xs
xsm
sm
md
lg

เจ้ามาจากไหน

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

มีคำธรรมดาอยู่คำหนึ่ง ที่ผมชอบพูดและเขียนถึงบ่อยๆ (ผมคิดขึ้นเอง) คือ “ชีวิตคือการเดินทาง ออกจากบ้าน แล้วกลับบ้าน” และมีเสียงสะท้อนกลับ “โหล่ยโท่ย” อยู่เสมอ ผมไม่ถือสา ไม่ว่าอะไร (คงไม่ได้เรื่องอย่างเขาว่า) แต่กลับมีพลังที่จะใช้คำนี้ ประโยคนี้ต่อไป เพราะมันคือความรู้สึกลึกๆ ภายในใจผม

ทุกคนย่อมมีที่มาเหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง แต่จริงๆ แล้ว ทุกชีวิตมาจากที่เดียวกันคือ บ้าน จะเรียกบ้านเก่าบ้านใหม่หรือบ้านอะไรก็ได้ ไม่มีกฎข้อบังคับข้อจำกัดอย่างใด ไร้ลิมิตว่างั้นเถอะ

ลองดูง่ายๆ พื้นๆ ตื่นเช้าขึ้นมาออกจากบ้านไปทำงาน ตอนเย็นงานเลิกกลับบ้าน พักผ่อน เช้าก็ไป เย็นก็กลับ เป็นอย่างนี้แทบทุกวัน

“เจ้ามาจากไหน ก็ไปที่นั่น” เป็นคำถามคำตอบอยู่ในตัว ถอดรหัสถามตอบให้ง่ายเข้าอีก “ตายแล้วไปไหน-ก็ไปบ้านเก่า” นะซิ วลีเหล่านี้นิยมถาม-ตอบกันมาทุกยุคสมัย ราวกับว่าไม่เชื่อไม่เข้าใจอะไรเลย (คงขาดการพิจารณามั้ง)

คำว่า “บ้านเก่า” ก็คือบ้านที่เจ้ามานั่นแหละ ตอนกลับอาจจะไม่ถึงบ้าน อาจจะเพลิดเพลินติดอกติดใจกับนรกและสวรรค์ตามรายทาง จนหาทางกลับบ้านไม่ถูก

คำว่า “บ้านเก่า” ก็มีความเห็นไปต่างๆ นานา สำหรับผมเองมีความเห็นว่า “บ้านเก่าก็คือความว่าง” นั่นเอง เรามาจากความว่าง แล้วก็กลับคืนสู่ความว่าง ผู้จิตว่างไม่หลงทางอย่างแน่นอน

ความว่างคืออะไร? มีคำใดที่เป็นไวพจน์เรียกแทนความว่างได้บ้าง ปรากฏมากมายอยู่แล้ว ผู้สนใจใฝ่รู้แสวงหาได้ตามอัธยาศัย

พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกของโลก เราเคารพนับถือพระพุทธองค์ ก็ควรสนใจศึกษาสัจธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอ สัจธรรมนั้นได้แก่...

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีความดับไป เป็นธรรมดา

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น เพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไป เมื่อเหตุดับ

สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด

บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์ และกิเลสสานุสัยทั้งปวง ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้น

ก่อนที่พระพุทธองค์จะปรินิพพาน พระองค์ตรัสว่า...

“ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลาย ให้จำมั่นไว้ว่าสิ่งทั้งปวงมีความเสื่อมและความสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ในที่สุด แม้พระพุทธองค์เอง ก็ต้องประสบอวสานเหมือนคนทั้งหลาย พระธรรมที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนมชีพว่า สัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนั้น เป็นสัจธรรมที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เอง

... (วศิน อินทสระ/พระพุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน/สนพ.ธรรมดา)

ชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นสิ่งเที่ยงแท้แน่นอน ก่อนจะตาย ก็ควรมีสิ่งดีๆ ช่วยเหลือเป็นกำลังใจ เป็นบุญหนุนส่งผู้กำลังจะจากไป หรือผู้กำลังจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติใหม่ หรือผู้กำลังจะกลับบ้านเก่ากันบ้าง...

