xs
xsm
sm
md
lg

การทำสังคายนาพระธรรมวินัย : การต่ออายุพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การที่พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาวมาได้จนทุกวันนี้เป็นเวลา 2,557 ปี โดยนับจากปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน การนำสังคายนาหรือการร้อยกรองพระธรรมวินัยจัดเป็นระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งในการทำให้พระสัทธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ตั้งมั่นยืนยาวมาได้จวบจนทุกวันนี้

ตามหลักฐานที่ปรากฏในฝ่ายเถรวาทหรือหินยาน ซึ่งเป็นที่รู้และยอมรับกันในสงฆ์ฝ่ายนี้ การนับจำนวนครั้งของการทำสังคายนามีอยู่ 5 แบบคือ

1. การนับครั้งสังคายนาที่รู้กันทั่วไป

2. การนับจำนวนครั้งสังคายนาของพม่า

3. การนับจำนวนครั้งของลังกา

4. การนับจำนวนครั้งสังคายนาของไทย

5. การสังคายนาของฝ่ายมหายาน

ในที่นี้จะขอนำวิธีการนับจำนวนการทำสังคายนาของไทยมานำเสนอเพื่อเป็นแนวทางการศึกษาค้นคว้า

แต่ถ้าท่านผู้อ่านต้องการจะรู้การนับ 4 แบบที่เหลือก็หาอ่านได้จากหนังสือต่างๆ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน โดยอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ

การนับสังคายนาของไทยดังที่ปรากฏในหนังสือสังคีติวงศ์ หรือประวัติแห่งการทำสังคายนาซึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพนฯ รจนาเป็นภาษาบาลีตั้งแต่ครั้งเป็นพระพิมลธรรม ได้ลำดับความเป็นมาแห่งสังคายนาได้ 9 ครั้งดังต่อไปนี้

สังคายนาครั้งที่ 1, 2 และ 3 ทำในประเทศอินเดีย

สังคายนาครั้งที่ 4, 5, 6 และ 7 ทำในลังกา แต่สำหรับครั้งที่ 4 และ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงถือว่าเป็นเพียงสังคายนาเฉพาะประเทศ ไม่ควรจัดเป็นสังคายนาทั่วไป

ดังนั้น ถ้าถือตามนัยนี้สังคายนาในลังกามีเพียง 2 ครั้งคือ ในปี พ.ศ. 956 และในปี พ.ศ. 1587

สังคายนาครั้งที่ 8 ทำในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ. 2020 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ได้อาราธนาพระภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฎกหลายร้อยรูป ช่วยชำระอักษรพระไตรปิฎกในวัดโพธารามเป็นเวลา 1 ปี จึงสำเร็จสังคายนาจัดเป็นครั้งที่ 1 ในประเทศไทย

สังคายนาครั้งที่ 9 ทำในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2331 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฎก ในครั้งนี้มีพระสงฆ์ 218 รูปกับราชบัณฑิตาจารย์อุบาสก 32 คน ช่วยกันชำระพระไตรปิฎกแล้วจัดให้จารึกลงในใบลาน สังคายนาครั้งนี้สำเร็จภายใน 5 เดือนจัดเป็นสังคายนาครั้งที่ 2 ในประเทศไทย

จากการศึกษารายละเอียดของการทำสังคายนาทุกครั้งที่ผ่านมา เห็นว่าสิ่งที่ชาวพุทธควรจะใส่ใจ และถือเป็นภารกิจที่จะต้องปฏิบัติคือ ขจัดเหตุอันจะทำให้พุทธศาสนาเสื่อม และจำเป็นต้องทำสังคายนา สิ่งที่ว่านี้ก็คือเหตุให้สงฆ์ผู้เคร่งในพระธรรมวินัยต้องทำสังคายนา ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละครั้งโดยจะนำมาสรุปดังต่อไปนี้

ครั้งที่ 1 พระมหากัสสปะได้ปรารภถ้อยคำของภิกษุชื่อ สุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ เมื่อรู้ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ภิกษุทั้งหลายร้องให้เศร้าโศก สุภัททะภิกษุห้ามภิกษุเหล่านั้นมิให้ร้องไห้เสียใจ เพราะต่อไปนี้จะทำอะไรก็ทำได้ตามใจ ไม่ต้องมีใครมาคอยชี้ว่านี่ผิด นี่ถูกนี่ควร นี่ไม่ควรอีกต่อไป พระมหากัสสปะสลดใจในถ้อยคำของสุภัททะ จึงนำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมสงฆ์ และชวนให้ทำสังคายนาหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 3 เดือน

