xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะเบิกบาน

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม


ยามเช้าหลังตะวันขึ้น และยามเย็นก่อนตะวันตก การเดินแบบสบาย ไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ภายในสวนสาธารณะ หรือสวนหลังบ้าน สูดอากาศปลอดโปร่ง ดมดอมดอกไม้ คือบรรยากาศอันเบิกบาน สดชื่น แจ่มใส เป็นการพัฒนากายใจตามธรรมชาติ ที่เลื่อนไหลออกมาจากภายใน

ที่บ้านมีไม้ดอกนานาชนิด ส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่ว ต้นไม้เหล่านี้หาซื้อมาบ้าง กัลยาณมิตรให้มาบ้าง และมีไม้ดอกอีกชนิดหนึ่ง คือต้น “อุตพิด” กลิ่นเหม็นเหมือนอุจจาระมันมากับรถขุดดินขาย ชอบมุดอยู่ใต้ดิน โผล่ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เจอจอบเสียมเมื่อนั้น

ดอกไม้เลยมี 2 ชนิด คือดอกหอมกับดอกเหม็นเหมือนคนมี 2 ประเภท คือคนหอมกับคนเหม็น หรือคนดีกับคนชั่ว

ดอกหอมคนหอม ใครๆ ก็ชอบ ดอกเหม็นคนเหม็น ใครๆ ก็เกลียด อยากหนีห่าง อยากจัดการให้พ้นๆ ไป (แต่คนชั่วก็ยังลอยนวลอยู่ มีคนเคารพกราบไหว้อยู่ เพราะเหตุใดฤา?)

ดอกหอมดอกเหม็น เห็นได้ชัด เพราะมันหอมเหม็นบริสุทธิ์ ไม่มีหน้ากากสวมใส่

คนหอมคนเหม็น เห็นได้ยาก เพราะมันหอมเหม็น หรือดีชั่ว ไม่บริสุทธิ์ มีหน้ากากสวมใส่เสมอ คนไม่รู้พินิจพิจารณา ก็มองเห็นแต่หน้ากาก ของจริงที่ซ่อนอยู่หลังหน้ากากจึงมองไม่เห็น

คนไม่รู้ทันมายาของมนุษย์ มันตกเป็นเหยื่อ จึงเศร้าหมองและเครียดอยู่เสมอ ส่วนคนรู้ทันมายาของมนุษย์ เล่ห์เหลี่ยมของคนโกง มองเห็นหน้ากากที่เขาสวมใส่และมองเห็นธาตุแท้หลังหน้ากาก ก็ได้แต่นั่งหัวเราะเหมือนดูลิเก เหมือนดูละคร จบแล้วก็จบเลย ไม่เศร้าไม่หมองไม่เครียด ยังเบิกบานอยู่ เพราะเห็นว่า มันก็แค่แสดงตามบทเท่านั้น ฮ่าๆๆๆ

ธรรมะเบิกบาน...

ผู้เข้าใจ เข้าถึงธรรมะ ย่อมเบิกบานเป็นนิจ

ธรรมะมี 2 ความหมาย คือพระธรรมหนึ่ง และทุกสิ่งทุกอย่างหนึ่ง กุสลา ธัมมา (ธรรมที่เป็นกุศล ก็มี) อกุสลา ธัมมา (ธรรมที่เป็นอกุศล ก็มี) อัพยากตา ธัมมา (ธรรมไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล ก็มี) เป็นต้น

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนว่า... “ธรรมนั้นมีอยู่ทุกหย่อมหญ้า สำหรับผู้มีปัญญา” ท่านอธิบายต่ออีก “จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้ว ปัญญาย่อมเกิดขึ้น จะมองดูอะไรก็เป็นธรรมทั้งสิ้น ผู้ไม่ได้รับการอบรม จิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล ส่วนผู้มีปัญญา อบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่างๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้”

ทันตแพทย์สม สุจีรา นักเขียนหนุ่มไฟแรงฮักแพงธรรมะ กล่าวว่า... “ธรรมะ คือสุดยอดของความรู้ เป็นความรู้ที่จริงแท้ มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และช่วยพัฒนาจิตใจให้ค้นพบความสุข ไม่ว่าเราจะเชี่ยวชาญศาสตร์ทางด้านไหน สำคัญที่สุดคือ ต้องมีธรรมะในใจควบคู่ไปด้วย จึงจะนับว่าเป็นนักปราชญ์ที่แท้จริง”

สรุป... “สิ่งทั้งหลาย ล้วนเป็นธรรมะ” (ผู้เขียน)

