xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ชี้เลือกตั้งอย่างช้ากลางปี 59 สปช.ห่วงเยอรมันโมเดลวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ ( 23มี.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรรมนูญ โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการประชุม ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่วาระพิจารณา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ที่ปรึกษาและโฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวรายงานถึงผลการเดินทางไปดูงานที่ประเทศเยอรมัน ระหว่างวันที่ 15 –20 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า ทางคณะได้เข้าพบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย โดยได้รับข้อมูล และข้อคิดที่ประโยชน์ที่จะใช้ในการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบเป็นอย่างยิ่ง สำหรับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ประเทศเยอรมนี ได้ใช้มากนานกว่า 66 ปี มีพัฒนาการจัดการเลือกตั้ง ให้ยึดโยงกับระบบนี้มาโดยตลอด
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลประเทศเยอรมนี คล้ายกับประเทศไทยหลายเรื่อง เช่น การใช้ระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีส.ส.จากระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ ที่เลือกจาก16 มลรัฐ ขณะที่การเลือกตั้งส.ส.นั้น จะพบว่าจะมีจำนวนส.ส.ที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ หรือโอเวอร์แฮง ประมาณ 5 –38 คน
ทั้งนี้ในกระบวนการคิดคะแนน มีผู้ใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือศาลรัฐธรรมนูญ ให้ข้อสังเกตว่าวิธีคิดคะแนนของประเทศเยอรมนี มีความซับซ้อน และรายละเอียดถูกกำหนดไว้ในกฎหมายลูก และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญเยอรมนี เขียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งไว้เพียง 3 บรรทัด คือ “เน้นให้การเลือกตั้งโปร่งใส อิสระ เป็นธรรม และเป็นการลับ”ดังนั้น หากประเทศไทยจะนำระบบเลือกตั้งและการคำนวณคะแนนมาใช้ บุคคลที่ร่วมพูดคุยระบุว่า ขึ้นอยู่กับการกำหนดว่า จะมีการชดเชยหรือไม่
นอกจากนั้น ยังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการสนับสนุนเงินให้พรรคการเมือง ที่ประเทศเยอรมนี จะใช้วิธีพิจารณาข้อมูลประกอบ เช่น จำนวนคนที่มาลงคะแนนเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกพรรคที่กำหนดให้ต้องบริจาคเงินให้พรรคการเมืองด้วย เป็นต้น จึงทำให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเยอรมนี มีความเข้มแข็ง โดยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ได้ให้การส่งเสริมด้วย
สำหรับการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา แม้มี 34 พรรคการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่มีเพียง 5 พรรคเท่านั้นที่ได้ ส.ส.เข้าสู่สภา เนื่องจากประเทศเยอรมนีใช้จุดตัด ร้อยละ 5 เป็นเกณฑ์ในการให้ได้ ส.ส.เข้าสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลสำคัญคือ เพื่อพัฒนาระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง มีการรวมตัว นอกจากนั้นแล้วนักการเมืองได้ยึดประเพณีและมารยาททางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลจะมีเสียงข้างมากในสภา หรือไม่ก็ตาม ส่วนการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน สามารถทำหน้าที่ได้ ดังนั้นการปกครองในประเทศเยอรมนี จุดเน้นสำคัญ คน และสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง
