xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อะเมซิ่งราคาน้ำมันไทย แพงกว่าสหรัฐฯ15บาทต่อลิตร ตีค่าสัมปทาน 6 แสนล้าน อ้าว...ไหนว่ากระเปาะเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ข่าวการปรับราคาน้ำมันของคณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา สร้างความยินดีปรีดาแก่ประชาชนถ้วนหน้า โดยเฉพาะเศรษฐีขี่เก๋งเติมเบนซินที่ลงไปถึง 1-2 บาทต่อลิตร ขณะที่ดีเซลกดลงได้แค่จิ๊บจ๊อยทั้งที่ใช้สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากที่สุด

กบง.ยังมีข่าวดีที่มาพร้อมกัน ก็คือตรึงราคาก๊าซหุงต้มไว้คงเดิมแม้ว่าราคาตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้น หลังเพิ่งขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ปตท.ผูกขาดอยู่เจ้าเดียวไปหมาดๆ

แต่ที่เป็นข่าวร้ายสำหรับชาวไทยชนิดที่ทำใจยอมรับได้ยาก ก็คือ ราคาน้ำมันที่ลดลงคราวนี้ที่ว่าลดลงมาได้มากแล้ว ยังแพงกว่าสหรัฐฯ ถึงลิตรละ 12 -15 บาท

สำหรับรายละเอียดในการปรับราคาน้ำมันนั้น เป็นผลมาจากการปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุม กบง. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2558 ว่า กบง.เห็นชอบปรับโครงสร้างอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ด้วยการลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เบนซิน 2 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 โซฮอล์ 91 และ E20 ลดเก็บเงินส่ง 1 บ./ลิตร ดีเซล 0.20 บ./ลิตร ลดการชดเชย E 85 ลง 1 บ./ลิตร มีผลตั้งแต่ 10 มี.ค.เป็นต้นไป และได้ขอความร่วมมือให้ผู้ค้าลดราคาตามอัตราดังกล่าว คือเบนซินลง 2 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 และ E 20 ลง 1 บ./ลิตร และดีเซลลง 0.50 บ./ลิตร เพราะมีค่าการตลาดเหลืออยู่ ส่วน E 85 คงเดิม

การปรับโครงสร้างดังกล่าว ส่งผลให้อัตราการเก็บเงินกองทุนน้ำมันฯใหม่ ดังนี้ เบนซิน 95 เป็น 7.15 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 2.25 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 เป็น 1.25 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ E20 จากจัดเก็บ 0.20 บ./ลิตรเป็นชดเชย 0.80 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ E 85 เป็นชดเชยเหลือ 7.23 บ./ลิตร ส่วนดีเซลเป็น 3.15 บ./ลิตร ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมัน ปตท. และบางจาก ตั้งแต่ 10 มี.ค.เป็นต้นไป มีราคาขายปลีกน้ำมันใหม่ ดังนี้ เบนซิน 95 เป็น 34.86 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เป็น 29.30 บ./ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 เป็น 27.98 บ./ลิตร E85 เป็น 23.48 บ./ลิตร ดีเซลเป็น 26.89 บ./ลิตร

นอกจากนี้ กบง.ยังพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เดือนมี.ค. 2558 ตามนโยบายลอยตัวราคาสะท้อนกลไกตลาด ด้วยการประกาศราคาขายปลีกเปลี่ยนแปลงเป็นรายเดือน พบว่า ราคาตลาดโลก เดือนมี.ค. 2558 อยู่ที่ 484 เหรียญ/ตันปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. 2558 อีก 22 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งทำให้ราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจากแหล่งผลิตและจัดหาของLPGต้องปรับขึ้น 0.19 บาท/กก. จากประมาณ 16.40 บ./กก.ขึ้นไป 16.59 บ./กก. ส่งผลให้ราคาขายปลีกLPGปรับเพิ่ม 0.21 บ./กก.จาก 24.16 บ./กก. เพิ่มเป็น 24.37 บ./กก.