ถ้าท่านมองธรรมะ เฉพาะพระธรรม เฉพาะคุณความดี ก็ยากที่จะเบิกบานได้ (สายตาสั้นใกล้) ก่อนจะเข้าวัดจำศีลหรือปฏิบัติธรรม ก็วางโลภ โกรธ หลง ไว้ข้างกำแพง พอออกจากวัดกลับบ้าน ก็แวะที่กำแพงเก็บเอาโลภ โกรธ หลง กลับบ้านไปด้วย วิถีชีวิตของท่านก็เหมือนเดิม มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ผิดศีลห้าเป็นธรรมดา

หากท่านมองธรรมะ เป็นทั้งพระธรรม คุณความดี และเป็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง วิถีชีวิตของท่านก็จะเบิกบาน (สายตายาวไกล) แถมด้วย ฟรีมายด์แอนด์สบายได้

สุขศาสนติ์ทรงค่า...

นักแสวงหาความสุขทั้งหลาย เมื่อเจอะเจอสุขแล้ว มันยังไม่สะเด็ดน้ำ ก็แสวงหาสุขอีก ต่อๆ ไปให้มันฟินๆ สุดยอดๆ ยิ่งๆ ขึ้นไป มีพุทธพจน์บทหนึ่ง ที่ควรพินิจพิจารณาอย่างยิ่งคือ...

“นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” แปลว่า “สุขอื่นนอกจากความสงบแล้วเป็นไม่มี”

ถ้าความสงบเป็นอย่างเทียม ความสุขนั้นก็เทียม ถ้าความสงบเป็นอย่างแท้ ความสุขก็แท้ สงบมาก สุขมาก สงบน้อย สุขน้อย และนี่เป็นกฎตามตัวของธรรมชาติ ทั้งฝ่ายรูปและฝ่ายนาม

สงบแท้เป็นอย่างไรหนอ?

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ บอกว่า... “สงบ หมายถึง ความสงบเย็น ปราศจากความทุกข์ ไม่มีความเร่าร้อน ไม่มีความกระวนกระวาย ระส่ำระสาย ไม่ถูกห่อหุ้ม พัวพัน ตบตี ทิ่มแทง เผาลน แต่ประการใด จึงนับว่าเป็นความสงบแท้จริง”

“ความสงบ คือไม่มีความทุกข์ ไม่มีความร้อน กิเลสไม่แผดเผาให้เดือดร้อนได้ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ก็กลายเป็นของน่าหัวเราะเยาะไป สำหรับบุคคลนั้น ไม่มีปัญหาอะไรแก่เขา เขาจึงเป็นผู้มีความสงบ”

...(ที่มา : พจนานุกรมของท่านพุทธทาส, ธรรมสภาจัดพิมพ์เผยแพร่)

เมื่อความสงบเป็นอย่างแท้ ความสุขก็แท้ สุขแท้เป็นอย่างไรหนอ?

เมื่อเจริญสติจนเกิดปัญญาอริยมรรค จะรู้ว่า H2O ก็ไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงการประชุมรวมกันของโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่านั้นเอง เช่นเดียวกับจิต ก็เป็นสิ่งมายา เมื่อรู้แล้วจะไม่ยึดติดกับจิตอีกต่อไป เริ่มเข้าสู่การบรรลุระดับสูงในทางพระพุทธศาสนา คือชั้นอนาคามี”

“ความใสบริสุทธิ์ แตกต่างจากสีขาวและสีดำ ถ้าเทียบความสุขคือสีขาว ความทุกข์คือสีดำ เมื่อจิตบริสุทธิ์ เกิดความว่าง จะไม่ยึดติดกับทั้งขาวและดำ ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจะหายไป ทำให้เกิดกความสุขที่แท้จริง สุขแบบไม่ต้องมีสิ่งเร้า สุขจากภายใน เป็นสุขที่หาใดมาเปรียบไม่ได้”

... (ที่มา : สัจธรรมแห่งจักรวาล, ทันตแพทย์สม สุจีรา, สนพ.อมรินทร์ธรรมะ, 2557)

ความสงบ คือพุทธธรรม สงบ หรือสันติอยู่ในกลุ่มไวพจน์ของนิพพาน ได้แก่ อสังขตะ, สันติ, อมตธรรม, วิสังขาร, เกวละ (ไกวัลย), วิโมกข, วิมุตติ, โมกขะ, นิโรธะ, บรมธรรม ฯลฯ

สงบแท้ สุขแท้ จึงทรงค่า หรือมีค่าอย่างยิ่ง เกินกว่าจะหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้ อยากมี อยากเป็น อยากเห็น ก็ต้องปฏิบัติไปเรื่อยๆ ก็จะรู้เองเห็นเอง

ทั่วดินน้ำฟ้า...

