xs
xsm
sm
md
lg

รสนาจี้ยุบกองทุน ฉะรัฐล้วงกระเป๋าปชช. จับตากบง.เคาะLPG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "รสนา"ฉะ "พลังงาน" เสพติดล้วงเงินกระเป๋าประชาชนเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ย้อนถามใช้หลักการอะไรถึงได้ยังคงเก็บเงิน ทั้งที่มียอดสะสมทะลุ 3 หมื่นล้านบาทแล้ว ขอให้ชาวบ้านได้หายใจหายคอบ้าง แฉแค่ก.พ.เดือนเดียว น้ำมันขึ้น 5 ครั้ง ตามด้วยต้นมี.ค.อีก 60 สตางค์ ด้านผู้ค้าแนะตรึงราคาแอลพีจีที่จะต้องปรับขึ้นเดือนมี.ค.ไว้ก่อน เพื่อดูแลค่าครองชีพให้ประชาชน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว จับตา กบง. เมิน เคาะขึ้นราคา 10 สตางค์ต่อกิโล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 มี.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “เมื่อไหร่จะหยุดล้วงกระเป๋าประชาชนเข้ากองทุนน้ำมัน!?!” โดยมีข้อความว่า "กองทุนน้ำมันมียอดเงินสะสมสูงถึง 31,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2558 และแต่ละวันก็ยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันวันละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ทั้งที่ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันชดเชยน้ำมันเพียงชนิดเดียวในขณะนี้ คือ E85 เพียงวันละประมาณ 10 ล้านบาท

น.ส.รสนาระบุว่า การคงการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันจากประชาชนในอัตราเดิมทั้งที่เคยกำหนดว่าเมื่อมียอดเงินสะสมในกองทุนฯ ถึง 30,000 ล้านบาทแล้ว จะหยุดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

"การไม่ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ทั้งที่เป็นกองทุนนอกกฎหมาย และรัฐบาลก็ไม่มีทีท่าจะดำเนินการให้มีกฎหมายมารองรับกองทุนน้ำมันอย่างถูกต้องโดยเร็ว ยังคงปล่อยให้กองทุนน้ำมันเก็บเงินจากประชาชนเหมือนเก็บภาษี ทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการเก็บเงินประชาชนอย่างผิดกฎหมาย การที่ไม่มีการแก้ไขของรัฐบาลในอดีต ก็เพราะกองทุนน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้ใช้ง่าย ใช้คล่อง เพราะไม่มีการตรวจสอบที่เข้มงวดเหมือนเงินงบประมาณแผ่นดิน ผู้มีอำนาจย่อมติดใจไม่อยากเลิกเป็นธรรมดา"

น.ส.รสนาย้ำว่า เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ชี้แล้วว่ากองทุนน้ำมันเป็นกองทุนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รัฐบาลที่รัฐประหารเข้ามาเพื่อแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้อง ก็ควรรีบพิจารณาแก้ไข เว้นเสียแต่จะติดใจกองทุนประเภทนี้ เฉกเช่นเดียวกับนักการเมืองในอดีตที่ถูกตราหน้าว่าไร้ธรรมาภิบาล มีการทุจริตเป็นอาจิณ จึงควรระมัดระวังในพฤติกรรมอย่าให้ถูกมองไปได้ว่า เป็นพวก “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง”

การไม่ยกเลิกกองทุนน้ำมันโดยมีข้ออ้างสวยหรูว่าต้องเก็บกองทุนน้ำมันไว้เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกไม่ให้เปลี่ยนแปลงมากเกินไป แต่เมื่อไหร่จะถึงเวลาช่วยเหลือประชาชนด้วยเงินของเขาเองเล่า

นอกจากกระทรวงพลังงานจะไม่เคยช่วยเหลือประชาชนให้ได้ใช้ราคาน้ำมันตามกลไกตลาดที่แท้จริงแล้ว ซ้ำร้ายกว่าเก่า คือ มีการล้วงกระเป๋าประชาชนหนักกว่าเดิม คือทั้งล้วงกระเป๋าเงินจากประชาชนเข้ากองทุนฯ อย่างไม่ลดละแล้ว ยังปล่อยให้มีการขึ้นราคาน้ำมันแบบถี่ยิบ เฉพาะเดือนก.พ.เดือนเดียว ใน 28 วัน มีการขึ้นราคาน้ำมันหน้าปั๊มไปทั้งหมด 5 ครั้ง พอถึงต้นเดือนมี.ค. ก็ขึ้นราคาอีก 60 สตางค์/ลิตร

"ขอเสนอว่าไม่ควรขึ้นราคาน้ำมันหน้าปั๊มอีกแล้ว แต่กระทรวงพลังงานควรลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันลงลิตร 60 สตางค์ เพื่อให้ชาวบ้านได้หายใจหายคอกันบ้าง ให้พอมีเงินเหลือให้ลูกได้กินข้าวกินขนมกันบ้างเถิด"

