xs
xsm
sm
md
lg

ชงแผนปฏิรูปศาลขจัดความซ้ำซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (24 มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการศึกษา เรื่องการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ฯ กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกิดสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ประชาชนไม่มีความปลอดภัยทางทรัพย์สิน มีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายกันมาก มีคนจำนวนไม่น้อยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีจิตวิญญาณในการปฏิบัติหน้าที่ จึงสมควรต้องมีการปฏิรูปกระบวนทั้งระบบ โดยองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรม ต้องปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุง แนวทางบริหารองค์กร และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการยุติธรรมให้ มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายให้มีมาตรฐาน และปรับปรุงกระบวนการร่าง และแก้ไขกฎหมาย ให้มีประสิทธิภาพ เพราะมีการกระทำผิดกฎหมายกันมาก รวมถึงมีการทุจริต คอร์รัปชันหลายภาคส่วน
นอกจากนี้ ยังมีการปฏิรูปองค์กร และกระบวนการยุติธรรมก่อนชั้นศาล คือ ปฏิรูปองค์กรอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทนายความ และหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรม เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย หรือร่างกฎหมายใหม่ ขององค์กรดังกล่าว เนื่องจากระบบสอบสวนที่แยกส่วนระหว่างพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการ ทำให้การสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะในคดีที่มีความซับซ้อน
นอกจากนี้ ยังไม่มีความชัดเจนทางกฎหมาย ในการเพิ่มอำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานอัยการ ให้มีอำนาจในการลดปัญหาและ ยุติปัญหาทางคดีความก่อนนำคดีไปสู่ศาล รวมทั้งมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลมากเกินไป ทำให้คดีค้างพิจารณาจำนวนมาก จึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนในคดีสำคัญ โดยให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมในการสอบสวน กับพนักงานสอบสวน และการเข้าสอบสวนคดีตามที่กฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการ ปฏิรูปกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ และชั้นศาล ให้สามารถใช้หลักประกันเดียวกันได้ตลอดทั้งคดี ปฏิรูปมาตรการทดแทนการสั่งฟ้องคดี เช่น การไกล่เกลี่ย การชะลอการฟ้อง เพื่อลดปริมาณคดีสู่ศาล รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอัยการ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งการปฏิรูปครั้ง จะช่วยลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาล ทำให้ศาลสามารถตัดสินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนจนเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น และขจัดปรากฏการณ์ความยุติธรรม 2 มาตรฐาน ทำให้ฐานะทางการเงินไม่เป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความยุติธรรม ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน เดือน ก.ค.58
ส่วนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล กล่าวว่า คณะอนุกมธ.ฯได้พิจารณากระบวนการในชั้นศาล 4 ศาล คือ ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และ ศาลยุติธรรม ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ศาลทหาร คณะอนุกมธ.ฯ ไม่มีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการในศาลทหาร เพราะกระบวนมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะศาลทหารในสถานการณ์ปกติ ที่พิจารณาเฉพาะการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรบัญญัติให้นำแนวกระบวนการในศาลยุติธรรม และศาลปกครอง มาปรับใช้กับศาลทหาร สิ่งที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้วไม่ควรไปยุ่ง
2. ศาลรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการปรับปรุงกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ที่ส่วนหนึ่งมาจากคณะบดีคณะนิติศาสตร์ เนืองจากปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาจำนวนมาก จึงต้องวางกรอบให้ชัดเจน
3. ศาลปกครอง จะต้องวางรากฐานให้เกิดความมั่นคง โดยเริ่มพัฒนาผู้พิพากษาในแต่ละขั้นตอนให้เกิดประสิทธิภาพ แทนการนำบุคคลจากองค์กรอื่นเข้ามาปฏิบัติงานในศาลปกครองอย่างเป็นระบบ
4. ศาลยุติธรรม ปฏิรูปให้ผู้พิพากษาเกษียณอายุ 70 ปี แต่หลังจากอายุ 60 ปี จะต้องไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ในศาลชั้นต้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้กับกระบวนการยุติธรรมในศาลชั้นต้น
สำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในองค์กรอิสระ นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ประธานอนุกมธ.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความซ้ำซ้อนและล่าช้า ทั้งนี้จะต้องปฏิรูปอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
อย่างไรก็ตาม สมาชิกสปช. เห็นด้วยกับรายงานของกมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ ซึ่งจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ลบล้างวาทกรรมกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมถึงการมุ่งสร้างกระบวนการไกล่เกลี่ยในกรณีพิพาท แทนการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ จะมีการพิจารณารายงานของกมธ. ปฏิรูปกฎหมายฯ อีกครั้ง ในสิ้นเดือนพ.ค.นี้

**ตั้งสำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล

ในวันเดียวกันนี้ นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แถลงว่า จากการประชุมปฏิรูปอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีตัวแทนจากฝ่ายเกี่ยวข้องเข้าร่วมได้มีข้อเสนอแนะเร่งด่วน 2 ส่วนแรก ให้จัดตั้งสำนักอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อแยกการบริการจัดการที่ชัดเจน และสามารถรับและอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความเชี่ยวชาญทางด้านทะเลโดยเฉพาะ ส่วนที่สอง เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์อุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการดังกล่าว จะดูแลด้านการแบ่งเขตใช้สอยประโยชน์ และความสามารถในการรับจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดการด้านการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล แบบมีส่วนร่วม รวมถึงพัฒนาระบบค่าธรรมเนียม การจัดการรายได้อุทยานแห่งชาติทาทะเล เป็นต้น
นอกจากนี้ การประชุมปฏิรูปอุทยานแห่งชาติทางทะเล ยังมีความเห็นร่วมกันในการนำเสนอ และผลักดันอุทยานแห่งชาติในทะเลอันดามัน ให้เป็นเขตมรดกโลก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอที่ได้จากการประชุมดังกล่าว จะนำเสนอต่อที่ประชุมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในระหว่างวันที่ 26-27 มี.ค.นี้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น