ป.ป.ช.เล็งสรุปข้อกล่าวหา ครม.ยิ่งลักษณ์จ่าย 557 ล้านเยียวยาเสื้อแดงโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เร็วๆ นี้ ด้านกระทรวง พม.-ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์ฯ-สปน.เตรียมถกกฤษฎีกาหาข้อกฎหมายรับรองจ่ายเยียวยา กปปส. "ปนัดดา-อดุลย์"ยันจ่ายทุกด้าน ไม่เฉพาะการเมือง
วันนี้(27ก.พ.)มีรายงานว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมสรุปเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบคณะรัฐมนตรีรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีจ่ายเงินเยียวยาคนเสื้อแดงที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมช่วงปี พ.ศ.2548-2553 จำนวน 577 ล้านบาทโดยไม่มีกฎหมายรองรับ
โดยกรณีนี้มีการร้องเข้ามา ป.ป.ช.นานแล้ว และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้รับเรื่องไว้รวมถึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนข้อเท็จจริง มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนการไต่สวนคดี โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ กำลังจะสรุปเรื่องเพื่อเสนอต่อกรรมการ ป.ป.ช.ในเร็วๆ นี้ ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้องหรือไม่
รายงานระบุว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยา กปปส.จะเป็นการรับรองมติ ครม.ที่เสนอโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ถูกต้องหรือไม่
กล่าวคือในที่ประชุมเมื่อปลายปี 2557 คณะทำงานของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พม.คนปัจจุบัน มีมติเสนอให้นำหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 มาใช้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2557 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดใหม่
แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. จึงเห็นควรให้ใช้กรอบวงเงินการช่วยเหลือตามมติ ครม.ของปี 2551 มาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปพลางก่อน จนกว่าหลักเกณฑ์ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 ผ่านการไต่สวนจาก ป.ป.ช.แล้วไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์การเยียวยาปี 2548-2553 ซึ่งจ่ายผู้เสียชีวิตรายละ 7,950,000 บาท
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปี 2551 กำหนดให้จ่ายเงินเยียวยา ดังนี้ ผู้เสียชีวิต รายละ 400,000 บาท ผู้ทุพพลภาพและต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ รายละ 400,000 บาท ทุพพลภาพ รายละ 200,000 บาท บาดเจ็บสาหัส (นอนโรงพยาบาลเกิน 20 วัน) รายละ 100,000 บาท บาดเจ็บ (นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 20 วัน) รายละ 60,000 บาท และบาดเจ็บเล็กน้อย (ผู้ป่วยนอก) รายละ 20,000 บาท
ในการประชุมครั้งนั้นได้มอบหมายให้กระทรวง พม.ตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 และเพิ่มเติมจากที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่เคยมอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นผู้ดูแลตรวจสอบตั้งแต่เดือน พ.ย.
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์
ว่า ขณะนี้ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความข้อกฎหมายในทุกบริบท ว่าควรเป็นอย่างไร และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาในการรอคำตอบจากสำนักงานกฤษฎีกา สปน.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมารองรับภารกิจนี้ไปพลางๆ ก่อน รวมถึงปรึกษาหารือกันว่าจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาใครบ้างจะอยู่ในข่ายที่จะได้รับการเยียวยา และเมื่อกฤษฎีกามีการตอบในประเด็นข้อกฎหมายแล้ว ก็สามารถทำงานได้ทันที เชื่อกว่ากระบวนการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาไม่นาน ซึ่งทุกอย่างจะพิจารณาด้วยความรอบคอบเพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น จึงยืนยันว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2556-2557 เพื่อสร้างความปรองดอง โดยมาตรการเยียวยาด้านมนุษยธรรมที่ไม่ใช่ตัวเงิน ได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) สำรวจปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการเยียวยาด้านมนุษยธรรมของผู้ได้รับผลกระทบฯ อาทิ การบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การช่วยเหลือหาอาชีพ การให้คำแนะนำด้านกฎหมาย เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกคนที่ได้ผลกระทบดังกล่าว
โดยเบื้องต้นได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งข้อกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาตามภารกิจของกระทรวง พม.เพื่อให้มีความพร้อมในมาตรการเยียวยาด้านมนุษยธรรมที่ไม่ใช่ตัวเงิน โดยมุ่งเน้นการเยียวยาประชาชนทุกคนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง