ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใกล้ได้ข้อยุติกันทั้ง 2 ทาง สำหรับเรื่อง "การจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง"
ทางแรก มีกระแสข่าวว่า ฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้รับเรื่องจาก มล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง ที่ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เรื่องแนวทางการจ่ายเงินเยียวยากับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2556-2557 ก็คือ มวลมหาประชาชน กปปส. นั่นเอง โดยมีการส่งเรื่องไปให้ร่วมสองสัปดาห์แล้ว
ล่าสุด มีข่าวว่ากฤษฎีกาจะถกเรื่องนี้กันในช่วงนี้ และน่าจะได้ข้อยุติอย่างช้าในไม่เกินสองสัปดาห์ต่อจากนี้ โดยอาจจะทำเป็นความเห็นของกรรมการกฤษฎีกาว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้กับกลุ่มกปปส. รวมถึงการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ที่ตกค้างมา ควรมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร
กฤษฎีกาคงไม่ถึงกับมีการระบุตัวเงินออกมาว่า วงเงินที่เหมาะสมที่รัฐบาลคสช. ควรจ่ายนั้นควรอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายกฤษฎีกา
อีกทั้ง แม้ต่อให้กฤษฎีกามีความเห็นอะไรออกมา ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องทำตามด้วย เพราะการที่ส่งเรื่องไปให้กฤษฎีกาพิจารณานั้น เป็นแค่ลักษณะการขอความเห็น ในฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายฝ่ายบริหารเท่านั้น สมมุติว่า กฤษฎีกาเห็นว่ารัฐบาลสามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ เพราะเคยมีการทำกันมาแล้วสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แค่หากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เกรงว่าจะมีปัญหาตามมา ก็อาจชะลอเรื่องไว้ก็ได้ หากเกรงว่าจะมีปัญหาต่อมาในภายหลัง
ส่วนอีกทางหนึ่งที่บอกว่าใกล้ได้ข้อสรุปด้วยก็คือ การไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังมีการสอบสวนเบื้องต้นกันมานาน
ล่าสุดมีข่าวว่า ป.ป.ช. ใกล้จะได้ข้อสรุปในเร็ววัน อาจจะเป็นปลายเดือนนี้ แต่ตามนิสัยของป.ป.ช. ที่มักจะเลื่อนประจำ ดังนั้นที่บอกว่าอาจได้ข้อสรุปในเดือนนี้ ดูแล้วก็น่าจะเป็นช่วงเมษายนมากกว่า ซึ่งการสอบสวนของป.ป.ช. จะเป็นปัจจัยสำคัญของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เลยในการพิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับ กปปส. หรือไม่ เพราะหาก ป.ป.ช.บอกว่าการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ผิด มีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย ก็เชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้ก็คงสบายใจขึ้น และน่าจะเห็นชอบให้มีการจ่ายเงินเยียวยาโดยทันที หลังมีมติป.ป.ช.ออกมา
แต่หากตรงกันข้ามถ้า ป.ป.ช. ตั้งแท่นเอาผิดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ทั้งคณะ ก็คงทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ดองเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาไว้แน่นอน เพราะคงไม่อยากมีคดีความติดตัว หลังจากพ้นจากอำนาจให้ยุ่งยากใจ
ดังนั้น การตัดสินใจของรัฐบาล ในการจ่ายเงินเยียวยาทางการเมืองให้กับกลุ่มกปปส. ดูแล้ว เบื้องต้น คงรอผลการพิจารณาของป.ป.ช.ออกมาก่อน คงไม่
เร่งทำอย่างรีบร้อน และน่าเชื่อว่า รัฐบาลเอง ถึงหากมีการจ่ายเงินจริง วงเงินก็คงไม่เท่ากับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่วงเงินสูงสุดเคยให้กับญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองทุกสี ทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ร่วมๆ 7.75 ล้านบาท ที่ถูกวิจารณ์กันหนักว่า เป็นวงเงินที่สูงเกินไป
กรณีนี้ถือเป็นการวัดใจ ความสัมพันธ์ระหว่าง คสช.-พลเอกประยุทธ์กับพระสุเทพ และกปปส.เลยทีเดียว
เพราะที่มาที่ไปของการที่รัฐบาลมีแนวคิดอาจจะจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าว ก็มาจากการที่มีข่าวว่า พระสุเทพ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาล เพื่อขอให้เร่งรัดติดตามคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุม รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองในปี 56-57 จนต่อมา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอกวิลาศ อรุณศรี ได้ทำหนังสือถึงฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงความคืบหน้าเรื่องนี้
โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีได้นำความเห็นของหน่วยงาน กราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วโดยเห็นว่า เนื่องจากกระบวนการชดเชยเยียวยาและฟื้นฟู ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเป็นองค์ประกอบ และเงื่อนไขที่มีความจำเป็นต่อกระบวนการสร้างความปรองดอง รวมถึงการป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในการนี้นายกรัฐมนตรี จึงมีบัญชาดังนี้
1.มาตรการเยียวยาในส่วนที่เป็นตัวเงิน
มอบหมายสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการ โดยสอบถามความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงแนวทางดำเนินการชดเชยเยียวยาตัวเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในช่วงปี 2556 - 2557 และให้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาหลักเกณฑ์และเสนแนวทางการเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในปี 2556 - 2557 อย่างถูกต้องตามหลักการและเป็นธรรม โดยนำปัญหาในทางปฎิบัติจากผลดำเนินการในปี 2553 มาประกอบการพิจารณา
2.มาตรการเยียวยาด้านมนุษยธรรมที่ไม่ใช่ตัวเงิน มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำรวจปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการเยียวยาด้านมนุษยธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทุกฝ่ายตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 - 2557 ในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงิน อาทิ การบำบัดฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ การช่วยเหลือหาอาชีพให้คนพิการ ทุพพลภาพหรือผู้ที่สูญเสียหัวหน้าครอบครัว การดูแลการศึกษาแก่ลูกกำพร้า เป็นต้น
3.มอบหมายกระทรวงยุติธรรม ติดตามและเร่งรัดความคืบหน้าด้านคดีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2557 ของทุกฝ่าย
4.ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่อง
หลังมีข่าวเรื่องนี้ออกมา รัฐบาลยังไม่มีข้อสรุปว่า จะจ่ายเงินหรือไม่ และจ่ายเท่าไหร่ แต่ก็ปรากฏว่า ฝ่ายกปปส.บางคน ก็บอกว่าควรได้รับเท่ากับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการจ่ายเงินเยียวยานั้น ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาคัดค้านการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างหนัก มีการยื่นเรื่องไปฟ้องที่ศาลปกครอง แต่ศาลปกครองสูงสุด ยกคำร้อง และต่อมาเลยไปยื่นเรื่องที่ป.ป.ช. ให้สอบสวนเรื่องนี้ จนมาวันนี้ ป.ป.ช.ใกล้จะสรุปผลแล้ว
โดยผู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้ตอนนั้นก็คือ สาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.ระยอง หลายสมัย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนปัจจุบันนั่นเอง
รู้กันดีว่า สาธิต คือกำลังหลักของสุเทพ ในการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมืองในช่วงกปปส. แต่ ต่อมาได้ลดบทบาทลงหลังได้รับเลือกให้เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเกรงปัญหาเรื่องจะมีการร้องยุบพรรค
โดยการยื่นเรื่องของ สาธิต ต่อป.ป.ช.นั้น ยื่นเอาผิด ยิ่งลักษณ์และพวก ในฐานความผิด มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ในปี 2552 และ 2553 โดยไม่มีอำนาจ และระเบียบรองรับ เพราะต้องจ่ายตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องเหมือน เช่น พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าใช้จ่ายในคดีอาญา พ.ร.บ. สงเคราะห์ผู้ประสบภัย แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีเจตนาทุจริต เพื่อจ่ายเงินหวังผลทางการเมืองของพรรคพวกตนเอง
แม้ประชาธิปัตย์ไม่ได้ค้านการจ่ายเงินเยียวยาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เคยจ่าย แต่ค้านการจ่ายเงินโดยผิดระเบียบ ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ที่ผ่านมา ปชป. หลายคนก็บอกว่า สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ่ายเงินมากเกินไป ดังนั้นหลายคนก็เลยงงๆ ที่มีคนใน กปปส. บอกว่าหากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะจ่ายเงิน ก็ควรจ่ายเท่ากับสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มันเลยเป็นอะไรที่ดูจะขัดแย้งกันเองไปเสียหน่อย
การช่วยเหลือและจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องดีแน่นอน แต่หลักเกณฑ์ความเหมาะสมว่า ควรจ่ายแบบไหน จ่ายเท่าไหร่ ช่วยเหลืออย่างไร เป็นเรื่องที่ควรมีการวางบรรทัดฐาน ที่ทุกฝ่ายยอมรับออกมาเสียที ไม่ใช่เป็นการจ่ายเพื่อเอาใจกันทางการเมือง ถ้าแบบนี้ทุกฝ่ายเห็นด้วยแน่นอน
อยู่ที่พลเอกประยุทธ์ และคสช. แล้วว่า จะเอาอย่างไร เพราะ กปปส. เขารอฟังคำตอบอยู่ตอนนี้ ?