xs
xsm
sm
md
lg

สุขสันต์ธัญญา

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

สวัสดีปีใหม่ 2558 (2015) ด้วยกวีสี่แถว

“สุขสันต์ธัญญา
หรรษานิรันดร์
รักโลกรักฉัน
ทุกวันเปรมปรีดิ์”

เรื่องความสุขใครๆ ก็ปรารถนา เรื่องพ้นทุกข์ใครๆ ก็ใคร่ถึง

จะเป็นอะไร ไม่เป็นอะไร อยู่ที่ใจตนเท่านั้น ที่เป็นเหตุใหญ่ บริบทแวดล้อมต่างๆ เป็นแค่เหตุน้อยหรือตัวสำรอง

มีพุทธพจน์บทหนึ่งสั้นๆ และล้ำลึก เตือนจิตเตือนใจได้อย่างสุดยอด...

“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย-สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ว่าเป็นตัวตน เพราะมันไม่ใช่อัตตา แต่มันเป็นอนัตตา

ธรรมคือธรรมชาติ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงคือธรรมชาติ เราท่านคือธรรมชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ ไม่มีใครหนีกฎธรรมชาติไปได้

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง ไม่เที่ยง

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารคือสังขตธรรมทั้งปวง เป็นทุกข์

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมคือสังขตธรรม และอสังขตธรรม หรือสังขาร และวิสังขารทั้งปวง ไม่ใช่ตน

กฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงนี้ แสดงให้เห็นลักษณะ 3 อย่างที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ของสภาวธรรมทั้งหลาย พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม หลักทั้งสามนี้ก็คงมีอยู่เป็นธรรมดา พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่เวไนยสัตว์ (ผู้ที่พอแนะนำให้เห็นธรรมได้)

“กฎธรรมชาติคือความไม่แน่นอน ที่แน่นอน” พินิจพิจารณาหรือดูให้เป็นก็จะเห็นธรรม

ความคิดมีหลายมิติ มิติที่หนึ่ง เห็นคนเป็นคน มิติที่สอง เห็นคนไม่เป็นคน มิติที่สาม เห็นคนเป็นคน

มิติที่หนึ่งกับมิติที่สามดูเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

โจทย์นี้ต้องตอบเอง จึงจะรู้ซึ้งถึงแก่น และเห็นตัวของตัวเอง

ความจริงทุกคนก็เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว คนอื่นจะมาเป็นเราไม่ได้ แม้เราจะคลั่งไคล้ใหลหลงปานใด อย่าละเมออ้อนวอนให้น้ำไหลจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันฝืนกฎธรรมชาติธรรมดา

ท่านโอโชมีผลงานซึ่งเป็นคำสอนของท่านมากมาย ท่านได้อธิบายงานของท่านว่า...เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อการเกิดใหม่ของมนุษยชาติ ท่านมักจะพรรณนามนุษย์พันธุ์ใหม่นี้ว่า เป็นการรวมกันระหว่าง “ซอร์บา เดอะ กรีก กับพระพุทธเจ้า” เข้าด้วยกัน คือเป็นมนุษย์ที่มีความสุขในทางโลกได้แบบซอร์บา และสุขสงบได้อย่างพระพุทธเจ้า สิ่งที่ถักทออยู่ในงานของท่าน มักจะสะท้อนการบูรณาการพลังทางภูมิปัญญาของตะวันออกกับพลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตะวันตก

ความนึกคิดของท่านโอโช ไม่ได้หนีจากสัจธรรม-ธรรมชาติ นั่นคือ “ชีวิตคือสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน” ความสุขร่าเริงทางโลกกับความสุขสงบทางธรรมอยู่ด้วยกัน เป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่แยกกันอยู่เพียงแต่เล่นบทต่างกันตามสภาวการณ์

พุทธะ คือพระพุทธเจ้า พุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หากศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วไม่เบิกบาน ไม่สดชื่น ไม่แจ่มใส จะให้ชื่อว่า เป็นผู้ตื่นจากหลับแล้ว เป็นผู้รู้แล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้วได้อย่างไร?