ท่านครูบาฮวงโป กล่าวว่า...ถ้าคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง เมื่อเขาร่อแร่จวนจะตาย หากว่าเขาสามารถเพียงแต่เห็นว่ามูลธาตุทั้งห้า ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างเปล่า และเห็นว่ามูลธาตุทางรูปกายนั้น ไม่ใช่สิ่งซึ่งประกอบขึ้นเป็นตัว “ข้าพเจ้า” และเห็นว่า จิต จริงแท้นั้นไม่มีรูปร่าง และไม่ใช่สิ่งที่มีการมาหรือการไป และเห็นว่า ธรรมชาติเดิมแท้ของเขานั้น เป็นสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งมิได้มีการตั้งต้นขึ้นที่การเกิด หรือมิได้มีการสิ้นสุดลงที่การตายของเขา แต่เป็นของสิ่งเดียวรวด และปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆ ในส่วนลึกจริงๆ ของมันทั้งหมด และว่า จิต ของเขากับสิ่งต่างๆ ซึ่งแวดล้อมเขาอยู่นั้น เป็นสิ่งๆ เดียวกัน ถ้าเขาสามารถทำได้ตามนี้จริงๆ เขาจะลุถึงการรู้แจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น

เขาจะเป็นผู้ที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับโลกทั้งสามอีกต่อไป เขาจะเป็นผู้อยู่เหนือโลกได้ เขาจะไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว

แม้หากว่า เขาจะได้มองเห็นภาพอันรุ่งโรจน์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์กำลังเสด็จมาต้อนรับเขา ห้อมล้อมไปด้วยสิ่งอันวิจิตรตระการตาทุกชนิด เขาก็ไม่เกิดความรู้สึกอยากเข้าไปใกล้สิ่งเหล่านั้น หรือถ้าเขาจะได้มองเห็นสิ่งอันน่าหวาดเสียวทุกๆ ชนิดมาแวดล้อมอยู่รอบตัวเขา เขาก็จะไม่รู้สึกกลัวเลย

เขาจะเป็นแต่ตัวของเขาเองเท่านั้น ที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง และเป็นสิ่งๆ เดียวกันกับ “สิ่งสูงสุด” สิ่งนั้น เขาจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้น นี่แหละคือหลักธรรมะที่เป็นหลักมูลฐานในที่นี้ (ข้อความแห่งบรรพที่ 18 นี้ บางทีจะเป็นคำอธิบายชั้นเลิศของนิกายเซ็นชิ้นหนึ่ง เพราะว่าได้ประมวลเอาสติปัญญาอันกว้างขวางและแหลมคมทั้งหมดทั้งสิ้น เข้ามาไว้ในถ้อยคำเพียงไม่กี่คำ)

... (คำสอนฮวงโป/พุทธทาสภิกขุ-แปล/สนพ.ธรรมสภา)

ท่านครูฮวงโป ท่านแนะนำให้ดูความว่าง ให้รู้ให้เห็นความว่าง ถ้ารู้เห็นได้จริง ก็การันตีได้ว่า กลับถึงบ้านเก่า ที่เรามาได้แน่ๆ ไม่ต้องวนๆ เวียนๆ อยู่กับนรกสวรรค์อีกต่อไป

การจะรู้เห็นความว่าง ก็ไม่ใช่ของง่ายๆ แม้คนดีๆ สุขภาพแข็งแรง ก็ยากจะเข้าใจ ทั้งๆ ที่ความว่างก็อยู่รอบๆ ตัวเรา อยู่กับเรา อยู่ภายในตัวเรา

ขอแนะนำ โศลก 4 บาทในวัชรสูตร ซึ่งเคยกล่าวถึงเขียนถึงบ่อยๆ (ก็เห็นผลมาบ้างแล้ว)

“สังขตธรรมทั้งปวง
ดุจฝันมายาฟองน้ำรูปเงา
ดุจนิศาชลและอสนี
ควรพินิจด้วยอาการเช่นนี้แล”

