xs
xsm
sm
md
lg

“อดุลย์” เรียกประชุมเยียวยาม็อบ กปปส.เช้า 27 ก.พ.นี้ คาดใช้หลักเกณฑ์รัฐบาลเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เยียวยาแต่เช้า! 27 ก.พ.นี้“อดุลย์ แสงสิงแก้ว”เรียกประชุม ศูนย์ปฏิบัติการเยียวยาด้านมนุษยธรรม และสำรวจปัญหาความเดือดร้อน แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2556 - 2557 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี คาดใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาของรัฐบาลเดิม

วันนี้ (26 ก.พ.) มีรายงานว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีคำสั่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมศูนย์ปฏิบัติการ(ศปก.) เยียวยาด้านมนุษยธรรม และสำรวจปัญหาความเดือดร้อน แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ช่วงปี 2556 - 2557 ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ เวลา 08.30 น. เพื่อที่จะได้ดำเนินการเยียวยา ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว

มีรายงานว่า พม.หลักเกณฑ์การพิจารณาอยู่แล้ว ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการนำแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ในการเยียวยาผลกระทบกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมต่อไป และให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม เช่น การบำบัดฟื้นฟูร่างกายจิตใจ ช่วยเหลือในการหาอาชีพ และให้คำแนะนำด้านกฎหมาย

“การเยียวยาช่วยเหลือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวนั้น ทาง พม. สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้ ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับ หลักเกณฑ์จ่ายเงิน "เยียวยาทุกสี" เหยื่อชุมนุมการเมือง 2548-2553 ของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาตามมติ ครม. ปี 2555 (คณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2548 ถึงเดือนพ.ค.2553 ดังนี้

ข้อกำหนดทั่วไป

ข้อ 1.การเยียวยาด้านการเงินภายใต้หลักเกณฑ์ฉบับนี้จะจำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 เท่านั้น โดยความหมายของคำว่า "ผู้เสียหายกลุ่มที่ 1" และคำอื่นๆ ที่ใช้ในหลักเกณฑ์ฉบับนี้ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ต่อไปนี้

"คณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งฯ" หมายถึง คณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่ 1/2555 ลงวันที่ 12 ม.ค.2555 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งและการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น

"คณะทำงาน" หมายถึง คณะทำงานที่แต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งฯ

"เงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐ" หมายถึง เงินที่ทางราชการจ่ายให้ หรือจะจ่ายให้ไม่ว่าภายใต้หลักเกณฑ์ใดๆ ซึ่งมีเหตุที่มาของการจ่ายเช่นเดียวกันกับเงินเยียวยา

"เงินเยียวยา" หมายถึง เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะสำคัญ เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส เงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจกรณีเสียชีวิต เงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจกรณีทุพพลภาพ เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล และเงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ ตามจำนวนและรายละเอียดอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค.2555 เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของปคอป.ดังกล่าว

"ผู้มีสิทธิได้รับการเยียวยา" หมายถึง บุคคลต่างๆ ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาภายใต้หลักเกณฑ์ฉบับนี้

"ผู้เสียหายกลุ่มที่ 1" หมายถึง ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือสื่อมวลชนที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส หรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เนื่องจากการอยู่ในสถานที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553) โดยที่ตนมิได้เป็นบุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับความเหมาะสมหรือไม่ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบก่อนให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน

"เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553)" หมายถึง เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งต่อไปนี้ คือ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2548 เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 เหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) เหตุ การณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อขับไล่ รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเม.ย.2552 และเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช. ระหว่างเดือน เม.ย.ถึงพ.ค.2553

"ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย" หมายถึง เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแต่ไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะเป็นผู้ป่วยใน

"ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส" หมายถึง เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะเป็นผู้ป่วยใน เป็นเวลาไม่เกิน 20 วัน

"ได้รับบาดเจ็บสาหัส" หมายถึง เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลในฐานะเป็นผู้ป่วยในเป็นเวลาเกิน 20 วัน

"ทุพพลภาพ" หมายถึง การสูญเสียประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) ขาทั้งสองขาด

(2) เท้าข้างหนึ่งกับขาอีกข้างหนึ่งขาด

(3) มือหรือแขนข้างหนึ่งกับเท้าหรือขาอีกข้างหนึ่งขาด

(4) มือทั้งสองข้างขาด

(5) แขนทั้งสองข้างขาด

(6) มือข้างหนึ่งกับแขนอีกข้างหนึ่งขาด

(7) บกพร่องทางการเห็น ซึ่งหมายถึง (ก) สูญเสียลูกตาทั้งสองข้าง (ข) สูญเสียลูกตาข้างหนึ่งและความสามารถในการมองเห็นโดยสายตาอีกข้างหนึ่งเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดาแล้วอยู่ในระดับแย่กว่า 3/60 (ค) ความสามารถในการมองเห็นโดยสายตาทั้งสองข้างอยู่ในระดับแย่กว่า 3/60

(8) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ศีรษะ และ/หรือกระดูกสันหลังเป็นเหตุให้มือหรือแขนทั้งสองข้าง มือข้างหนึ่งกับแขนข้างหนึ่ง เท้าหรือขาทั้งสองข้าง เท้าข้างหนึ่งกับขาอีกข้างหนึ่ง มือหรือแขนข้างหนึ่งกับเท้า หรือขาอีกข้างหนึ่ง สูญเสียสมรรถ ภาพในการทำงานโดยสิ้นเชิง

(9) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่ศีรษะอันเป็นเหตุให้เกิดความผิดปกติของความรู้สึกตัว และ/หรือจิตฟั่นเฟือน และ/หรือวิกลจริตจนไม่สามารถปฏิบัติงานได้และไม่สามารถรักษาให้หายได้

(10) สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของอวัยวะในส่วนหนึ่งส่วนใดหรือในหลายส่วนของร่างกาย นอกจากที่กำหนดไว้ใน (1) ถึง (9) ซึ่งคณะทำงานหรือแพทย์มีหนังสือรับรองวินิจฉัยว่าทุพพลภาพ

"สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ" หมายถึง สูญเสียอวัยวะอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในความหมายของการสูญเสียอวัยวะสำคัญเป็นการถาวร

"การสูญเสียอวัยวะสำคัญ" หมายถึง สูญเสียอวัยวะประการใดประการหนึ่งดังต่อไปนี้เป็นการถาวร

(1) เสียลูกตาข้างหนึ่งหรือเสียสมรรถภาพในการมองเห็นร้อยละห้าสิบขึ้นไป

(2) เสียแขนหรือมือข้างหนึ่ง

(3) เสียขาหรือเท้าข้างหนึ่ง

ข้อ 2 ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ

2.1 ให้ผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ที่ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส หรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา

2.2 ในกรณีที่ผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 เป็นผู้เสียชีวิต ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

(1) บุตร-ได้รับส่วนแบ่งหนึ่งส่วน หากมีบุตรมากกว่าหนึ่งคนให้ได้รับส่วนแบ่งคนละหนึ่งส่วน

(2) สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย-ได้รับส่วนแบ่งหนึ่งส่วน

(3) บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่ยังมีชีวิตอยู่-ได้รับส่วนแบ่งรวมกันหนึ่งส่วน

(4) ผู้อยู่ในอุปการะที่คณะทำงานเห็นสมควรให้ได้รับส่วนแบ่ง-ได้รับส่วนแบ่งไม่เกินคนละหนึ่งส่วน

(5) ผู้ให้การอุปการะที่คณะทำงานเห็นสมควรให้ได้รับส่วนแบ่ง-ได้รับส่วนแบ่งไม่เกินคนละส่วน

ให้คณะทำงานมีอำนาจกำหนดส่วนแบ่งให้แก่บุคคลในลำดับที่ (4) หรือลำดับที่ (5) ได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินคนละหนึ่งส่วน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีบุคคลไม่ครบทุกลำดับข้างต้น ให้จ่ายเงินเยียวยาเฉพาะแก่บุคคลในลำดับที่มีเท่านั้น โดยจะไม่มีการตกทอดทางมรดกไปยังทายาทตามกฎหมายอื่นๆ ของผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ที่เป็นผู้เสียชีวิต หรือทายาทตามกฎหมายของบุคคลในลำดับใดๆ ที่เสียชีวิตไปแล้ว

การทำหน้าที่ของคณะทำงานให้อยู่ภายใต้กรอบอำนาจที่อนุ กรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งฯ กำหนด

2.3 นอกจากเงินชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจกรณีทุพพลภาพและเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล ผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ที่ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส หรือได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาเพียงกรณีเดียวเท่านั้น เช่น ผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ที่ได้รับเงินเยียวยาในกรณีทุพพลภาพจะไม่มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในกรณีสูญเสียอวัยวะสำคัญหรือในกรณีอื่นใดอีก

2.4 ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาจะได้รับเงินเยียวยาก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ภายใต้หลักเกณฑ์ฉบับนี้ครบถ้วนเรียบร้อยแล้วเท่านั้น

2.5 ให้นำจำนวนเงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับไปแล้ว (ถ้ามี) มาหักออกจากจำนวนเงินเยียวยาที่จะได้รับภายใต้หลักเกณฑ์ฉบับนี้ และเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับเงินเยียวยาภายใต้หลักเกณฑ์ฉบับนี้แล้ว ให้ถือว่าสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐเป็นอันระงับสิ้นไป

หลักเกณฑ์เดิม ยังระบุถึง เอกสารประกอบคำร้องเพื่อลงทะเบียน ขอรับเงินเยียวยา โดยให้จ่ายเงินเยียวยาเฉพาะแก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาที่ได้ยื่นคำร้องด้วยตนเอง หรือโดยผู้รับมอบอำนาจเพื่อลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาภายในเวลาที่กำหนดและได้นำเอกสารต่างๆ ต่อไปนี้มายื่นประกอบคำร้องด้วย

1.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา (และของผู้รับมอบอำนาจในกรณียื่นโดยผู้รับมอบอำนาจ)

2.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา (และของผู้รับมอบอำนาจในกรณียื่นโดยผู้รับมอบอำนาจ)

3.หนังสือมอบอำนาจ (ในกรณียื่นโดยผู้รับมอบอำนาจ)

4.สำเนาใบมรณบัตรของผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ที่เป็นผู้เสียชีวิต

5.ใบรับรองแพทย์ที่แสดงได้ว่าผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553)

6.ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาลแสดงจำนวนเงินที่ได้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 จากการบาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (พ.ศ.2548-2553)

7.เอกสารที่แสดงได้ว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยามีความเกี่ยวข้องกับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 ที่เป็นผู้เสียชีวิตในฐานะเป็นบุตร สามีหรือภรรยา บิดาหรือมารดา ผู้อยู่ในอุปการะ หรือผู้ให้การอุปการะ (แล้วแต่กรณี)

8.เอกสารอื่นๆ ที่คณะทำงานกำหนด

กรณีเอกสารไม่ถูกต้องหรือครบถ้วนตามที่กำหนดข้างต้น ให้คณะอนุกรรมการด้านการเยียวยาทางแพ่งฯ มีอำนาจพิจารณาความเหมาะสมและจำเป็นของเอกสาร ว่า เพียงพอที่จะพิสูจน์สิทธิได้รับเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ โดยอาจเทียบเคียงกับแนวทางปฏิบัติของทางราชการตามที่เห็นสมควร


กำลังโหลดความคิดเห็น