ครั้งที่ 2 พระยสกากัณฑกบุตร ปรารภข้อปฏิบัติย่อหย่อน 10 ประการ ทางพระวินัยของพวกภิกษุวัชชีบุตร เช่นถือว่าควรเก็บเกลือไว้ในเขนงเพื่อเอาไว้ฉันได้ ตะวันบ่ายเกินไปเพียงแล้ว 2 นิ้ว ควรฉันอาหารได้ ควรรับเงินและทองได้ เป็นต้น

สังคายนาครั้งที่ 3 พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระปรารภเหตุที่พวกเดียรถีย์หรือนักบวชนอกศาสนาอื่นมาปลอมบวช แล้วแสดงลัทธิและความเห็นของตนว่าเป็นพุทธศาสนา

สังคายนาครั้งที่ 4-9 ส่วนใหญ่ปรารภเหตุคือ ต้องการชำระพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ มิได้มุ่งประเด็นพฤติกรรมบกพร่อง และผิดพลาดอันเป็นปัจเจก แต่มุ่งหวังให้เกิดถูกต้องของคำสอนเป็นหลัก

ดังนั้น ถ้ามองสถานภาพพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในขณะนี้ ความถูกและสมบูรณ์ของพระไตรปิฎกในปัจจุบันไม่น่าเป็นห่วง จนถึงกับนำมาเป็นเหตุปรารภในการทำสังคายนา แต่ถ้ามุ่งประเด็นไปที่พฤติกรรมอันย่อหย่อนของภิกษุสงฆ์ เทียบกับเหตุในการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครั้งที่ 3 แล้วเห็นควรอย่างยิ่งที่คณะสงฆ์ไทยจะต้องมีการทำสังคายนาเพื่อชำระสะสางคดีความหรืออธิกรณ์ที่มีผู้ล่วงละเมิดด้วยการตีความพระวินัยเข้าข้างตนเอง เพื่อสะดวกแก่การดำรงชีวิต และแสวงหาลาภผลในทางที่ผิด หรือเป็นอเนสนาคือการแสวงหาในทางมิชอบ รวมไปถึงการตีความธรรมะโดยอาศัยความคิดเห็นอันเป็นปัจเจกของตนเอง หรือครูบาอาจารย์ที่ตนเองนับถือแล้วตั้งเป็นสำนักอิสระไม่ขึ้นต่อการปกครองของสงฆ์ เช่น การสอนว่าพระนิพพานเป็นอัตตา เป็นต้น ซึ่งขัดต่อคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา (สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา) เป็นต้น

ส่วนประเด็นว่าใครควรจะลงมือทำสังคายนานั้น ถ้าดูความเป็นมาของการทำสังคายนาในครั้งที่ 1-3 จะพบว่า พระเถระผู้เคร่งครัดในศีล และแตกฉานในธรรมจะเป็นผู้เริ่มในฝ่ายสงฆ์ และขอความช่วยเหลือจากฝ่ายอาณาจักร ดังนั้น ถ้าอาศัยแนวทางเดียวกันนี้ ประเทศไทยขณะนี้มีสงฆ์อยู่ 2 ประเภทคือ คามวสาอันได้แก่ ผู้ศึกษาในด้านปริยัติ หรือคันถธุระ และอรัญวาสี หรือวิปัสสนาธุระ

สงฆ์ทั้ง 2 ฝ่ายนี้ ควรจะได้ปรึกษาหารือกันแล้วนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อออกเป็นมติ และขอความร่วมมือจากฝ่ายบ้านเมืองเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ โดยมุ่งไปที่การแก้ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรม เป็นวินัยของภิกษุสงฆ์เป็นหลัก และเมื่อได้ข้อสรุปว่าอะไรควร อะไรไม่ควรแล้ว ก็กำหนดเป็นแนวทางเพื่อนำไปสู่การปกครองสงฆ์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป

ที่นำเสนอเรื่องนี้ในขณะนี้ ก็ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ

1. ในขณะที่สังคมไทยกำลังตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเมือง และศาสนาจะต้องดำเนินไปควบคู่กัน

2. มีพระภิกษุอยู่ไม่น้อยประพฤติตนไม่เหมาะสมขัดต่อหลักพระวินัย และที่สำคัญมีการตีความพระธรรมวินัยโดยอาศัยความเห็นของตน และถือโอกาสตั้งตนเป็นอิสระ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่สงฆ์

กำลังโหลดความคิดเห็น