วธ. เผยโบราณวัตถุ 6 ชิ้น ประเมินค่ามิได้ เผยปี 2408 ทางพระราชวังฟงแตนโบลเคยประเมินทรัพย์สินในพระราชวังทั้งหมด ระบุ “พระมหามงกุฎ” มีค่ามากที่สุด
จากกรณีโจรบุกพิพิธภัณฑ์ห้องจีน ภายในพระราชวังฟงแตนโบล ใจกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ต้นเดือนมีนาคมนั้น โจรได้ขโมยโบราณวัตถุสำคัญไปหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือพระมหามงกุฎ เครื่องมงคลราชบรรณาการ สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส โดยทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้รายงานว่าโบราณวัตถุของทางพิพิธภัณฑ์ห้องจีนหายไปถึง 20 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องมงคลบรรณาการจากไทย 6 ชิ้น ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคณโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และ พาน ซึ่งกล้องวงจรปิดในพิพิธภัณฑ์ห้องจีน ได้เผยให้เห็นหัวขโมยมีถึง 2 คน และทางการฝรั่งเศสได้เร่งไล่ล่า พร้อมประสานตำรวจสากลป้องกันไม่ให้โบราณวัตถุที่ถูกขโมยเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ
ล่าสุด วันที่ 5 มีนาคม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สรุปรายงานโบราณวัตถุของทางพิพิธภัณฑ์ห้องจีนหายไป 20 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นเครื่องมงคลบรรณาการจากไทย 6 ชิ้น ทราบดีว่าประชาชนทั้งชาวไทยและชาวฝรั่งเศสรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คาดว่า จะมีการติดตามนำโบราณวัตถุทั้งหมดคืนมา โดยทางพิพิธภัณฑ์ห้องจีนดังกล่าวมีข้อมูลรูปพรรณสัณฐานของโบราณวัตถุแต่ละชิ้นชัดเจน
“เครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2404 มี 34 ชิ้นนั้น ล้วนแต่มีมูลค่าและคุณค่า ทุกชิ้นมีความสำคัญหมด การที่คนร้ายได้เลือกโจรกรรมไป 6 ชิ้น คือ พระมหามงกุฎ พระแสงทำจากญี่ปุ่น พระคณโฑ พระแสงกรรไกร 1 พระแสงกรรไกร 2 และ พาน อาจจะมองเห็นว่ามีราคามากกว่าชิ้นอื่นๆ ในส่วนของการประเมินราคาโบราณวัตถุทั้งหมดนั้น ทราบข้อมูลว่าเคยมีการประเมินหลังจากที่พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี 2404 ไปอีก 4 ปี คือ ปี 2408 ทางพระราชวังฟงแตนโบลได้มีการประเมินทรัพย์สินในพระราชวังทั้งหมด ก็ปรากฏว่าทรัพย์สินศิลปวัตถุที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 มีมูลค่ามากที่สุดในพระราชวัง และสิ่งที่มีค่ามากที่สุด คือ พระมหามงกุฎ ที่รัชกาลที่ 4 พระราชทานไป ซึ่งครั้งนั้นประเมินมูลค่าได้สูงถึง 70,000 ฟรังก์ สมัยยุคนั้นถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาล มาถึงสมัยนี้จึงกล่าวได้ว่าประเมินค่ามิได้”นายวีระ กล่าว
นายวีระ กล่าวว่า จากเหตุการณ์โจรกรรมโบราณวัตถุในฝรั่งเศสครั้งนี้ ทำให้ วธ. ต้องมาตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยทั้ง 44 แห่ง โดยทาง นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร ได้รายงานมาว่าได้สั่งการให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแต่ละแห่งเพิ่มมาตรการการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากจะติดกล้องวงจรปิดแล้วต้องตรวจสอบด้วยว่ากล้องแต่ละตัวใช้งานได้ตามปกติหรือไม่ กำชับบุคลากร เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ให้ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างใกล้ชิดด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่