นอกจากนี้ ทางคณะที่ไป ยังได้พูดคุยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ร่วม 2 ชั่วโมง โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมนี มีทั้งสิ้น 16 คน เลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 8 คน และสภาสูง 8 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 12 ปี และเป็นได้ครั้งเดียว ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ สำหรับการตัดสินคดีนั้นประชาชนให้การยอมรับ แม้จะถูกวิจารณ์จากพรรคการเมืองในบางครั้ง เพราะมีความเห็นที่ต่างกัน
ขณะที่ นายบวรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดสรรคะแนนให้กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้สอบถามกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า หากนำคะแนนรวมจากภาค แล้วจัดสรรให้บัญชีรายชื่อ จะถูกต้องหรือไม่ ซึ่งได้รับคำตอบว่า น่าจะเหมาะสม และมาถูกทางแล้ว ขณะที่การจัดการเลือกตั้งนั้นมีข้าราชการประจำเป็นผู้กำกับดูแล ส่วนการพิมพ์บัตร และจัดการเลือกตั้ง ส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะนี้การร้องคัดค้านการเลือกตั้งประเทศเยอรมนี จะให้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยสภาผู้แทนราษฎร จะตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่า ถูกหรือไม่ หากสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยแล้ว ผู้คัดค้านไม่พอใจ สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ส่วนการลงคะแนนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น ประเทศเยอรมนี เคยใช้แต่มีปัญหา เพราะไม่มีมีหลักฐาน แต่ปัจจุบันที่ประเทศอินเดีย มีการลงคะแนนผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อกดลงคะแนนแล้ว สามารถเก็บบัตรเพื่อเป็นหลักฐานได้
นายบวรศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า การเดินทางไปดูงานครั้งนี้ ได้ประโยชน์ เขาก็ได้ประโยชน์ ได้ประโยชน์ 2ด้าน คือ เขาเชิญ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศระดับสูง ระดับเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ซึ่งดูแลพื้นที่อื่นทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มประเทศเอเปก และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลกลุ่มประเทศเอเปก เขาสอบถามถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญ และกระบวนการเลือกตั้ง
"ผมได้อธิบายให้ฟัง และยืนยันความมั่นใจว่า ประเทศไทยมีเลือกตั้งแน่ และไม่ช้าไปกว่าปี 59 แน่นอน หากจะนับเวลาไวสุด คือ ต้นปี แต่อย่างช้าสุดไม่เกินกลางปี 59"
นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้พบสมาชิกส.ส.กลุ่มมิตรภาพไทย–เยอรมนี ซึ่งเขาพูดในช่วงแรกว่า ประชาธิปไตยต้องเชื่อในเสียงข้างมาก และใครได้เสียงข้างมากต้องยอมรับ ซึ่ง น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 2 ได้กล่าวกับตนว่า คนที่พูดนี้ ทำท่าจะเป็นคนสอนหนังสือพวกเรา ทำให้ตนตอบกลับไปว่า สิ่งที่ ส.ส.กลุ่มมิตรภาพฯพูดนั้น ถูกต้อง แต่ส่วนตัวมองว่า เสื้อตัวเดียวใส่ไม่ได้ทั้งโลก โดยได้ยืมคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. มา และระบุด้วยว่าวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศ ไม่เหมือนกัน โดยตนได้สอบถามกลับไปว่า ประเทศเยอรมนี เคยมีหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านแปรญัติของแก้ไขทุกมาตรา ในขณะที่ส.ส.ฝ่ายเสียงข้างมาก ก็ยกมือปิดประชุมตลอดเวลา นอกจากนี้ในการลงมติรัฐธรรมนูญ ประเทศเยอรมนี เคยมีหรือไม่ ที่ ส.ส.1 คน นำบัตรของบุคคลอื่นจำนวน10 -15 บัตร ลงคะแนนแทน ส.ส. รวมถึงลงมติผ่านร่างกฎหมายสำคัญ คือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตอนช่วงตี 4
" ทำให้ส.ส.เยอรมนีตกใจ และประหลาดใจว่า มีด้วยหรือในโลกนี้ จากนั้นเสียงของเขาก็อ่อนลง ทำให้สร้างความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งการดูงานครั้งนี้ นอกจากเราจะได้จากเขาแล้ว ทางเยอรมนี ก็เห็นสถานการณ์ของประเทศอื่นๆ ตามสมควร" นายบวรศักดิ์ กล่าว

