xs
xsm
sm
md
lg

“ครม.ปู ชุด 1-2 - ยงยุทธ - ปกรณ์” มีหนาวคดีเยียวยาเสื้อเเดง 577 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะรัฐมนตรี ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 (แฟ้มภาพ)
ป.ป.ช. เตรียมสรุปคดีจ่ายเยียวยาเสื้อเเดงปี 48 - 53 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ภายในเดือนนี้ “ยิ่งลักษณ์ - ยงยุทธ วิชัยดิษฐ - ปกรณ์ พันธุ” จ่อหนัก เปิดหลักฐาน กมธ. สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา “คอป.” ยืนยันไม่เคยเสนอวงเงินเยียวยาเสื้อแดง ระบุ “ยงยุทธ” เป็นผู้กำหนด

วันนี้ (4 มี.ค.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริง คดีกล่าวหาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง (ตั้งแต่ปลายปี 48 - พ.ค. 53) รอบแรก จำนวน 524 ราย วงเงินรวม 577 ล้านบาท ว่า คดีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงว่า จ่ายเงินเยียวยาถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือไม่ มีการจ่ายเงินแค่กลุ่มการเมืองใดการเมืองหนึ่ง และไม่ได้จ่ายอีกกลุ่มหนึ่งหรือไม่

“เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รายงานว่า ดำเนินการสืบสวนพยานครบหมดแล้ว คาดว่า ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการเสนอเรื่องให้อนุกรรมการฯ ที่มี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน เพื่อพิจารณาว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่” นายปานเทพ กล่าว และตอบกรณีที่ว่า คดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาคือคณะรัฐมนตรีใช่หรือไม่ ว่า ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือ รัฐมนตรีทั้งคณะ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

มีรายงานว่า คดีนี้มีคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงาน ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) และ นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ถูกกล่าวหา

รายงานระบุด้วยว่า ปัจจุบัน นายปกรณ์ พันธุ มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ โดยได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการตั้งแต่เดือน ก.ค. 2556 ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2556 ซึ่ง นายปกรณ์ เป็นผู้เปิดรายชื่อผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองครั้งนั้น จำนวนทั้งสิ้น 522 ราย โดยเป็นผู้เสียชีวิต จำนวน 44 ราย ทุพพลภาพ 6 ราย บาดเจ็บสาหัส 56 ราย บาดเจ็บทั่วไป 177 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 239 ราย ทั้งนี้ ในรายชื่อผู้เสียชีวิต 44 ราย

ขณะที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งก่อนหน้าปี 2556 ได้ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เคยพูดถึงเงินเยียวยากับคนเสื้อแดง ว่า “การที่มาพูดว่าจ่ายเงินแพงไปหรือถูกไป แต่ชีวิตของคนที่สูญเสียมันตีราคามนุษย์ว่าราคามนุษย์คนนี้แพงไปหรือถูกไป ผมว่าเป็นเรื่องที่จะต้องคิดกันให้ดี แต่สำหรับความเห็นของ ปคอป. ก็มีความเห็นที่ตรงกับสื่อบางฉบับ ที่บอกว่า ชีวิตมนุษย์จะซื้อด้วยราคา หรือมาชดเชยด้วยเงินคงไม่ได้ ไม่มีใครอยากเสียชีวิต อยากที่จะมีชีวิตต่อไปด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น ขึ้นอยู่ความเห็นของแต่ละคน”

สำหรับ คดีนี้ ป.ป.ช. มีหลักฐานว่า ในคราวการประชุม ครม. (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2556 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี เสนอต่อที่ประชุม ครม. ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติให้ดำเนินการไต่สวน ครม.

“ดังนั้น เพื่อให้ ครม. สามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง จึงเห็นควรมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รับเรื่องนี้ไปศึกษารายละเอียดของข้อกฎหมาย ระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏเรื่องเงียบหายไปโดยมิได้มีความคืบหน้าหลังจาก ครม.สั่งการแต่อย่างใด”

โดยการเยียวยาครั้งนั้น ยังเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ในการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2555 เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของ ปคอป.

มีรายงานด้วยว่า เมื่อคราวการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2555 นายสมชาย หอมละออ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เข้าชี้แจงถึงหลักเกณฑ์การชดเชยเยียวยาฯ โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขจำนวนเงินในการเยียวยาดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับทาง คอป. ซึ่งทางคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ปคอป. ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน เป็นผู้กำหนด แต่ถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยเฉพาะตัวเลขของการชดเชย เยียวยาด้านความสูญเสียทางจิตใจ หากรัฐบาลดำเนินการไม่รอบคอบ จะเป็นผลเสียต่อการปรองดองมากกว่า ส่วนเงินชดเชยเยียวยาดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานอื่นๆ ต่อไปในสังคมหรือไม่นั้น ตนเห็นว่าอาจจะใช้เป็นบรรทัดฐานในกรณีอื่นๆ ได้ แต่ตัวเลขในการเยียวยาต้องมีความเหมาะสม และสมควรในกรณีนั้นๆ ด้วย


นายปกรณ์ พันธุ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น