xs
xsm
sm
md
lg

การยกย่องคนดี : การขยี้คนเลว

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ควรแก่การทำสามีจิกรรมคือ การกราบไหว้จัดเป็น 4 คู่ 8 บุคคล เป็นเนื้อนาบุญของโลก” นี่คือเนื้อหาของบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณของสาวกพระพุทธองค์ที่ชาวพุทธรู้ และจำได้เกือบทุกคน

แต่ในจำนวนผู้รู้และจำได้มีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจ และไม่เข้าถึงสัจธรรมที่ฝังอยู่ในความหมายโดยพยัญชนะหรือความหมายตามตัวอักษร

ยิ่งกว่านี้ บางคนอาจมีคำถามอยู่ในใจว่า สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าดังปรากฏในบทสวดสังฆคุณข้างต้นมีอยู่จริงหรือ และที่เขาไม่เข้าใจจนเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยเยี่ยงนี้ ก็ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในปัจจุบันนี้มีภิกษุสงฆ์กลุ่มหนึ่งมีพฤติกรรมผิดธรรมผิดวินัย เช่น ดื่มเหล้า ฉันข้าวหลังเที่ยงวัน แต่งกายเป็นคฤหัสถ์ออกเที่ยวเตร่สถานบันเทิงในยามค่ำคื่น ล่วงละเมิด อาบัติเล็กน้อยคือ ปาจิตตีย์ไปจนถึงการล่วงละเมิด อาบัติชั่วหยาบคือปาราชิก และสังฆาทิเสส เนื่องจากเสพเมถุน และยักยอกทรัพย์อวดอุตริมนุสธรรม เป็นต้น จนกลายเป็นข่าวดังทางสื่อดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้ผู้รับรู้ข่าวนี้เกิดความเบื่อหน่าย และคลายศรัทธาต่อวงการสงฆ์

2. พระภิกษุผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบมีอยู่น้อย และที่มีอยู่น้อยก็ไม่ค่อยเป็นข่าวเว้นแต่จะมีผู้แสวงหาธรรมไปค้นพบด้วยตนเอง และร่ำลือกันในวงจำกัด เมื่อเทียบกับพระสงฆ์ที่ไม่ดีซึ่งชอบทำตัวเป็นข่าว จึงทำให้มองเห็นเป็นประหนึ่งว่าวงการสงฆ์ไทยมีแต่พระเลว

3. ในความเป็นจริง สงฆ์สาวกในบทสวดสังฆคุณ ถึงแม้จะมีอยู่ในปัจจุบันก็ยากที่ปุถุชนคนมีกิเลสจะรู้ว่ามีอยู่ เนื่องจากท่านเหล่านี้ท่านไม่อวดตัวแสดงตน เพื่อหวังให้เกิดลาภสักการะ ดังนั้น จึงยากที่ปุถุชนคนอย่างเราจะรู้ถึงภาวะแห่งความเป็นอริยบุคคล จึงไม่เข้าใจสัจธรรมซึ่งมีอยู่ในบทสวดสังฆคุณ

ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ สงฆ์ไทยจึงเสื่อมลงในสายตาของชาวพุทธที่เห็นพฤติกรรมของสมมติสงฆ์ จะเห็นได้จากการออกมาแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงศาสนาคือคำสอนของพระพุทธองค์มิได้เสื่อม แต่ภิกษุสงฆ์ส่วนหนึ่งและเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนรวมที่มีอยู่ประพฤติตนไม่ดี และเป็นเหตุให้ผู้ที่พบเห็นเสื่อมศรัทธา

ดังนั้น ถ้าจะมีการปฏิรูปควรจะปฏิรูปวงการสงฆ์มากกว่าที่จะทำการปฏิรูปพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นตัวแทนพระศาสดาในการปกครองสงฆ์

จะปฏิรูปวงการสงฆ์อย่างไร และใครควรจะเป็นผู้ปฏิรูป

ก่อนที่จะตอบคำถามในสองประเด็น ผู้เขียนใคร่ขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านเกี่ยวกับความหมายของคำว่าปฏิรูป เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันก่อน จะได้ไม่หลงประเด็น

คำว่า ปฏิรูป เป็นภาษาบาลีหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง โดยการขจัดส่วนที่ไม่ดีทิ้งไป และคงส่วนดีไว้แล้วเพิ่มส่วนที่ดีเข้าไป เพื่อให้รูปแบบหรือโครงสร้างดีขึ้น ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษคำว่า Reform มีความหมายในทำนองเดียวกันคือ to change a system the law, in order to make it better

โดยนัยแห่งการปฏิรูปข้างต้น การปฏิรูปวงการสงฆ์ก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรปกครองสงฆ์ รวมไปถึงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โดยขจัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการปฏิรูปทั้งในส่วนที่เป็นบุคคล และกฎหมายใดๆ ที่ไม่เกื้อหนุนการพัฒนาระบบปกครองสงฆ์

ส่วนประเด็นว่าใครจะเป็นผู้ปฏิรูปวงการสงฆ์ ถ้าดูจากการทำสังคายนาทั้ง 9 ครั้งที่ผ่านมา ก็พอจะยึดเป็นแนวทางในการกำหนดตัวบุคคลผู้ที่จะทำการปฏิรูปขั้นตอน และวิธีการได้ดังนี้

