ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เมื่อมี “จอมโจรระดับพระกาฬ” บุกเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ห้องจีน ในพระราชวังฟงแตนโบล กรุงปารีส และสามารถขโมยโบราณวัตถุอันล้ำค่าที่จัดแสดงไป 20 ชิ้น ทั้งนี้ ในจำนวนโบราณวัตถุที่ถูกโจรกรรมไปนั้น พบว่ามี เครื่องมงคลราชบรรณาการ สมัยรัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส จำนวน 6 ชิ้นล่องหนไปด้วย
วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลว่า ครั้งแรกที่ทราบข่าวแล้วรู้สึกตกใจ จึงได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และได้รับการรายงานจาก นายอภิชาติ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่าทางพิพิธภัณฑ์ พระราชวังฟงแตนโบล ได้ทำการสำรวจโบราณวัตถุโดยละเอียดแล้วพบว่ามีโบราณวัตถุหายไป 20 ชิ้น ในจำนวนนั้นมีโบราณวัตถุของไทยประมาณ 5-6 ชิ้น เป็นเรื่องจริง ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคนโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และพาน
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่องบัญชีเครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งไปพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ในปี พ.ศ. 2404 (คัดจากหนังสือ พระราชสาส์นในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไปยังประเทศต่าง ๆ ภาคที่ 1 ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. 2501) พบว่า เครื่องมงคลราชบรรณาการที่ส่งไปนั้นมี ทั้งหมด 34 รายการ ได้แก่
1.พระราชสาส์นจารึกในพระสุพรรณบัตร ห่อในแผ่นทองคำแล้วใส่ในฝักทองคำลงยา 2. พระราชสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนั่งใกล้โต๊ะ มีเครื่องบางสิ่งในเครื่องราชบรรณาการซึ่งมองซิเออซาเลศเดมองติคนีได้ถวายว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสส่งมาเป็นราชบรรณาการ เมื่อครั้งเข้ามาทำสัญญาในปีมะโรงอัฐศก ศักราช 1218 3.พระสาทิสลักษณ์ในพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ 4.พระมหามงกุฎลงยาประดับเพชรบ้าง มรกตบ้าง ทับทิมบ้าง 5. พระสังวาลลายกุดั่นประดับทับทิม 6.พระธำมรงค์นพเก้าใส่ตลับทองคำลงยา 7.ฉลองพระองค์พระกรน้อยมีดุมเพชรเจ็ด 8.ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง 9.รัดพระองค์กุดั่นประดับเพชรบ้าง มรกตบ้าง สายทองมีประจำยามมรกต 10. รัดพระองค์จรบาทปักเลื่อม
11. รัดพระองค์กรองทอง 12.สนับเพลาเข้มขาบ เชิงงอนลายทองคำลงยาราชาวดี 13. ผ้าทรงยกทองผืน 1 14. ผ้าทรงลายกรวยเกี้ยวเขียนทอง 1 15. ผ้าทรงปูมอย่างดี 4 ผืน 16. สังขอุตราวัฏเครื่องทองคำลงยาราชาวดี มีดอกนพรัตน์มังสีทองคำจำหลักลงยา เป็นเครื่องรอง 17. ขันน้ำกับพานรองทองคำลงยาราชาวดี สำรับ 1 18. เครื่องชา มีถาดทองคำ 1 ป้านเลี่ยมทองคำ 1 จานทองคำรองป้าน 1 หยกใหญ่มีฝาเลี่ยมทองสำรับ 1 เรือทองคำรองถ้วย 1 19. ถ้วยฝาทองคำลงยา 1 ถ้วยฝาเงินถมยาคำตะทอง 1 20. ซองบุหรี่ทองคำลงยา
