“รสนา” ตอกรัฐ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” เดินนโยบายพลังงานต่อยอดยุค “ปู” ซ้ำร้ายใช้อำนาจพิเศษปิดปากเดินหน้าได้เร็วยิ่งกว่า ติงจะรีบร้อนเปิดสัมปทานรอบ 21 ไปทำไม ในเมื่อราคาก๊าซที่ผลิตในประเทศแพงกว่าราคาตลาดโลก
วันนี้ (13 ก.พ.) เมื่อเวลา 02.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซ สืบเนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายด้านพลังงานแบบ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” ตามข้อความดังนี้
“กระทรวงพลังงานประกาศขึ้นราคาน้ำมันทุกชนิด 30 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น E85 ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ของสหรัฐฯลดต่ำลงเหลือ 49 เหรียญ/บาร์เรล หรือ 10.17 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยไม่ลด ถ้ามีการลดก็เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันแทน แต่พอราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผงกหัวขึ้นมาเป็น 49.97 เหรียญ/บาร์เรล ในวันนี้ (12 ก.พ) กระทรวงพลังงานรีบประกาศขึ้นราคาน้ำมันสำเร็จรูปทันที 30 สตางค์/ลิตร
ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2558 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานได้อาศัยช่วงบ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ไม่มีประชาชนกล้าออกมาต่อต้าน เดินหน้าปรับราคาก๊าซหุงต้มยกแผง ด้วยการกำหนดราคาก๊าซหุงต้ม หรือ LPG จาก 3 แหล่ง และเอามาถัวเฉลี่ยราคากัน
1) ราคาก๊าซ LPG จากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นก๊าซจากอ่าวไทยถูกปรับราคาขึ้นจาก 333 เหรียญ/ตัน (10.98 บาท/กก.) เป็นราคา 498 เหรียญ/ตัน หรือ 16.43 บาท/กก.
2) ราคาก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมัน ใช้ราคาตลาดโลก (CP) - 20 เหรียญ ซึ่งขณะนี้ราคาตลาดโลกเหลือ 462 เหรียญ/ตัน ดังนั้น ราคาโรงกลั่นน้ำมันคือ 462 - 20 = 442 เหรียญ หรือ 14.58 บาท/กก.
3) ราคาLPG นำเข้า ใช้ราคา CP + 85 เหรียญ = 462 + 85 = 547 เหรียญ/ตัน หรือ 18.05 บาท/กก.
ถือว่ากระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษสามารถดำเนินการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม โดยเฉพาะภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่สุดได้สำเร็จในยุคนี้ และยังสามารถปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรในอ่าวไทยได้ตามที่มีความพยายามมาหลายปี แต่ทำไม่สำเร็จในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องรอรัฐบาลจากการรัฐประหารมาต่อยอดให้จนสำเร็จ
การอ้างว่าใช้ราคาเดียวกันยกแผง จะได้ไม่หาว่าปิโตรเคมีใช้ราคาถูกกว่าชาวบ้าน แต่กรรมาธิการพลังงานใน สปช. ตอบคำถามดิฉันว่า ไม่มีหน่วยงานไหนกำกับราคาก๊าซ LPG ที่ปิโตรเคมีซื้อ ดังนั้น ราคาซื้อขาย LPG ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก จึงเป็นเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาของกลุ่มเดียวกัน ส่วนราคาที่ปรับใหม่เป็นราคาที่กำหนดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นผู้รับภาระในการเพิ่มกำไรให้บริษัทเอกชน
นอกจากนี้ การเก็บภาษีสรรพสามิตก็เก็บเฉพาะผู้ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนปิโตรเคมีไม่ต้องจ่าย แม้จะเป็นผู้ก่อขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ก็ไม่ต้องรับภาระ
กองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายก็ยังเปิดให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน และผู้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต่อไปวันละไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท แต่ปิโตรเคมีได้รับคำสั่งใหม่ว่าไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 1 บาท/กก. แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2558 เป็นต้นไป
ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานที่อยู่ใน สปช. บอกข่าวว่า ในรัฐบาลนี้จะไม่มีการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มอีกต่อไป ตราบเท่าที่ยังเป็นรัฐบาลอยู่ !!!
