ตั้ง “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช.สอบรายละเอียดตัวเลขการจ่ายเงิน คดี “ครม.ปู” เยียวยาเสื้อแดง 577 ล้าน เร่งรวบรวมหลักฐานแจ้งข้อกล่าวหาเร็วๆ นี้ เผยคณะกรรมการเยียวยาเหยื่อการเมือง ปี 2548-2557 เตรียมถกนัดแรก 13 มี.ค.นี้ จ่อเยียวยาคนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ดูสภาพจิตใจ หางานให้การศึกษาทายาท เผยเงิน 7.5 ล้านบาท ต้องดูความเหมาะสม
วันนี้ (9 มี.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีการแสวงหาข้อเท็จจริงในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-2553 วงเงิน 577 ล้านบาท ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจดูว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง นอกจากนี้ยังให้ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งปลายปี 2557 เข้ามาตรวจสอบในรายละเอียดตัวเลขการจ่ายเงิน รวมไปถึงพยานหลักฐานต่างๆ ด้วย เนื่องจาก น.ส.สุภามีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปิดบัญชี และเคยทำงานเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังมาก่อน ส่วนจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้เมื่อใดนั้น นายวิชากล่าวว่า คงจะต้องรอให้มีการสรุปคดีก่อนจึงจะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจน
ต่อคำถามที่ว่ากรณีนี้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบจะมีเพียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ นายวิชากล่าวว่า เป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลขณะนั้น รวมไปถึงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) อีกด้วย
สำหรับ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว ที่ออกมาเปิดเผยว่าการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเมื่อ 31 ธ.ค. 2555 นั้นพบว่ามีข้าวสารหายไปถึง 1 ล้านตัน
อีกด้านหนึ่งที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ ตนในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการดูแลเรื่องการเยียวยาผู้ที่มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการชุมนุมทางการเมืองในห้วงปี 2548-2557 เตรียมจะประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกกระทรวง ทบวง กรม เพือหาแนวทางและแก้ไขปัญหา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อย (คสช.) ในเรื่องการสร้างความปรองดองและการเยียวยา โดยกลุ่มเป้าหมายจะพิจารณาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรง คือ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแต่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม คือ ครอบครัวที่ขาดผู้นำ ก็จะเข้าไปเยียวยาในเรื่องของสภาพจิตใจ หางานให้ทายาท ตลอดจนการศึกษา ส่วนกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงเคยได้รับการเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 7.5 ล้านบาทนั้น ต้องพิจารณาถึงมาตรฐานในการจ่ายด้วย ตลอดจนถึงความสอดคล้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ทราบว่าทางคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาอยู่