รมว.วัฒนธรรม เผยทางการฝรั่งเศส เร่งติดตามหามือฉก “พระมหามงกุฎ” ขณะที่อธิบดีกรมศิลป์ อึ้งโจรมือฉมังเลียนแบบหนัง คาดมีใบสั่งเศรษฐีนำไปสะสม สั่งคุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ
วันนี้ (3 มี.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า จากกรณีโจรกรรมพิพิธภัณฑ์จีน ภายในพระราชวังฟงแตนโบล กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พบว่า โบราณวัตถุหายไป 15 - 16 ชิ้น ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “พระมหามงกุฎ” เครื่องมงคลราชบรรณาการ สมัย ร.4 ทูลเกล้าฯ ถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส วันนี้ ตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดย นายกฯ ให้คอยติดตามเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกัน ก็รับรายงานจากนักวิชาการสำนักหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากร ถึงโบราณวัตถุที่หายไปจากพิพิธภัณฑ์จีน โดยอ้างอิงจากเอกสารจดหมายเหตุ เย็บเล่ม ของกระทรวงการต่างประเทศ ฝรั่งเศส เล่ม 2 ซึ่งได้ระบุว่า โบราณวัตถุที่หายไปนั้น เรียกว่า พระมหามงกุฎลงยา เป็นเครื่องมงคลบรรณาการที่ฝ่ายไทย มอบให้แก่จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส ส่วนพระมหาพิชัยมงกุฎ นั้น เป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้เก็บรักษาไว้ที่พระบรมหาราชวัง
นายวีระ กล่าวว่า ตนได้โทรศัพท์สอบถามความคืบหน้ากรณีดังกล่าวจาก นายอภิชาติ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยได้รับการชี้แจงว่า เรื่องโบราณวัตถุถูกโจรกรรม เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจมากในฝรั่งเศส เพราะโดยทั่วไประบบรักษาความปลอดภัยในพิพิธภัณฑ์จะเข้มงวดและมีประสิทธิภาพมาก ขณะเดียวกัน ทางการฝรั่งเศสก็รู้สึกเป็นห่วงและตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องเร่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอย่างหนัก เพื่อตรวจสอบหาผู้กระทำความผิด
นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การโจรกรรมพระมหามงกุฎ พร้อมด้วยโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์จีนครั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ ซึ่งตนก็นึกไม่ถึง เพราะเหมือนถอดแบบมาจากภาพยนตร์ ซึ่งสามารถสันนิษฐานการโจรกรรมได้หลายสาเหตุ เมื่อพิจารณาตามหลักการและเหตุผลแล้ว เห็นว่า พระมหามงกุฎ เป็นโบราณวัตถุที่มีคุณค่าและอยู่ในพิพิธภัณฑ์ มีการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้แล้ว จึงยากที่จะนำมาซื้อขายทอดตลาด เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้นจะมีใบสั่งให้โจรกรรม หรือ อาจจะมีการนำไปขายในตลาดมืดอีกต่อหนึ่ง เพื่อเป็นของชื่นชมของพวกนักสะสม หรือเศรษฐี
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวอีกว่า แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เราก็ประมาทไม่ได้ ตนจึงกำชับให้ นายสหภูมิ ภูมิธฤติรัฐ รองอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งกำกับดูแลสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 44 แห่งทั่วประเทศ โดยในปี 2558 ได้มีการติดตั้งกล้องวงจรเพิ่ม อีกกว่า 100 ตัว ในจุดสำคัญภายในพิพิธภัณฑ์ โดยใช้งบประมาณกว่า 17 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำห้องภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพื่อคอยดูแล ตรวจสอบ โดยเฉพาะการสอดส่องผู้ที่เข้ามาชมไม่ให้มีการซ่อนตัวอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ เพราะ มีหลายครั้งที่การโจรกรรมโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์เกิดจากการหลบซ่อนตัวของโจรในมุมอับต่างๆ ขณะที่ภายนอกพิพิธภัณฑ์ ก็ให้มีการจัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่