เป็นหลักธรรมประจำใจที่สุดยอดของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ สุขภาพแข็งแรงยังฟิตแอนด์เฟิร์ม และคนใกล้จะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติใหม่ (ใกล้จะตาย)

จะเป็นที่ยึดที่เกาะของชีวิต เป็นขอนไม้ได้เกาะยามเรือล่ม เป็นเกาะน้อยๆ กลางทะเล ยามว่ายหาฝั่งไม่เจอ เป็นเรือข้ามฟาก เป็น “สุญญตาวิหารธรรม” คือเป็นธรรมที่อยู่ของผู้รู้ ตื่น เบิกบาน

ไหนว่า... “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”

ใช่แล้ว “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวตน ตัวฉัน-ของฉัน ตัวเธอ-ของเธอ”

จะข้ามแม่น้ำก็ต้องอาศัยเรือขี่ข้าม เมื่อถึงฝั่งแล้ว ก็เดินไปตัวเปล่า สบายๆ คงไม่มีใครแบกเรือไปด้วย การแบกการยึดติด ทำให้หนักเป็นทุกข์ แปลกนะที่ยังมีคนนิยม ทั้งแบกทั้งหอบกันอยู่

หรือสังคมโลกทุกวันนี้เป็น “สังคมเถรส่องบาตร” คือเห็นคนอื่นทำก็ทำตามเขา โดยคิดว่าดีทั้งที่ไม่รู้เหตุผล

ชีวิตดั่งฝัน
กระสันอยู่ไย

ชีวิตไม่ใช่ตัวตน ชีวิตเหมือนความฝัน ความฝันเป็นมายา มายา (มารยา) ไม่ใช่ของจริง เป็นสิ่งลวง หรือการแสร้งทำ หรือเล่ห์กล

ว่าให้ครอบจักรวาล “สิ่งทั้งมวลล้วนมายา”

เมื่อรู้เห็นสัจธรรมเช่นนี้แล้ว ยังกระสันอยากอยู่อยากเป็นไปทำไม เพราะอะไร? รู้ว่าเขาหลอก ยังเต็มใจให้หลอก อย่างงั้นรึ?

ถ้างั้นก็แล้วไป แบกต่อไป เป็นเหยื่อต่อไป บ่นต่อไป สร้างคุกสร้างกำแพงขังตนให้ใหญ่ขึ้น สูงขึ้น มั่นคงขึ้นจะได้กลายเป็น “สุดยอดๆๆ แห่งผู้โง่เขลา ผู้เอาทุกขังๆๆ เป็นสรณะ”

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ปรมาจารย์พุทธศาสนา กล่าวว่า...การไม่รู้ความจริงของสิ่งทั้งปวง แล้วหลงไปว่า มีของเป็นคู่ๆ เช่น ดี-ชั่ว สุข-ทุกข์ บุญ-บาป ดำ-ขาว ชาย-หญิง มี-จน ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น ถ้ามองให้ลึกซึ้งถึงความจริงแล้ว มันเป็นเพียงสังขารธรรมหรือมายาเหมือนกันหรือเท่ากัน จึงไม่มีอะไรที่จะตรงกันข้ามเป็นคู่ไปได้ เมื่อไม่รู้สึกเป็นคู่ ก็ไม่รู้สึกรักทางหนึ่ง แล้วเกลียดในทางตรงกันข้าม ความคิดปรุงแต่งก็ไม่มี เมื่อความคิดปรุงแต่งไม่มี จิตก็เข้าถึงความว่าง หรือเข้าถึงความเป็นจิตเดิมแท้ หรือจิตหนึ่งนั่นเอง คำสอนนิกายนี้ (เซ็น) จึงย้ำมากที่สุด เรื่องไม่ให้เกิดความคิดปรุงแต่งไปตามคติทวินิยม