** ชี้ 6 ปมปัญหา ร่าง รธน.

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ นายวันชัย สอนศิริ สปช. ในฐานะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีข้อตกลงร่วมกันถึงรัฐธรรมนูญร่างแรก ที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สปช.ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ซึ่งกมธ.ได้รับมอบหมายจาก นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ให้ทำหน้าที่ในการศึกษาประเด็นสำคัญๆ ดังนั้นในวันที่ 26-27 มี.ค.นี้ ทางคณะกมธ. จะมีการจัดสัมมนาศึกษาร่วมกัน ที่โรงแรมลองบีช การ์เด้น โฮเต็ล แอนด์ สปา จ.ชลบุรี โดยประเด็นสำคัญที่จะพิจารณา มีดังนี้
1. ระบบรัฐสภา ที่มา ส.ส.โดยเฉพาะการให้มีที่มาจากระบบสัดส่วนผสม ที่มาอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา
2. ที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มีคำถามว่า ต้องเป็น ส.ส.หรือไม่ รวมถึงความสัมพันธ์ของ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ข้าราชการ และประชาชนเป็นอย่างไร
3. องค์กรอิสระ โดยเฉพาะประเด็นการสรรหา วาระการดำรงตำแหน่ง การถูกตรวจสอบประเมินผล เป็นต้น
4. รูปแบบพรรคการเมือง
5. การจัดการเลือกตั้ง ที่จะให้จัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือจะให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) 6. บทเฉพาะกาล ซึ่งทั้งหมดจะมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
"เราหวังว่า การที่มีการเตรียมการ หรือวางแผนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน รวมถึงการวางตัวผู้อภิปรายด้วย เพื่อที่จะโน้มน้าวที่ประชุม และ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้รับฟังเรา ซึ่งหากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรา ก็เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะรับฟัง อย่างไรก็ตาม การอภิปรายคงไม่ใช่เป็นการเอาชนะกัน เพราะทุกคนอยากให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ บรรยากาศก็คงเป็นไปด้วยความประนีประนอม อย่างไรก็ตาม หลักคิดของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่เป็นประเด็นที่เราต้องศึกษาถกเถียงกัน" นายวันชัย กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช.จะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า ถ้าไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 กำหนดไว้แล้วว่า ถ้าไม่ผ่าน จะมีกระบวนการอย่างไร แต่ก็เชื่อว่า ทุกคนอยากให้รัฐธรรมนูญออกมาดีที่สุด
ขณะที่ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ปฏิรูปการเมือง นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ. ได้รายงานผลการศึกษาระบบการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนี ให้กับที่ประชุมทราบว่า ระบบการเลือกตั้งแบบผสมของประเทศเยอรมนีนั้น แม้ว่าจะมีส่วนที่ดีคือ เปิดโอกาสให้พรรคเล็กมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส.ส. และไม่ทำให้คะแนนเสียงของประชาชนที่มาลงคะแนน ต้องสูญเสียไป แต่ก็มีความเหมาะสมเฉพาะกับคนเยอรมัน ที่เขามีการพัฒนาระบบการเลือกตั้งมาตามลำดับแล้ว ขณะที่จุดอ่อนคือ การคำนวณคะแนน ที่แม้แต่ในปัจจุบันเองคนเยอรมันเองก็ยังรู้สึกว่า เข้าใจยาก ดังนั้นระบบการเลือกตั้งแบบผสมที่ออกแบบมานั้น จึงยังเป็นปัญหาว่า จะเหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่

** เผยแผนจัดตั้งสภายุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับการประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวานนี้ (23มี.ค.) มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม พิจารณารับทราบรายงานของ กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องวาระที่ 4 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูประบบงบประมาณ และการคลังท้องถิ่น โดย นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกมธ.ปฏิรูปฯ ชี้แจงถึงหลักการการมียุทธศาสตร์ชาติ ที่นอกเหนือจากการให้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 และมาตรา 284 (1) ยังเป็นไปเพื่อปรับโครงส้รางอำนาจราชการ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานให้เกิดการบูรณาการ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ
ด้านพ.ต.ต. ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ชี้แจงว่า ต้องเร่งออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดตั้งสภายุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1. ภาครัฐ มาจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงบประมาณ 2. ภาคเอกชน มาจากผู้แทนสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งระเทศไทย และ 3. ภาคประชาชน ที่อาจมาจากสภาพลเมือง โดยให้มีหน้าที่กำหนดแนวทางจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ รวบรวมวิเคราะห์ความเห็นทุกภาคส่วน การกำหนดเป้าหมาย วางกรอบระยะเวลา การกำหนดตัวประเมินชี้วัด และต้องให้ข้อเสนอแนะแก่ทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ ให้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 15 คน มาจาก นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และอีก 11 คน มาจากฝ่ายวิชาชีพต่างๆ ขณะเดียวกัน ให้มีสำนักงานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับแผนพัฒนาหน่วยงานต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น