ธรรมะต้องเบิกบาน คือมีความสุขร่าเริงอย่างโลก และมีความสุขสงบอย่างธรรม

“กวีสี่แถว
ตามแนวธรรมะ
รู้ทำรู้ละ
ธรรมะเบิกบาน”

จึงเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้แล นั่นคือ...

เขียนบทความแสดงทัศนะแต่ละแถวจนครบสี่แถวไม่เหมือนใคร ไม่มีหลักการหลักวิชาอะไร ไม่มีผิด ไม่มีถูก ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้โดยเสรี เพราะมันคือความคิดเห็น จะให้เหมือนคนอื่นได้อย่างไร ถ้ามันบังเอิญเหมือนกันก็เป็นความเหมือนโดยไม่เจตนา

“มันไม่เห็นจะเป็นกวีตรงไหนเลย” ผองกวีทั้งหลาย อาจจะคอมเมนต์เช่นนั้น

ใช่...มันอาจจะไม่เป็นกวีสำหรับคุณ เพราะมันไม่ตรงกับความคิดนึกและความรู้สึกของคุณ

แต่...มันเป็นกวีสำหรับผม ผมคิดนึกและรู้สึกอย่างนี้ มันเลื่อนไหลออกมาจากส่วนลึกของหัวใจ ซึ่งเป็นแก่นแท้ มิใช่เปลือกนอก

อิสรภาพคือกวี กวีคืออิสรภาพ ถ้ากวีไร้อิสรภาพ ความเป็นกวีมันมีด้วยหรือ หากมีมันซุกอยู่หนใด วานบอก

กวีคือดอกไม้ งอกงามมาจากภายใน ยามผลิบานส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่ว ไม่เฉพาะเจาะจง สักครู่ก็เหี่ยวเฉาร่วงหล่นถมทับกับแผ่นดิน

ดอกไม้ไม่ว่าจะอยู่ในสวนหรือนอกสวน มันก็เป็นดอกไม้เช่นกัน คนไม่ว่าจะอยู่ในกรอบหรือนอกกรอบ มันก็เป็นคน

กวีคือความรัก ความรักคือกวี คนที่อยู่เพื่อรัก คือกวีที่แท้

คนเหล่านั้นอาจไม่เคยแต่งกลอน ไม่เคยแต่เพลงใดๆ ไม่เคยทำสิ่งใดที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นศิลปะ

แต่คนที่อยู่เพื่อรัก ซึ่งเป็นรักล้วนๆ รักอย่างหมดจด คือยอดกวีแท้จริง

ชีวิตคือทุนทรัพย์ที่ใช้ไปได้ไม่มีวันหมดสิ้น แต่เพียงเฉพาะผู้มีความเป็นกวีในหัวใจเท่านั้น จึงจะรู้ได้

กวีคือสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ดำรงอยู่อย่างผู้ตื่นรู้ ร่าเริงเบิกบาน แล้วก็ดับไปในที่สุดอย่างผู้ไม่มีทุกข์

สุขสันต์ธัญญา

มีพุทธพจน์อยู่บทหนึ่ง น่ารักมากคือ... “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ-สุขอื่น นอกจากความสงบแล้ว เป็นไม่มี”

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ อธิบายขยายความว่า... “ถ้าความสงบเป็นอย่างเทียม ความสุขนั้นก็เทียม ถ้าความสงบเป็นอย่างแท้ ความสุขก็แท้ สงบมากสุขมาก สงบน้อยสุขน้อย และนี่เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายรูป และฝ่ายนาม”

ความสงบ คือพุทธธรรม พุทธธรรม คือธรรมของพระพุทธเจ้า หรือธรรมแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

กล่าวในอีกมิติ ความสงบ หรือความสุขสันต์ก็คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นแล

ดูพุทธพจน์ต่อไป...

นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ-นิพพานคือสุขอย่างยิ่ง

นิพฺพานํ ปรมํ สูญญํ-นิพพานคือว่างอย่างยิ่ง

ความสุข ความสงบ นิพพาน สุญญตา แม้จะต่างโดยพยัญชนะ (ตัวหนังสือ) แต่โดยอรรถะ (เนื้อหาสาระ) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใช้แทนกันได้

ส่วน “ธัญญา” ถ้าเป็นคำวิเศษณ์หมายถึง รุ่งเรือง, มั่งมี, มีโชค, ดี, เลิศ ถ้าเป็นคำนามหมายถึงข้าวเปลือก ข้าวเปลือกดีกว่าข้าวสาร นำไปปลูกได้ และเป็นข้าวสาร ส่วนข้าวสารหมดสิทธิที่จะเกิดใหม่ เป็นได้อย่างเดียว คืออาหารเท่านั้น เด็กทุกวันนี้ไม่ค่อยรู้จักข้าวเปลือกข้าวสาร รู้แต่ข้าวสุกในจานบนโต๊ะอาหารเท่านั้น

เมื่อสุขสันต์กับธัญญารวมเป็นหนึ่งเดียว ความหมายถึงเป็นหนึ่ง...ยอดเยี่ยม สุดยอด เป็นที่สุดแห่งที่สุด จะให้นิยามหรือความหมายอย่างไรก็ได้ ที่เราคิด เรานึก เรารู้สึก...

สุขสันต์ คือธัญญา

ความสงบสุข คือความรุ่งเรือง มั่งมี ดีเลิศ ประเสริฐศรี โชคดีตลอดเวลา

ความสงบสุข คือความอุดมสมบูรณ์ เพียบพร้อมด้วยข้าวปลาอาหาร เป็นตัวของตัวเอง พึ่งตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่นของสังคมได้

หรรษานิรันดร์

ความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือความยินดีปรีดานี้ เป็น 1 อ. ใน 9 อ. นั่นคือ อารมณ์ อารมณ์ดีก็เป็นยารักษาสุขภาพ อารมณ์ร้ายก็เป็นพิษทำลายสุขภาพ ดังนั้น อารมณ์ดีก็ควรจะมีตลอดเวลา

ชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยการทำหน้าที่ หรือทำงาน

ผู้มีสติ ย่อมทำงานด้วยความยินดี จึงมีความสุขสนุกสนานกับการทำงาน
การทำงานด้วยความสุขจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยจิตว่าง (จิตว่างเป็นบุญ จิตวุ่นเป็นบาป)

“ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” จึงเป็นอีกหนึ่งสำนึกที่ติดตัวเราเสมอ ทำให้เราอยู่เย็นเป็นสุขได้ในทุกสภาวการณ์

ขณะที่เรากำลังโกรธ เราคงยิ้มและหัวเราะไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้ทันโกรธ ความโกรธจะลดลงและดับไป เราก็ปลอดภัยเป็นปกติ ยิ้มหัวได้

ผู้มีสติรู้เท่าทัน สามารถบันดาลนรกให้เป็นสวรรค์ได้ หรือเป็นดอกไม้ในเปลวไฟได้

รักโลกรักฉัน

คำว่า “รัก” คำเดียวสั้นๆ ง่ายๆ คำนี้ ช่างสุดกว้างไกลไพศาล ล้ำลึกเกินจะหยั่งถึง

ท่านรพินทรนาถ ฐากุร ปราชญ์นักเขียนรางวัลโนเบล กล่าวว่า...