แต่อย่างไรก็ตาม กบง.เห็นชอบตรึงราคาไว้คงเดิมที่ 24.16 บาทต่อกก. เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน โดยการลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของLPG ลง 0.19 บาท/กก. จากประมาณ 0.54 บาท/กก. เหลือ 0.35 บาท/ กก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2558 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้กองทุนน้ำมันในส่วน LPG มีรายรับลดลงประมาณ 73 ล้านบาท/เดือน ส่วนก๊าซ NGV ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากประชาชนยังไม่พอใจกับการขึ้นราคาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน กบง.ยังเห็นชอบปรับอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลให้ใกล้เคียงกับน้ำมันแก๊สโซออล์ 95 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ที่เก็บอยู่ 5 บาทต่อลิตร โดยกระทรวงการคลัง จะปรับสรรพสามิตดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร และภาษีเทศบาล 0.10 บาทต่อลิตร และเพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาขายปลีก กบง.จึงมีมติลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ของดีเซลลง 1.10 บาทต่อลิตร โดยจะออกประกาศกบง.เพื่อให้บังคับใช้ในวันที่มีการปรับเพิ่มภาษีฯดีเซล แต่จะไม่มีผลให้ราคาขายปลีกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดซึ่งปัจจุบันภาษีสรรพสามิตดีเซลอยู่ที่ 3.25 บาท/ลิตร เป้าหมายก็จะเก็บอีก 1 บ./ลิตร ภาษีดีเซลจะขยับเป็น 4.25 บ./ลิตร ซึ่งภาษีฯดีเซลครั้งนี้จะทำให้คลังมีรายได้เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท/เดือน โดยฐานะของกองทุนน้ำมันฯ เวลานี้มีเงินสุทธิ 35,000 ล้านบาท

ถึงแม้ว่า กบง.จะปรับลดราคาน้ำมันลงและถือเป็นข่าวดี แต่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน เชื่อว่าไม่ได้ทำให้ประชาชนหายหงุดหงิดแต่อย่างใด เพราะราคาที่แล้วยังสูงอยู่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

เรื่องนี้ น.ส.รสนา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า กบง.ประกาศลดราคาน้ำมัน เบนซิน 2 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอลล์ 1 บาท/ลิตร และดีเซล 20สตางค์/ลิตร มีผลในวันที่10มี.ค. 58 หลังจากขึ้นราคาตลอดเดือนก.พ. 5ครั้งๆ ละ 60สตางค์/ลิตร รวม3บาท และขึ้นราคาอีก60สตางค์/ลิตรในต้นมี.ค. ที่ผ่านมา รวมที่ขึ้นราคามา 3.60บาท/ลิตร ในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ขณะนี้กองทุนน้ำมันมีเงินสะสมถึงกว่า 3.3 หมื่นล้านบาทแล้ว

"การลดราคาในวันนี้ ก็ยังคงเป็นการลดแบบจิ๊บจ๊อยพอให้ประชาชนหายหงุดหงิด แต่เมื่อดูราคาน้ำมันในสหรัฐอเมริกาเปรียบเทียบดู ราคาน้ำมันของเรายังแพงกว่าสหรัฐลิตรละ 14-17บาท/ลิตร ลดราคาวันนี้แล้ว ราคาของเราก็ยังแพงกว่าสหรัฐลิตรละ 12-15บาท

หลังได้ข่าวดีที่ได้ลดราคาน้ำมันวันนี้แล้ว ก็ขอให้รอข่าวร้ายในเร็วๆ นี้ต่อไป ที่กระทรวงพลังงานจะมีนโยบายให้ยกเลิกผลิตแก๊สโซฮอลล์ 91 ให้เหลือแค่แก๊สโซฮอลล์ 95 และคนไทยต้องใช้ราคาน้ำมันแพงเข้าไว้เพื่อสนองนโยบายประหยัดพลังงานที่คนในแวดวงพลังงานและรัฐบาลพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ถ้าราคาพลังงานถูกเกินไป ประชาชนก็จะไม่ประหยัด"

ตอกย้ำกันเหลือเกินว่าถ้าหากทำให้พลังงานราคาถูกประชาชนจะใช้กันอย่างไม่ประหยัด โดยงานนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาล ส่งจดหมายตอบกระทู้งานรัฐบาลผ่านสังคมออนไลน์ ในประเด็นการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ปรับขึ้นไปก่อนหน้านี้โดยระบุว่า การเพิ่มราคา NGV เป็นนโยบายของทุกรัฐบาลที่พยายามจะทำให้ราคา NGV สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยที่ผ่านมามีการอุดหนุนโดยภาครัฐจากทุกรัฐบาล ความสำเร็จในการลอยตัว NGV เพิ่งสำเร็จในรัฐบาลนี้ เพราะการที่รัฐคอยชดเชยส่วนต่างทำให้ราคาก๊าซถูกเกินความเป็นจริง ประชาชนก็จะใช้อย่างไม่ประหยัด