ต้องถามว่าแล้วจะเก็บกองทุนน้ำมันไปทำไมวันละกว่า 300 ล้านบาท ในเมื่อไม่เอาไปชดเชยอะไรอีกแล้ว นอกจากไม่ยอมลดราคาน้ำมันตามกลไกตลาดที่ชอบอ้างแล้ว กระทรวงพลังงานยังคอยจ้องขึ้นราคาน้ำมันทันทีที่ราคาตลาดโลกขยับแม้เพียงเล็กน้อย การสะท้อนราคาตลาดโลกของรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานก็คงหมายถึงเวลาราคาตลาดโลกขยับขึ้นสูงเท่านั้น ถ้าราคาลดต่ำลงเมื่อไหร่ถ้าไม่เก็บเข้ากองทุนน้ำมัน ก็จะทอดเวลาลดราคาให้ช้าไปหลายวัน ในแต่ละวันที่ช้าไป ก็คือปล่อยธุรกิจโกยกำไรแทนที่จะลดราคาให้ประชาชนตามกลไกตลาด
โครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซเวลานี้ไม่มีความเป็นธรรมต่อประชาชน เป็นโครงสร้างผูกขาดที่รัฐบาลช่วยมัดมือประชาชน ให้ทุนพลังงานชกได้ตามอำเภอใจ ใช่หรือไม่ !?!
ราคาก๊าซ LPG นำเข้าบวกค่าใช้จ่าย 85 เหรียญ/ตัน กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 ที่ค้าแอลพีจีบอกว่าแพงมาก หากกระทรวงพลังงานเปิดประมูลให้ผู้ค้ารายอื่นเสนอราคานำเข้ามาแข่ง ใครเสนอได้ถูกกว่าก็ให้เป็นผู้นำเข้า LPG ซึ่งจะได้ราคาถูกกว่านี้ แต่กระทรวงพลังงานไม่ได้ตอบสนองเพื่อทำให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ราคาก๊าซที่ถูกลง ค่าใช้จ่ายที่บวกในราคา LPG นำเข้าถึง 85 เหรียญ คือ เงินที่ล้วงจากกองทุนน้ำมันไปจ่าย จนป่านนี้ยังไม่ส่งข้อมูลที่ดิฉันขอให้แยกรายละเอียดค่าใช้จ่ายว่าเป็นค่าอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดราคาก๊าซ LPG จากอ่าวไทยที่เป็นทรัพยากรในบ้าน จึงมีราคาแพงกว่าก๊าซ LPG ราคาตลาดโลก!!
รัฐบาลจะรีบร้อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ไปทำไม ในเมื่อราคาก๊าซที่ผลิตในประเทศ จากทรัพยากรในประเทศกลับมีราคาแพงกว่าก๊าซในต่างประเทศ ที่รัฐบาลอ้างว่าต้องรีบให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 โดยไม่แก้ไขกฎหมายที่แลประเทศเสียเปรียบนั้นมีเหตุผลที่น่ารับฟังแล้วหรือ? ที่อ้างว่าต้องรีบให้สัมปทานเพื่อความมั่นคงทางพลังงานนั้น เป็นคำพูดที่วิญญูชนได้ฟังแล้วสามารถตอบได้ว่า ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชนแน่ รัฐบาลควรตอบชัดๆ ว่าที่ต้องรีบเปิดสัมปทานให้ได้นั้นเป็นความมั่นคงของใครกันแน่!?!
ท่านใช้กฎอัยการศึกปิดปากประชาชนที่คัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 รัฐบาลนี้ต้องการถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์หรือไม่ว่า กำลังใช้อำนาจพิเศษเพื่อผ่องถ่ายทรัพย์สินของชาติ และทำให้ประชาชนคนไทยต้องตกเป็นอาณานิคมให้กับทุนพลังงานตลอดไป ??
การดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐบาลอำนาจพิเศษในขณะนี้ น่าจะลองพิจารณาดูว่ามีอะไรแตกต่างจากรัฐบาลที่แล้วๆมาบ้าง ซึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาลคอร์รัปชันเชิงนโยบายขนาดใหญ่ ขอถามว่าการดำเนินนโยบายพลังงานของรัฐบาลอำนาจพิเศษขณะนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ ?? นอกจากไม่แตกต่างแล้ว ยังเดินหน้าได้เร็วยิ่งกว่า จึงควรเรียกว่าเป็น การดำเนินนโยบายแบบ “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” กระมัง!?!"