21. หีบใส่กรรไตรส้นประดับเพชร 1 ทับทิม 1 รวม 2สางเจียดงากรอบแลด้ามทองคำลงยาประดับพลอยมรกตคู่ 1 22. หีบใส่ส้อม 1 ช้อน 1 มีด 1 เป็นทองคำแลมีด้ามประดับเพชร สำรับ 1 23. โต๊ะเงินใหญ่ ปากกาไหล่ทอง คู่ 1 24. ดาบเหล็กสายฝักทองคำลงยา 25. หอกอย่างสยามฝักเงินดาไหล่ทองลายจำหลัก 26. ง้าวฝักเงินกาไหล่ทองคำลายจำหลัก 27. ทวนด้ามกาไหล่ทองคำ คู่ 1 28. เครื่องม้าทองคำประดับเพชร 29. พระกลด 30. บังพระสูรย์ 31. เครื่องสูง ฉัตร 5 ชั้น 2 ฉัตร 3 ชั้น 2 ชุมสาย 2 รวม 6 ชิ้น 32. พระราชยานกง 33. กลองมโหระทึกกับปี่งา 34. ฉากรูปพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นที่นมัสการในพระบรมมหาราชวังเขียนสามรูป ตามอย่างเครื่องทรงในฤดูทั้งสาม ซึ่งมีหนังสือชี้แจงมาเป็นนิทาน
ทั้งนี้ จากข้อมูลจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เรื่อง บัญชีเครื่องมงคลราชบรรณาการ พบการบันทึกไว้ส่งไปจำนวน 34 ชิ้น อย่างไรก็ดี ถ้าหากนับอายุโบราณวัตถุที่ส่งไปนั้น วันนี้มีอายุมากกว่า 150 ปี ซึ่งหลักฐานการบันทึกพบว่าโบราณวัตถุแต่ละชิ้น จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ มีความประณีต งดงาม ฉะนั้น จึงมิอาจประเมินมูลค่าโบราณวัตถุว่ามีราคาเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญและแน่ๆ โบราณวัตถุเหล่านี้ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่มีต่อกันมายาวนาน และเชื่อว่ามีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ได้เห็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าเหล่านี้
“เครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2404 มีจำนวนทั้ง 34 ชิ้นนั้นล้วนแต่มีมูลค่าและคุณค่า ทุกชิ้นมีความสำคัญหมด การที่คนร้ายได้เลือกโจรกรรมไป 6 ชิ้น คือ พระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคนโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และ พาน อาจจะมองเห็นว่ามีราคามากกว่าชิ้นอื่นๆ”
“ในส่วนของการประเมินราคาโบราณวัตถุทั้งหมดนั้น ทราบข้อมูลว่าเคยมีการประเมินหลังจากที่พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2404 ไปอีก 4 ปี คือปี 2408 ทางพระราชวังฟงแตนโบลได้มีการประเมินทรัพย์สินในพระราชวังทั้งหมด ก็ปรากฏว่าทรัพย์สินศิลปวัตถุที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีมูลค่ามากที่สุดในพระราชวัง และสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ พระมหามงกุฎ ครั้งนั้นประเมินมูลค่าได้สูงถึง 70,000 ฟรังก์ สมัยยุคนั้นถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาล มาถึงสมัยนี้จึงกล่าวได้ว่าประเมินค่ามิได้”นายวีระอธิบายรายละเอียด
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางการฝรั่งเศส กำลังไล่ล่า 2 หัวขโมย ไม่ปล่อยให้ลอยนวลออกนอกประเทศอย่างง่ายดาย รวมทั้งประสานไปยังตำรวจสากล เพื่อสกัดคนร้าย รวมถึงโบราณวัตถุอันล้ำค่า ที่ถูกขโมยไม่ให้เล็ดลอดออกนอกประเทศ ทำให้มั่นใจว่า ฝรั่งเศส จะติดตามทวงคืนโบราณวัตถุอันล้ำค่ากลับคืนอ้อมอกพิพิธภัณฑ์ได้ครบทุกชิ้นในเร็วๆ วันนี้