สนพ.เตรียมศึกษากลไกเดินหน้าปรับโครงสร้างราคา LPG และ NGV ต่อในปี 2558 หลังการปฏิรูปราคาน้ำมันคืบหน้าไปมากแล้ว สั่ง ปตท.ทบทวนต้นทุนราคา NGV ใหม่ ชี้ตัวเลขเสนอ 16 บาทต่อ กก.สูงไปเหตุราคา LNG ตลาดโลกหล่นวูบ ขณะที่ LPG จ่อลดค่าการตลาด LPG ภาคขนส่งลงมา
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ปี 2558 สนพ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานในการหากลไกการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV อย่างไรก็ตาม จากระดับราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่ปรับตัวลดลงมากจากเดือน พ.ย. 57 เฉลี่ย 558 เหรียญสหรัฐต่อตันลงมาเฉลี่ย 500 เหรียญต่อตันเดือน ธ.ค. ทำให้กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ บมจ.ปตท.ไปศึกษาต้นทุนราคา NGV ใหม่ที่เดิมกำหนดไว้ว่าราคาที่เหมาะสมที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 16 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)
“ราคา LNG ที่ลดลงรวมถึงระดับราคาน้ำมันที่ลดก็จะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดตามด้วย ดังนั้นการคำนวณราคา NGV เพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างให้สะท้อนต้นทุนที่ก่อนหน้านี้ บมจ.ปตท.เสนอว่าราคา NGV ที่ปัจจุบันอยู่ 11.50 บาทต่อ กก. ควรสะท้อนตามราคาที่แท้จริงคือควรเป็น 16 บาทต่อ กก. ก็คงจะไม่ถึง ปตท.ก็จะต้องกลับไปพิจารณาว่าเท่าใดแน่แล้วเสนอมาเพื่อดูอีกที นอกจากนี้ยังมอบหมายให้ ปตท.ไปพิจารณาปรับเพิ่มจำนวนปั๊ม NGV ให้เพิ่มขึ้นด้วยเพื่อให้การบริการเป็นไปอย่างทั่วถึงเพื่อให้สอดรับการปรับขึ้นราคา NGV ให้สะท้อนกลไกราคาที่แท้จริง” นายชวลิตกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างราคา LPG หลังจากที่ได้มีการทยอยปรับราคาจนทำให้ราคาของภาคครัวเรือน ขนส่งและอุตสาหกรรมเป็นราคาเดียวที่ 24.16 บาทต่อ กก.แล้ว รวมถึงได้มีการปลดล็อกราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่กำหนดไว้ตายตัวที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตันมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องมาพิจารณาต้นทุนราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ต้นทุนโรงกลั่นและการนำเข้า โดย 3 ส่วนนี้มาคำนวณและกำหนดราคาให้เป็นต้นทุนเฉลี่ยที่ออกมาเป็นธรรม และที่สำคัญต้องเป็นราคาที่ประชาชนรับได้ด้วย ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้จะมีการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือน
โดยแนวทางการปรับโครงสร้างคือราคาควรจะเป็นราคาเดียว เพราะหากราคาใดสูงกว่าจะเกิดปัญหาการลักลอบการใช้ข้ามประเภท ดังนั้นกลไกที่ สนพ.กำลังพิจารณาเบื้องต้นขณะนี้ก็คือ LPG ภาคขนส่งนั้นถือเป็นการใช้ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพราะปล่อยมลภาวะและทำลายถนน แต่การจะทำให้ราคาต่างกันก็จะไปติดปัญหาการลักลอบอีก จึงมองไปที่การดูแลเรื่องค่าการตลาดเข้ามาเนื่องจากขณะนี้พบว่าค่าการตลาด LPG ขนส่งค่อนข้างสูงมาก ขณะที่ภาคครัวเรือนเองมีค่าใช้จ่ายเรื่องของถัง การดูแลถัง ค่าบริหารจัดการภาพรวมที่สูงกว่า จุดนี้จึงจะต้องมาดู
“เราจะเข้ามาใช้กลไกค่าการตลาดดูแลซึ่งจะบอกว่าเราจะบีบปั๊ม LPG ทางอ้อมก็คงจะไม่ถูกซะทีเดียว เราต้องมองว่าขณะนี้ LPG ขนส่งนั้นได้เปรียบกว่าอื่นๆ เพราะค่าการตลาดสูงนี่จึงเป็นเหตุให้ปั๊ม LPG เกิดขึ้นมาก และเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน LPG ถือว่าเป็นราคาที่ถูกมาก นอกจากนี้เราจะต้องมาดูเรื่องของภาษีสรรพสามิต LPG ด้วย เพราะในเมื่อน้ำมันก็จ่ายก็ควรจะต้องจ่ายอย่างไรให้เหมาะสม” นายชวลิตกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบันถือว่าทำมาได้เกือบสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการพิจารณาอีกเล็กน้อยในเรื่องของอัตรานำเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ที่ยังมีความจำเป็นอยู่ โดยส่วนหนึ่งจะต้องโยกไปให้กับภาษีสรรพสามิตดีเซลที่รัฐมีเป้าหมายจะกลับมาเก็บระดับ 4 บาทกว่าต่อลิตร ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้ก็คงจะโยกเงินกองทุนฯ ไปได้ตามแผนที่วางไว้ ที่เหลือก็จะต้องสะสมเงินไว้รองรับในระดับที่เหมาะสมเพื่อไว้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันและการบริหารพลังงานทดแทน ซึ่งแม้ว่าวันนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลงเฉลี่ยมาอยู่ที่ 60 เหรียญต่อบาร์เรลก็ตามแต่อนาคตไม่มีอะไรแน่นอน