นอกจากนั้น อาจมีการลักลอบนำไปขายต่างประเทศเพราะราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การชักชวนให้ใช้ NGV เป็นการผลักดันของภาครัฐไม่ใช่ ปตท. โดยมีเหตุผลคือ NGV เป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและแหล่งบนบกในประเทศซึ่งเมื่อใช้ NGV จะทำให้การใช้น้ำมันดิบและการนำเข้าลดลง ลดการสูญเสียเงินตราออกไปต่างประเทศ พร้อมทั้งลดการพึ่งพิงพลังงานจาดต่างประเทศ อีกทั้ง NGV นั้นเป็นพลังงานสะอาด เผาไหม้หมดจดกว่าเบนซินและดีเซล ลดปัญหามลภาวะทางอากาศได้ในส่วนที่บอกว่า NGV ทำมาจากก๊าซที่ต้องเผาทิ้ง ไม่เป็นความจริง ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยนั้นจะถูกใช้ทั้งหมด ดังนี้ 1. ผลิตกระแสไฟฟ้า 2. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 3. โรงงานอุตสาหกรรม 4. ภาคขนส่ง (NGV)

พล.ต.สรรเสริญ ซึ่งทำเสมือนเป็นโฆษก ปตท. อีกตำแหน่ง ออกมาแก้ต่างให้กับปตท.ต่ออีกว่า ในประเด็นที่บอกว่าไม่ส่งแก๊สนั้น ไม่ได้เกิดจากการไม่อยากขาย แต่เนื่องจากในช่วงนั้นอาจจะไม่มีก๊าซธรรมชาติเพียงพอในการผลิต NGV (อาจมีการหยุดผลิตในแหล่งจากพม่าหรือในอ่าวไทย) การที่ไม่อยากขายเองไม่สามารถทำได้ เพราะมีกรมธุรกิจพลังงานควบคุมอยู่/มีแต่ไม่ขายผิดกฎหมาย)

“การไม่ขยายปั๊มนั้น ไม่จริง ปตท.มีหน้าที่ที่ต้องขยายสถานีบริการให้ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ในแต่ละปีตามที่ตกลงไว้กับกระทรวงพลังงาน การที่อาจจะมองว่าล่าช้าเนื่องจากในการขยายสถานี NGV นั้น ในหลายจุดต้องรอแนวท่อก๊าซธรรมชาติให้ไปถึงก่อนถึงจะติดตั้งสถานีได้ โดยในบางครั้งแนวท่ออาจสร้างล่าช้าได้ในประเด็นที่บอกว่ามีคนอยากทำสถานีบริการมากนั้น สามารถติดต่อโดยตรงกับ ปตท.ได้แต่ผู้ที่อยากทุกท่านอาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง เน้นด้านความปลอดภัยและอาจไม่อยู่ในแนวท่อก๊าซธรรมชาติผ่าน ณ ตำแหน่งนั้นๆ”

แบบนี้ ปตท.อย่าลืมตบรางวัลอย่างงามให้กับรองโฆษกรัฐบาลที่ทำหน้าที่ปกป้องปตท.ได้อย่างน่าประทับใจ

ส่วนคนไทยก็ได้แต่ก้มหน้าใช้พลังงานในราคาที่สุดอะเมซิ่งแพงระยับกันต่อไป เพราะรัฐบาลเห็นว่าราคาแพงๆ อย่างนี้มาถูกทางแล้วเพื่อว่าจะได้รู้จักใช้สอยพลังงานกันอย่างประหยัด

เช่นเดียวกับเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่กลุ่มทุนพลังงานป่าวประกาศว่า ปริมาณน้ำมันของไทยมีไม่มาก ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้โพสต์ข้อความในแฟนเพจ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยตั้งหัวข้อว่า “ไหนว่ากระเปาะเล็ก?” ทั้งหมด 3 ตอน และตีแผ่ความจริงไปในทิศทางตรงกันข้าม

ทั้งนี้ ปานเทพได้ตั้งคำถามและข้อสังเกตจากเอกสารนำเสนอของกระทรวงพลังงานที่เสนอต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในอ่าวไทย เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2557 ซึ่งพบว่า รัฐมีข้อมูลการสำรวจแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยแล้ว ทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ พบว่า มีศักยภาพ จึงมานำเสนอต่อผู้ลงทุน ดังนั้น การอ้างว่าไม่ต้องสำรวจเพราะจะไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงจึงฟังไม่ขึ้น จริงหรือไม่?

