในคำสุภาษิตนี้ที่บอกว่า “หนีเสือปะจระเข้” เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นวิธีการที่เราต้องการสื่อสารกับประชาชนว่า การจะปฏิรูปพลังงานนั้น คุณต้องคิดให้รอบคอบนะ
อาจารย์กำลังจะบอกว่าตัวการ์ตูนในเสื้อของกองทุนฯ ไม่ได้ตั้งใจเลียนแบบตัวก๊อดจิของ ปตท. ใช่หรือไม่
ใช่ค่ะ คือต้องชี้แจงก่อนว่าตัวการ์ตูนที่เราใช้อยู่บนเสื้อของเรานั้น เราไม่ได้ตั้งชื่อว่าเป็นตัวคายมาจิ หรือตัวอะไร แต่ตัวการ์ตูนของเราเป็นตัวจระเข้ตัวหนึ่ง ที่ต้องการบอกว่าถ้าเราทำเรื่องพลังงานไม่ดี เราจะเหมือนหนีเสือปะจระเข้ ผลประโยชน์ก็จะไปตกอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ ดังนั้นประเด็นของเราจึงไม่ใช่การไปลอกเลียนตัวก๊อดจิแต่อย่างใด แล้วตัวก๊อดจิของปตท. เป็นตัวไดโนเสาร์ แต่ของเราเป็นตัวจระเข้ แล้วถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าไม่มีส่วนไหนเหมือนกันเลย นอกจากสี แล้วสีนั้น ก็เป็นสีน้ำเงินที่ทุกคนก็ใช้ แล้วตัวการ์ตูนของเราก็ไม่ได้ใช้อยู่บนพื้นขาวเหมือนของ ปตท. แต่สีน้ำเงินของเราอยู่บนพื้นสีที่เป็นทะเลหรือเป็นน้ำ ดังนั้นตัวการ์ตูนสองตัวนี้จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย
มีประเด็นไหนที่อาจารย์อยากจะโต้แย้งแก่ ปตท. อีกไหม
ความจริงแล้วในบรรดาผู้ที่ถูกฟ้องทั้งหมดนั้น เป็นผู้ที่ทำงานจิตสาธารณะจริงๆ ที่เข้ามาช่วยมูลนิธิ เพื่อทำให้การระดมทุน เพราะอย่างที่บอกว่าเป้าหมายของการระดมทุนคือ ไม่ได้ต้องการระดมเงิน แต่เพื่อต้องการให้ประชาชนตื่นตัว เพราะฉะนั้นการตื่นตัวของประชาชนในการเข้ามาร่วมกิจกรรมนี้นั้น จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคประชาชน
แล้วเรื่องนี้ ถ้า ปตท. มองว่าคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นพรีเซ็นเตอร์ขายเสื้อของเราและฟ้องร้องคุณรสนาด้วย ถ้าอย่างนั้น ปตท. คงต้องฟ้องทุกคนเลย เพราะมีคนซื้อเสื้อนี้เยอะแยะ ดังนั้น ปตท. คงต้องตามไปฟ้องทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระมาก ต้องบอกว่าคุณรสนาไม่ได้เป็นพรีเซ็นเตอร์ เราไม่ได้มีการจ่ายเงินจ่ายทองให้คุณรสนาเลยสักบาทเดียว แต่คุณรสนาเข้ามาช่วยเราขายเสื้อ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวและเข้ามาช่วยกันปฏิรูปพลังงานผ่านกองทุนนี้เท่านั้นเอง
อาจารย์คิดว่าการที่ ปตท. ฟ้องมูลนิธิฯ จะทำให้มูลนิธิหรือสังคมไทยได้รับบทเรียนจากเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
ประเด็นการฟ้องนี้นั้น มันก็เป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้ในการปิดปากผู้บริโภค ซึ่งในการปิดปากผู้บริโภคนั้น ก็คือการสร้างความกลัว สร้างความรำคาญ หรืออาจทำให้คนเบื่อ ขี้เกียจขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะมันเสียเวลา แต่ ปตท. ไม่ได้คิดหรอกว่า ในทางกลับกันนั้น กลยุทธ์ที่คุณใช้อยู่นั้นจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคด้วยซ้ำ เพราะทำให้เกิดการตื่นตัว เกิดการตรวจสอบมากขึ้น แล้วกระบวนการตรวจสอบก็จะชัดเจนมากขึ้น
เรื่องที่ ปตท. ฟ้องเรานั้น เรามองว่า ปตท. ไม่ควรที่จะทำ เพราะองค์กรของปตท. เป็นองค์กรใหญ่ ส่วนหนึ่งก็เป็นหน่วยงานรัฐ ส่วนมูลนิธิก็เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ที่ทำประโยชน์ให้แก่สาธารณะ เราทำการตรวจสอบ เพื่อประสิทธิภาพของคุณเองด้วยซ้ำ แต่คุณเองมาใช้วิธีที่จะฟ้องร้อง เพื่อให้มูลนิธิยุ่งยาก หรือมีปัญหานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มองได้ว่าการที่ ปตท. ฟ้องร้องนั้น เป็นการทำเพื่อปิดปากเรา เพื่อไม่ให้มูลนิธิมาทำงานเรื่องพลังงาน ซึ่งความจริงถ้าดูประวัติศาสตร์ย้อนหลังจะเห็นว่ามูลนิธิทำงานด้านพลังงานมานาน ไม่ใช่เพิ่งมาทำ ฉะนั้นการจะหยุดมูลนิธิฯ ในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในเรื่องพลังงาน คิดว่ากลยุทธการฟ้องร้องนั้น ไม่น่าจะได้ผล
ประเด็นคือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไร้สาระ อาจารย์จึงเรียกร้องกรรมการ ปตท. ว่า น่าจะเป็นคนที่ช่วยกันพิจารณาว่ามันควรจะเสียงบประมาณในการดำเนินคดีไหม ทั้งที่มันก็เป็นงบประมาณของประเทศ ดังนั้นคุณควรจะถอนฟ้อง ไม่ควรทำให้เกิดเรื่องรกโลงรกศาล เพราะศาลยังมีเรื่องสำคัญอีกเยอะแยะที่ต้องทำ
นอกนั้นอยากฝากบอกถึงประชาชนด้วยว่า พลังงานเป็นหัวใจหนึ่งที่สำคัญของประเทศ เราจึงอยากเห็นพลเมืองของคนไทยเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันข่าวสาร และมาร่วมกันในการที่จะช่วยกันคิด ช่วยกันปฏิรูประบบพลังงาน เพื่อให้เป็นระบบที่โปร่งใส มีกลไกที่ชัดเจนในการที่จะดำเนินนโยบายและตรวจสอบ ขณะเดียวกันก็ต้องสนับสนุน หรือสร้างพลังผู้บริโภค ไม่ใช่มารังแก หรือมากวนใจองค์กรผู้บริโภคที่มาตรวจสอบคุณ หรือมาฟ้องร้องอะไรที่ไม่เป็นเรื่อง
ภาพโดย ปวริศร์ แพงชาติ