จิตที่ปรุงแต่งนั้น ไม่ใช่จิตแท้ มันเป็นมายาเท่ากับสิ่งทั้งปวง ความคิดปรุงแต่งก็เป็นอย่างเดียวกัน ถ้าจิตปรุงแต่งหรือความคิดปรุงแต่ง กำลังมีอยู่หรือทำหน้าที่อยู่ จิตแท้หรือจิตหนึ่งนั้นจะไม่ปรากฏเลย เมื่อใดไม่มีความคิดปรุงแต่ง จิตหนึ่ง ก็ปรากฏทันที เรียกอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าจิตเข้าถึงความว่าง ตัวเองหายกลายเป็นความว่างหรือจิตหนึ่งไป ความคิดปรุงแต่งนั้น เจือด้วยอุปาทานหรือความยึดถือในของคู่ๆ หรือคติทวินิยมนั่นเอง ถ้าไม่หลงในของคู่ อุปาทานก็ไม่เกิด คือกิเลสตัณหาไม่เกิดนั่นเอง สภาพจิตเดิมแท้จะปรากฏออกมาเป็นความว่างจากกิเลสตัณหา หรืออุปาทานโดยประการทั้งปวง

ฟังคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสแล้ว แจ้งจ่างป่างไหมครับ อนุตตระสว่างวาบไหมครับ?

ท่านครูบาฮวงโป กล่าวสั้นๆ รู้ทันธรรมเป็นเลิศ นั่นคือ...

“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง (One Mind) นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย”

คนยังเฟิร์ม คนแก่ คนเจ็บ และคนใกล้จะมรณาท่องไว้ ตระหนักไว้ยังไม่ตายก็ปล่อยวาง ว่างเบา ไม่เอาอะไรแล้ว หากตายไป ไม่รู้จะเป็นอย่างไร พอดูจากข้อเท็จจริงที่ทำถึงแก่น ก็น่าจะมีแสงสว่างนำทางไปสู่สิ่งที่ดีที่เลิศได้แน่นอน (ถ้าไม่มีตัวตน ก็ไม่มีคนตาย)

“เจ้ามาจากไหน
ก็ไปที่นั่น
ชีวิตดั่งฝัน
กระสันอยู่ไย”

ชีวิตคือการเดินทางออกจากบ้านแล้วกลับบ้าน บางคนกำลังออกจากบ้าน บางคนกำลังวกกลับบ้าน บางคนถึงบ้าน บางคนไม่ถึงบ้าน ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยหรือกรรมของแต่ละคน บอกกันได้ ทำแทนกันไม่ได้

ทุกคนต่างก็อยากได้ “สิ่งสูงสุด” หากันมา ปฏิบัติกันมา หลายภพหลายชาติ หลายโลกหลายจักรวาลแล้ว ก็ยังไม่เจอ พอค้นหาที่ตัวเองเท่านั้นแหละ โดยไม่ต้องทำอะไร ไม่มีพิธีกรรมอะไร ไม่ฝึกปฏิบัติอะไร ก็พบสิ่งที่หาตลอดมาเอาง่ายๆ ที่หน้าผากของเรานี่เอง ซึ่งมันอยู่กับเราตลอดเวลา ที่ผ่านมา ที่เราไม่เห็นเพราะเราประมาทมัน ไม่สนใจมัน ไม่มองมัน กลับไปมองหาแต่ข้างนอก ตามกระแสโลกแบบเถรส่องบาตรแห่ขนกันไป แบกหอบกันมาหาความพอดีไม่ได้

จงอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตามที่พระพุทธองค์ทรงบอกทรงสอนเป็นวาระสุดท้ายเถิด

ความไม่ประมาท ก็คือความมีสติ รู้เห็นสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง ชีวิตก็จะนิ่งได้ สงบได้ สิ่งมายาหลอกลวง หรือจิตใหม่เทียม “จิตคิดปรุงแต่ง” ก็จะสลายหายไป สิ่งสูงสุดหรือจิตเดิมแท้ (จิตไร้คิดปรุงแต่ง) ก็จะเข้ามาแทนที่ จิตไหนจะดำรงคงอยู่สั้นๆ ประเดี๋ยวประด๋าวหรืออยู่ยาวๆ นานๆ ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราหรือสติของเราว่าจะอ่อนหรือแข็งปานใด

ตัวเราที่มีตัวตน หรือตัวเราที่ไร้ตัวตนเท่านั้นเป็นผู้ลิขิตหรือผู้กระทำ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ตถตา เช่นนั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น