“ด้วยความรักเท่านั้น ที่มนุษย์จะรู้ชัดว่า เขาเป็นมากกว่าที่เขาเข้าใจ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับทั้งโลก”

“ความทุกข์ความสุขของผู้ที่เรารัก เป็นความทุกข์ความสุขของเราเอง หรือมากกว่านั้น เพราะอะไรเล่า เพราะเราเติบโตขึ้นโดยความเห็นอกเห็นใจต่อเขา เพราะเราสัมผัสสัจธรรมอันยิ่งใหญ่ และให้ความกระจ่างไปทั่วจักรวาล ก็โดยความรักอันมีต่อเขา”

ไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรเข้าไปหรอก มันเต็มบริบูรณ์อยู่แล้ว มันชัดแจ้งแทงทะลุอยู่แล้ว

ก่อนจะให้อะไรแก่ใคร เราต้องมีสิ่งนั้นก่อน ก่อนจะให้รักแก่ใคร เราต้องมีรักที่ตัวเราก่อน ถ้าไม่มีก่อน แล้วจะเอาอะไรไปให้เขา อย่าหลับทำ จงตื่นทำ

พระพุทธเจ้า ตรัสว่า...

รักอื่นเสมอด้วยรักตน ไม่มี

ตนแลเป็นที่รักอย่างยิ่ง

ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก ก็ไม่ควรเอาตนนั้นไปพัวพันกับความชั่ว

มีประโยคทองของใครไม่รู้บอกว่า... “โลกทั้งผองพี่น้องกัน”

โลก คือแผ่นดิน โลกคือมวลมนุษย์ รักโลก ก็คือรักแผ่นดิน รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิงสาราสัตว์ และเพื่อนมนุษย์ ซึ่งต่างก็เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

กว้างและครอบคลุมไม่น่าจะเป็นไปได้ แม้ตัวเองก็ยังรักไม่ลง จึงมีการทรมานตน และฆ่าตัวตายอยู่บ่อย

นั่นก็จริง แต่นี่จริงกว่า แท้กว่า อยากรักตน และรักโลก ก็ต้องฝึกตน เอาอย่างบัณฑิต ผู้ตื่นรู้ “อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา-บัณฑิตย่อมฝึกตน”

ฝึกตนจนเห็นตน เมื่อเห็นตน ก็จะพึ่งตนได้ เมื่อพึ่งตนได้ ก็จะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้

นั่นคือรักตน รักฉัน รักคนอื่น รักโลก เพราะเห็นโลกทั้งผองคือพี่น้องกัน เห็นโลกคือเรา เห็นเราคือโลก เห็นเธอคือฉัน เห็นฉันคือเธอ “เห็นหนึ่งคือทั้งหมด-เห็นทั้งหมดคือหนึ่ง”

ทุกวันเปรมปรีดิ์

ปัจจุบันคืออดีตและอนาคต ปัจจุบันเป็นอย่างไร อดีตและอนาคตก็เป็นอย่างนั้น ดังนั้น ผู้รู้ทั้งหลายจึงแนะนำให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะอดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง

ใครก็ตามที่ติดยึดอดีตและอนาคต ยากที่จะเกิดความเปรมปรีดิ์ หรือความปลื้มปีติยินดีได้

ใครก็ตามที่หยุดแบกหรือปล่อยวางอดีตและอนาคตได้ หันมาอยู่กับปัจจุบัน และปัจจุบันขณะ ความเปรมปรีดิ์ อิ่มอกอิ่มใจ ปีติเปี่ยมล้นก็จะเป็นของเขาทุกวันเวลา

“สุขสันต์ธัญญา
หรรษานิรันดร์
รักโลกรักฉัน
ทุกวันเปรมปรีดิ์”

ขอให้ทุกคนมีความสุข

ขอให้ทุกคนมีพลานามัยแข็งแรง

ขอให้ทุกคนประสบพบเห็นสิ่งที่ดีงาม

ขออย่าให้ผู้ใดมีทุกข์เลย

สวัสดี (ความดี ความงาม ความเจริญรุ่งเรือง) ทุกวัน สุขสันต์ธัญญา ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น