xs
xsm
sm
md
lg

เดินธุดงค์ย่ำกลีบดอกไม้ : การลดหรือเพิ่มกิเลส

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระสัทธรรมหรือแก่นแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 3 ประการคือ

1. ปริยัติสัทธรรม คือคำสั่งสอนซึ่งจะต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจ ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติ

2. ปฏิปัตติสัทธรรม คือปฏิปทาหรือแนวทางที่จะต้องปฏิบัติ อันได้แก่ มรรค 8 หรือไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา

3. ปฏิเวธธรรม คือผลที่จะเข้าถึงหรือบรรลุด้วยการปฏิบัติได้แก่ มรรค ผล และนิพพาน

พระภิกษุหรือนักบวชในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหรือสองกลุ่ม ตามนัยแห่งภารกิจซึ่งเกี่ยวข้องหรือเป็นไปตามประเภทแห่งพระสัทธรรมดังนี้

1. คามวาสี หรือที่เรียกกันในภาษาชาวบ้านว่าพระบ้าน โดยถือนัยแห่งความหมายตามตัวอักษร

พระภิกษุกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีหน้าที่ในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งในส่วนที่เป็นพระธรรม และพระวินัยให้รู้และเข้าใจถูกต้อง ทั้งในด้านอรรถคือความหมาย และพยัญชนะคือคำแปลตามตัวอักษรเพื่อจะได้นำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้ถูกต้อง เปรียบได้กับการศึกษาแบบที่ให้เข้าใจก่อนที่จะออกเดินทางเข้าป่าจะได้ไม่หลงทาง

2. อรัญวาสี คือกลุ่มภิกษุผู้อยู่ป่าเพื่อหลีกเร้นจากหมู่คณะเป็นการแสวงหาความสงบทางกาย หรือกายวิเวก และลงมือปฏิบัติตามแนวทางแห่งปริยัติเปรียบได้กับการนำแบบที่มาใช้ในการเดินทาง

3. ส่วนปฏิเวธคือผลของการเข้าถึงธรรมนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติตามแนวทางแห่งปริยัติเท่านั้น ถ้าการปฏิบัติใดๆ สวนทางหรือขัดแย้งกับปริยัติก็ยากที่จะเข้าถึงผลแห่งการปฏิบัติ

แต่วันนี้และเวลานี้ได้มีภิกษุกลุ่มหนึ่งออกเดินธุดงค์กลางกรุง และที่ยิ่งกว่านี้การเดินธุดงค์ของภิกษุกลุ่มนี้ได้มีการโปรยกลีบดอกดาวเรือง จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำลักษณะนี้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักปริยัติหรือไม่ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธองค์ ธุดงค์มิใช่พระวินัยแต่เป็นพระพุทธานุญาตพิเศษ สำหรับภิกษุผู้ต้องการขัดเกลากิเลสโดยการแสวงหาความสงบกาย หรือที่เรียกกายวิเวกเพื่อให้เกิดความสงบทางใจ หรือที่เรียกว่าจิตตวิเวกมีอยู่ 13 ข้อแบ่งเป็น 4 หมวดดังนี้

ก. หมวดที่ 1 จีวรปฏิสังยุตติเกี่ยวกับจีวรมี 2 ข้อคือ

1) ปังสุกูลิกังคะ คือถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

2) เตจีวริกังคะ คือการมีเพียงผ้า 3 ผืนได้แก่ สบง จีวร และสังฆาฏิ

หมวดที่ 2 ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ เกี่ยวกับบิณฑบาตมี 5 ข้อคือ

1) ปิณฑปาติกังคะ คือถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ได้แก่การงดรับอติเรกลาภ

2) สปทานจาริกังคะ คือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับเป็นวัตร งดการเที่ยวบิณฑบาตตามใจอยาก

3) เอกาสนิกังคะ คือการถือการนั่งอาสนะเดียวเป็นวัตร ได้แก่การฉันวันละมื้อเดียวลุกจากที่นั่งแล้วไม่ฉันอีก