อย่างไรก็ตาม น.ส.รสนา ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ดูเหมือนกระทรวงพลังงานจะรู้สึกเมามันในการล้วงกระเป๋าประชาชนที่ไร้การต่อสู้ เพื่อเอาเงินของประชาชนไปพักไว้ในกองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมาย และใช้จ่ายได้อย่างไร้การตรวจสอบ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจที่ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง กระทรวงพลังงานใช้หลักการอะไรที่ยังคงการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทุกวัน ทั้งที่กองทุนฯมีเงินสะสมมากกว่า 31,000ล้านบาทแล้ว และขึ้นราคาน้ำมันทั้งที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขณะนี้ อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 เหรียญ/บาร์เรล แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียขายน้ำมันเบนซิน 97 ที่มีไว้ขายคนต่างชาติอย่างคนไทยที่มีราคาแพงกว่า คนไทยที่ไปเที่ยวยังบอกมาว่าขณะนี้ราคาแค่ลิตรละ 17 บาทเท่านั้น

"การที่ประชาชนไร้เสียงต่อต้านไม่ใช่เพราะเห็นดีเห็นงามไปด้วย หรือไม่รู้สึกรู้สาอะไร แต่ที่ไม่สามารถขยับตัวได้เพราะติดกฎอัยการศึกของรัฐบาล ขอร้องเรียนผ่านมาถึงท่านนายกรัฐมนตรีว่าโปรดพิจารณาและแนะนำรัฐมนตรีของท่านในการกำกับหน่วยงานด้านพลังงานให้บริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล และให้มีความยุติธรรมด้านราคาน้ำมันต่อประชาชนมากกว่านี้ อย่าให้ประชาชนรู้สึกไปได้ว่า กฎอัยการศึกของรัฐบาลมีไว้เพื่อปิดปาก มัดมือมัดเท้า และล้วงกระเป๋าประชาชนอย่างไม่ให้มีทางสู้"

น.ส.รสนาสรุปในตอนท้ายว่า เพราะหากเหตุการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายสถานการณ์ โดยไม่มีการแก้ไข อาจทำให้ความคับข้องใจของประชาชนที่ประสบกับการใช้อำนาจตามอำเภอใจของรัฐมนตรีของท่านที่ไม่เกรงใจประชาชน เพราะถือว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง หากสั่งสมมากเข้าอาจจะทำให้ประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจและหมดความเชื่อถือว่ารัฐบาลจะทำเพื่อคุ้มครองประโยชน์ประชาชน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลของท่านอย่างแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้ได้มีความเคลื่อนไหวของผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ที่มีข้อเสนอถึงรัฐบาลขอให้ตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีออกไปก่อน เพื่อดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชนที่ในปัจจุบันกำลังซื้อเริ่มถดถอย และเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัว

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) กล่าวในเรื่องนี้ว่า กระทรวงพลังงานควรจะตรึงราคาขายปลีกแอลพีจีที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 24.16 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ไว้ก่อน แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีด้วยการลอยตัวราคาให้อิงตลาดโลก และจะมีการปรับเปลี่ยนราคาทุกเดือน โดยเห็นว่าราคาตลาดโลกแม้จะขยับขึ้น แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก และการตรึงราคา ก็ยังเป็นการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนด้วย

"ราคาแอลพีจีที่ขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนสู่ระดับ 24.16 บาทต่อกก. ก็ครอบคลุมกับต้นทุนที่แท้จริงได้มากพอสมควร จนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีภาระอุดหนุนส่วนต่างราคาเช่นในอดีต และฐานกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันก็มีสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว อีกทั้งช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี แรงซื้อประชาชนก็ต่ำ ก็ควรจะชะลอการปรับขึ้นราคาแอลพีจีเอาไว้ก่อน เพราะเห็นว่าราคาตลาดโลกก็ไม่ได้ขยับมาก ส่วนเดือนถัดไป ค่อยมาพิจารณากันใหม่ ส่วนยอดขายแอลพีจีครัวเรือนขณะนี้ภาพรวมก็ถือว่ายังทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจ “นายชิษณุพงศ์กล่าว

ทางด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐได้ประกาศราคาแอลพีจีหน้าโรงกลั่น โรงแยกและการนำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ 488 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือคิดเป็นราคาแอลพีจีขายปลีกครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรมอยุ่ที่ 24.16 บาทต่อกก. แต่ราคาตลาดโลกเดือน ก.พ. ต่ำกว่าราคาดังกล่าว จึงทำให้มีเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันอยู่ที่ 0.53 บาทต่อกก. ซึ่งเงินดังกล่าวได้เก็บสะสมไว้เพื่อแยกบัญชีออกมาตามจุดประสงค์ที่ไม่ต้องการให้มีการอุดหนุนราคาข้ามประเภทเช่นที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดราคาแอลพีจีตลาดโลกเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 490 กว่าเหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ราคาแอลพีจีขายปลีกควรจะปรับขึ้นอีกประมาณ 10 สตางค์ต่อกก. จาก 24.16 บาทต่อกก. เป็น 24.26 บาทต่อกก. ซึ่งจะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานเป็นประธานพิจารณาการเปลี่ยนแปลงราคาดังกล่าวเร็วๆ นี้

“ราคาดังกล่าว ยอมรับว่าหากจะตรึงไว้ ก็สามารถดำเนินการได้ด้วยการลดอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลงมา เพราะถือว่าเป็นอัตราที่ไม่มาก หากรัฐจะเลือกดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่ก็ขึ้นอยุ่กับ กบง. จะเห็นชอบแนวทางว่าจะเป็นอย่างไร" แหล่งข่าวกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น