“ดินน้ำฟ้า” คือธาตุ 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) หรือธาตุ 6 (ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ)

ตัวเรา คือภาพย่อของดินน้ำฟ้า

ดินน้ำฟ้า คือภาพขยายของตัวเรา

ดู หรือพิจารณาตัวเรา ให้เห็นดินน้ำฟ้า

ดู หรือพิจารณาดินน้ำฟ้า ให้เห็นตัวเรา

เท่านั้นแล ท่านจะเห็นสรรพสิ่งทั้งมวล ล้วนเป็นหนึ่งเดียว

มหาหนึ่งเดียว...

เราผู้แต่งตั้งตัวเองให้เป็นมนุษย์ หรือผู้ประเสริฐมีจิตใจสูง ดูๆ ไปก็ไม่แตกต่างกับนก ปลา ไส้เดือน

“นกไม่เห็นฟ้า ปลาไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนไม่เห็นดิน” เพราะอยู่กันจนชินชา

คนเราอยู่กับโลก แต่ไม่เห็นโลก คงเนื่องเพราะมีสิ่งปิดบังหนาแน่นเกินไป

ถ้าเราอยู่แต่ในถ้ำ ก็จะไม่เห็นถ้ำ เมื่อใดที่ออกจากถ้ำ ก็จะเห็นถ้ำ

ลองขึ้นไปที่สูงๆ แล้วมองลงมาข้างล่าง จะเห็นควายตัวเท่าหมูสูงขึ้นไปอีก ควายก็ไม่เห็นซะแล้ว ยิ่งไปมองดูโลกจากดวงจันทร์ โลกเราที่กว้างใหญ่ไพศาล จะเห็นเป็นดาวเล็กๆ เท่าลูกมะนาว (โดรประมาณ) เท่านั้น เป็นต้น

สิ่งต่างๆ มากมายก่ายกองบนผืนโลกนี้ แท้จริงมันเป็นสิ่งเดียวกัน แค่ลูกมะนาว หรือฝุ่นผงธุลีเล็กๆ เท่านั้นเอง

หากดูจากที่สูงมากเท่าไหร่ สิ่งที่เห็นบนพื้นโลกก็ยิ่งเล็กลงเท่านั้น หรือไม่เห็นไม่มีอะไรเลย

นี่คือ... “หนึ่งคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่ง” หรือ “ทั่วดินน้ำฟ้า มหาหนึ่งเดียว”

เห็นสรรพสิ่งทั้งมวลเป็นเช่นนี้ ชีวิตจึงจะตื่นรู้ (จากหลับยืน) เบิกบาน ฟรีมายด์แอนด์สบายได้

“ธรรมะเบิกบาน

สุขศาสนติ์ทรงค่า

ทั่วดินน้ำฟ้า

มหาหนึ่งเดียว”

ธรรมะมีทั้งเศร้าหมองและผ่องใส ธรรมะมีทั้งห่อเหี่ยวและเบิกบาน ธรรมะมีทั้งหวานหอมและเหม็นเปรี้ยว ดูดอกไม้กำลังผลิบานสิ กลิ่นหอมของมันที่เลื่อนไหลออกมาจากภายในนั้น ช่างเบิกบาน สดชื่น แจ่มใส กลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วโลกหล้าและจักรวาล ใครๆ ก็รักและปรารถนาดอกไม้หอม ส่วนดอกไม้เหม็นใครๆ ก็ชังและปฏิเสธ

จากภายในของดอกไม้ เมื่อความหอมมีมากเกินแล้ว ก็เลื่อนไหลออกมาเองอย่างอิสรเสรีเต็มที่ ไม่มีพันธนาการกับสิ่งใดๆ

คนดีคนชั่ว หรือคนหอมคนเหม็น ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้หอมดอกไม้เหม็น จะมีต่างบ้างก็ตรงที่ดอกไม้หอมเหม็นบริสุทธิ์ ไม่สวมหน้ากาก ส่วนคนไม่ค่อยบริสุทธิ์และมักสวมหน้ากาก

ดอกไม้หอม-คนดี ย่อมได้รับการชมและส่งเสริม นี่คือธรรมะ-ธรรมดา

ดอกไม้เหม็น-คนชั่ว ย่อมได้รับการข่มและลงโทษ นี่คือธรรมะ-ธรรมดา

จะอย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ ทั้งหอมและเหม็น ทั้งดีและชั่ว ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเพียงฝุ่นผงธุลีเล็กๆ แห่งจักรวาลเช่นนั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น