4) ปัตตปิณฑิกังคะ คือการถือฉันเฉพาะในบาตร ไม่ใช้ภาชนะอื่นนอกจากบาตร

5) ขลุปัจฉาภัตติกังคะ คือการถือการห้ามอาหารที่ถวายภายหลังเป็นวัตร ได้แก่เมื่อลงมือฉันแล้วไม่รับอาหารอื่นอีก

หมวดที่ 3 เสนาสนปฏิสังยุตต์เกี่ยวกับเสนาสนะที่ 5 ข้อคือ

1) อารัญญิกังคะ คือถือการอยู่ป่าเป็นวัตร และป่าทึบจะต้องอยู่ห่างจากบ้านคนอย่างน้อย 500 ชั่วธนูหรือประมาณ 25 เส้น

2) รุกขมูลิกังคะ คือการถืออยู่โคนไม้เป็นวัตรงดที่มุงบัง

3) อัพโภกาสิกังคะ คือการถืออยู่ที่แจ้งเป็นวัตร งดที่มุงบังและโคนไม้
4) โสสานิกังคะ คือถือการอยู่ในการอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร งดที่มิใช่ป่าช้า

5) ยถาสันถติกังคะ คือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่ที่เขาจัดให้ งดการอยู่ในเสนาสนะตามใจชอบ

หมวดที่ 4 วิริยปฏิสังยุตต์เกี่ยวกับความเพียรมีข้อเดียวคือ

1) เนสัชชิกังคะ คือการนั่งเป็นวัตรงดการนอนอยู่ด้วยอิริยาบถคือการยืน เดิน และนั่ง

2.จากธุดงค์ 13 ข้อจะเห็นได้ว่าการเดินธุดงค์กลางกรุง โดยมีกลีบดอกไม้รองรับนอกจากจะไม่เข้ากับธุดงค์ข้อไหนแล้ว ยังขัดกับเจตนารมณ์ของการพุทธานุญาตที่ต้องการให้การถือธุดงค์เป็นไปเพื่อความสงบ สงัด และลดละกิเลสด้วย

3. การออกมาเดินธุดงค์เดินแถวยาวเหยียด ดังที่ปรากฏขึ้นก่อความเดือดร้อนให้กับการเดินทางสัญจรของผู้คนทั่วไป เนื่องจากทำให้การจราจรติดขัด จึงเท่ากับทำลายศรัทธาของพุทธบริษัท ผู้ที่เลื่อมใสและเข้าใจของคำว่าธุดงค์อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับพระธรรมวินัยด้วย

แต่ในขณะที่ชาวพุทธและผู้ที่มิใช่ชาวพุทธเดือดร้อนจากพฤติกรรมเดินธุดงค์ของภิกษุกลุ่มนี้ ยังมีชาวพุทธกลุ่มหนึ่งที่มีศรัทธาจริตคือชื่อ โดยปราศจากการใช้ปัญญาตามแนวทางแห่งกาลามสูตรได้ออกมาแสดงความชื่นชมยินดีกับการเดินธุดงค์ในลักษณะนี้ด้วย และคนกลุ่มที่ว่านี้รวมไปถึงพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่แสดงความชื่นชมชนิดที่เรียกได้ว่าพูดเอาใจว่าตนเองเกิดมาอายุ 80 กว่าปีแล้ว เพิ่งจะเคยเห็นธุดงค์เดินบนกลีบดอกไม้วันนี้เอง และตบท้ายว่าชื่นใจ

จากคำชมในทำนองนี้แปลความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่าเป็นกลุ่มศรัทธาจริตสวนทางกับกาลามสูตร หรือศรัทธาอาศัยคือศรัทธาเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ หรือศรัทธาแบบโลกาธิปไตยคือศรัทธาตามกระแสแห่ตามๆ กันไป

จากปรากฏการณ์การเดินธุดงค์ทำนองนี้ บอกให้รู้ว่าการศึกษาธรรมวินัยให้เข้าใจก่อนลงมือปฏิบัติเป็นเรื่องจำเป็น
กำลังโหลดความคิดเห็น