1. ผู้ดำเนินการปฏิรูป

จากการปรารภและริเริ่มความคิดในการทำสังคายนาทุกครั้งจะเริ่มจากฝ่ายสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และมีความเสียสละเพื่อส่วนรวมได้ประชุมหารือกัน เมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันว่าจะทำสังคายนา ก็จะไปเชิญชวนผู้นำฝ่ายอาณาจักรคือกษัตริย์ผู้ครองแคว้นนั้นๆ มาเป็นผู้ให้การสนับสนุน เมื่อทางฝ่ายอาณาจักรไม่ขัดข้องการทำสังคายนาก็เริ่มขึ้น

ดังนั้น การจะปฏิรูปวงการสงฆ์ในครั้งนี้ ก็ควรจะเกิดจากการดำริของฝ่ายปกครองสงฆ์ ประชุมหารือกันเมื่อได้ข้อตกลงร่วมกันแล้ว ก็ไปขอความอนุเคราะห์จากฝ่ายรัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่ขัดข้องรวมไปถึงการจัดหางบประมาณสถานที่ประชุม และที่ขาดไม่ได้รัฐบาลจะต้องให้ความร่วมมือในการจัดหาบุคลากรผู้ทรงความรู้ ทั้งทางโลกและทางธรรมเข้าร่วมในคณะปฏิรูปร่วมกับสงฆ์ด้วย

แต่ขั้นตอนและวิธีการในลักษณะนี้ ในขณะที่ฝ่ายปกครองสงฆ์เป็นอยู่ในปัจจุบันคงยากที่จะเป็นผู้ริเริ่มในการปฏิรูปวงการสงฆ์ตามรูปแบบที่พระเณรในอดีตได้ดำเนินการทำสังคายนา ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยซึ่งอนุมานในเชิงตรรกะได้ดังนี้

1.1 พระเถระในฝ่ายปกครองบางรูปหรือหลายรูป เข้าไปเกี่ยวข้องและพัวพันกับผู้เป็นตัวเหตุในการปฏิรูป ดังจะเห็นได้ชัดเจนในกรณีของพระธัมมชโย ซึ่งมีสายสัมพันธ์ ทั้งในส่วนบุคคลอันเป็นปัจเจกและองค์กรอันเป็นสถาบันทางพระพุทธศาสนา จึงเป็นการยากที่จะให้ฝ่ายสงฆ์เป็นผู้ริเริ่ม

1.2 ในสังคมไทยซึ่งครอบงำด้วยวัตถุนิยม ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พระสงฆ์เองก็ไม่มีข้อยกเว้นที่จะไม่ถูกครอบงำด้วยกระแสนี้

ดังนั้น เมื่อผู้ที่เป็นต้นเหตุทำให้ศาสนาเสื่อม มีความเพียบพร้อมด้วยลาภสักการะเยี่ยงพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย เป็นต้น

จึงเป็นการยากที่พระเถระฝ่ายปกครองสงฆ์ ผู้ลุ่มหลงในโลกแห่งวัตถุนิยมจะเอื้อมไปทำลายที่มาหรือบ่อเกิดแห่งลากสักการะของตน และหยิบยกขึ้นเป็นเหตุอ้างในการทำการปฏิรูป

2. เมื่อทางฝ่ายศาสนจักรมีอุปสรรคในการทำการปฏิรูป ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายอาณาจักรในฐานะเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท 4

แต่วันนี้รัฐบาลชุดนี้มีภาระมาก และมีเวลาอยู่ในตำแหน่งสั้นๆ จึงน่าจะเป็นการยากที่จะหยิบยกเรื่องการปฏิรูปวงการสงฆ์ขึ้นมาดำเนินการ

จากปัจจัย 2 ประการนี้ ทำให้มองเห็นการปฏิรูปวงการสงฆ์เกิดขึ้นได้ยาก ถ้าจะรอให้ฝ่ายศาสนจักร และอาณาจักรเป็นผู้ริเริ่ม เมื่อเป็นเช่นนี้คนไทยผู้เป็นพุทธมามกะทั้งหลาย จะปล่อยให้วงการสงฆ์ไทยเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ในการปฏิรูปวงการสงฆ์ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ดังต่อไปนี้

1. พระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในวัยศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสงฆ์ ควรจะได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อชาวพุทธด้วยการรวมตัวกันทำในสิ่งที่ควรทำคือ ช่วยขจัดเสี้ยนหนามของพระศาสดาอันเกิดจากการสอนอย่างผิดๆ ทำอย่างผิดๆ ให้หมดไปแล้วนำสิ่งที่ถูกต้องมาเผยแผ่แทน

2. องค์กรพระพุทธศาสนาที่มีการจัดตั้งโดยนักศึกษาฆราวาสทุกแห่งควรจะได้ร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่อต้านการกระทำนอกลู่นอกทาง และไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย รวมไปถึงการแสดงต่อต้านด้วยการไม่เข้าวัดทำบุญกับพระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมผิดธรรม ผิดวินัยเพื่อเป็นการตัดโอกาสมิให้พระที่ทำไม่ดีเจริญเติบโต และแพร่เชื้อความคิดไม่ดีงามออกไปกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น