กปปส.จี้รัฐจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเทียบเท่าเงินเยียวยาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้าน “ปนัดดา” ยันจ่ายทุกกลุ่ม ไม่ใช่แค่ กปปส. สั่ง สปน.เร่งนัดประชุมหน่วยงาน เดินหน้าจ่ายเงินเยียวยาเหยื่อม็อบการเมือง ปี 56-57
กรณีกระแสข่าวรัฐบาลได้ส่งหนังสือถึงนายเอกนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยเนื้อหาระบุว่า พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลให้ชดเชยเยียวยาแก่เหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ปี 56-57 ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ดำเนินการชดเชยเยียวยาในส่วนที่เป็นตัวเงินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ. 2556-2557
วันนี้ (26 ก.พ.) ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า สปน. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งนำเรื่องดังกล่าวไปศึกษาและปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการโดยเร็วตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ซึ่งจะมีการนัดประชุมกันในเร็วๆ นี้ โดยจะนำหลักเกณฑ์การพิจารณาจ่ายเงินชดเชยเยียวยาที่มีอยู่แล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วมาศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเป็นการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม กปปส.เท่านั้น โดยการจ่ายชดเชยเยียวยาจะเป็นไปตามกฎระเบียบ ไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง
ส่วนกรณีนี้รัฐบาลได้มีการหารือในเบื้องต้นแล้วหรือไม่ว่าการจ่ายเงินชดเชยเยียวยากรณีของผู้เสียชีวิตจะเป็นรายละ 7.5 ล้านบาท เหมือนที่รัฐบาลชุดที่แล้วกำหนด ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า วงเงินค่าชดเชยเยียวยาต้องเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันก่อนแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ได้รับหนังสือจากรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวแล้ว รัฐบาลส่งมาให้รับรู้เพื่อเป็นข้อมูล ไม่น่าจะมีอะไร เพราะเราได้เคยพูดไปหลายครั้งเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเป็นผู้พิจารณา
ขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.กล่าวว่า กปปส.ได้ทำหนังสือไปถึงรัฐบาลตั้งแต่ช่วงปลายปี 57 แล้ว โดยชี้แจงเหตุผลการชุมนุม หลักการเยียวยา พร้อมกับส่งข้อมูลผู้ที่เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมไปให้ด้วย
ทั้งนี้ ยืนยันว่าเราชุมนุมด้วยความสงบตามรัฐธรรมนูญ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ ควรได้รับการเยียวยาตามหลักเกณฑ์ ส่วนรัฐบาลจะเยียวยาเท่าไหร่นั้น รัฐบาลต้องพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะตามหลักเกณฑ์เดิมในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น มีการปรับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยในสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท ดังนั้นผู้สูญเสียจึงสมควรได้รับการเยียวยาเหมือนในอดีต เพราะการเยียวยาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความปรองดอง
รายงานระบุว่า ในการประชุมหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง ของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อปีที่ผ่านมา
ในที่ประชุมมีมติเสนอให้นำหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 มาใช้กับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันกับรัฐบาลชุดใหม่ แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. จึงเห็นควรให้ใช้กรอบวงเงินการช่วยเหลือตามมติ ครม.ของปี 2551 มาใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนไปพลางก่อน จนกว่าหลักเกณฑ์ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 และมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 ผ่านการไต่สวนจาก ป.ป.ช.แล้วไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์การเยียวยาปี 2548-2553 ซึ่งจ่ายผู้เสียชีวิตรายละ 7,950,000 บาท
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปี 2551 กำหนดให้จ่ายเงินเยียวยา ดังนี้ ผู้เสียชีวิต รายละ 400,000 บาท ผู้ทุพพลภาพและต้องฟื้นฟูสมรรถภาพ รายละ 400,000 บาท ทุพพลภาพ รายละ 200,000 บาท บาดเจ็บสาหัส (นอนโรงพยาบาลเกิน 20 วัน) รายละ 100,000 บาท บาดเจ็บ (นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 20 วัน) รายละ 60,000 บาท และบาดเจ็บเล็กน้อย (ผู้ป่วยนอก) รายละ 20,000 บาท
ในการประชุมครั้งนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2557 และเพิ่มเติมจากที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่เคยมอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นผู้ดูแลตรวจสอบตั้งแต่เดือน พ.ย.