เอกสารดังกล่าวระบุว่า ทั้ง 6 แปลงสัมปทานในอ่าวไทย ล้วนแล้วแต่ติดแปลงสัมปทานเดิม มีการสำรวจแล้วทั้ง 2 มิติ และ 3 มิติ พอสมควรจนถึงขั้นประเมินมูลค่าปิโตรเลียมว่าจะมีน้ำมัน 191 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 362,258 ล้านบาท และมีก๊าซอีกประมาณ 1.34 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นเงินมูลค่าประมาณ 257,280 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 619,538 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการประเมินทรัพย์สินปิโตรเลียมในอ่าวไทยของกระทรวงพลังงานที่สูงมาก

“ข้ออ้างที่ว่ากระเปาะเล็ก จะพบปิโตรเลียมน้อย จึงขัดแย้งกับข้อมูลของภาครัฐอย่างสิ้นเชิงใช่หรือไม่? และเมื่อรู้ปริมาณและมูลค่าสูงเช่นนี้ รัฐจึงควรพิจารณาบริหารจัดการให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐไม่ใช่เปิดสัมปทาน ทั้งๆ ที่รัฐประเมินปริมาณและมูลค่าอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วจริงหรือไม่?” ปานเทพระบุ

นายปานเทพ ยังตั้งคำถามอีกว่า เมื่อรัฐรู้มูลค่าทรัพย์สินเฉพาะในแปลงสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 (เฉพาะในอ่าวไทย) สูงถึง 619,000 ล้านบาท แต่เหตุใดรัฐกลับกำหนดหรือประเมินการลงทุนเงินให้เปล่าขั้นต่ำในวันลงนามสัญญา ที่เรียกว่า Minimum Signature Bonus รวมกันทุกแปลงในอ่าวไทยเพียงแค่ 330 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่ามูลค่าทรัพย์สินปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะยกให้เอกชนผู้รับสัมปทานถึง 187,475 %

นายปานเทพ ระบุอีกว่า ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษที่รัฐแจ้งกับประชาชนว่าเราจะได้มากนั้น แท้ที่จริงแล้วจากตารางดังกล่าวยังได้ระบุค่า K (ค่าคงที่แสดงสภาพทางธรณีวิทยาของแปลงสำรวจ) ซึ่งจะนำค่านี้ไปรวมกับ ความลึกสะสมรวมของหลุมเจาะทั้งหมด (เมตร) ก่อน เมื่อได้ค่าเท่าไหร่แล้วจึงนำไปเป็นตัวหารกับจำนวนรายได้ต่อปี ซึ่งหากผลที่ได้ออกมาต่ำกว่าที่กำหนดผู้ได้รับสัมปทานจะได้รับการยกเว้นเรียกเก็บผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษทันที เพราะเหตุใดในปี 2532 รัฐกำหนดค่า K ในอ่าวไทยเอาไว้เพียง 150,000 เมตร บัดนี้รัฐได้เพิ่มตัวช่วยหารนี้มากถึง 600,000 เมตร จะเป็นผลทำให้รัฐจะได้ผลตอบแทนพิเศษน้อยกว่าเดิมมากจริงหรือไม่? และเป็นการเอื้อประโยชน์กับนักลงทุนมากไปหรือไม่?

“จากข้อมูลและเหตุผลข้างต้น เมื่อมีข้อมูลรู้ว่าแปลงสัมปทานในอ่าวไทยมีศักยภาพเช่นนี้ รัฐจึงควรกำหนดเป็นนโยบายในการทำให้ปิโตรเลียมเหล่านี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเอง มีความคุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อการสำรวจเพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่กระทรวงพลังงานประเมินเองกว่า 600,000 ล้านบาท แม้จะอ้างว่ารัฐบาลไทยไม่มีความสามารถที่จะสำรวจหรือผลิตเอง รัฐบาลก็สามารถจ้างเอกชนสำรวจได้ (เงินมีอยู่แล้วในกองทุนน้ำมันที่รัฐเก็บจากประชาชนจน กำไรไป 35,000 กว่าล้านบาท) เมื่อพบว่ามีปิโตรเลียมมากก็สามารถจ้างเอกชนเพื่อผลิตได้ และหากมีเหตุอ้างว่าไม่มีเงินลงทุนในการขุดเจาะก็สามารถเปิดประมูลให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนแล้วแข่งกันเสนอผลตอบแทนให้รัฐในระบบแบ่งปันผลผลิตได้ จริงไหม?” นายปานเทพสรุปในตอนท้าย

เอ้า....ไหนว่ากระเปาะเล็กล่ะจ๊ะ


กำลังโหลดความคิดเห็น