xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สนช.ตั้งเครือญาติ เสื่อม...ถอย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หากกระแสสังคมไม่กดดันขนาดหนัก ยังไม่แน่ว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ว่าจ้างลูก เมีย ญาติโกโหติกาเข้ามาช่วยงานจะมียางอายพอที่จะเลิกจ้างคนใกล้ชิดหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมหรือไม่

เหตุที่ว่าเช่นนั้นก็เพราะผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แม้แต่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ต่างก็ดาหน้าออกมาปกป้องสุดลิ่มทิ่มประตูว่าทำได้ไม่ผิด ไม่มีกฎหมายห้ามไว้

พฤติกรรมของผู้มีอำนาจเวลานี้ จึงคล้ายกับหลงลืมไปเสียสนิทว่าสังคมตั้งข้อรังเกียจ “สภาผัวเมีย” ของพวกนักการเมืองอาชีพให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วแต่ยังไม่รู้จักพึงสำเหนียก

ข้อเท็จจริงที่ต้องจดจารจารึกไว้ในบัญชีหนังหมาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากรณีการแต่งตั้งภรรยา-บุตร-เครือญาติ นั่งเก้าอี้ ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงาน โดยรับเงินเดือน 1.5-2.4 หมื่นบาท ทั้งที่บางรายลูกยังเรียนอยู่และบางคนก็อยู่ต่างประเทศ แต่กลับได้รับแต่งตั้งให้มาช่วยงานที่สภา

ยกตัวอย่างเช่น นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล แต่งตั้งนางมารีแย นราพิทักษ์กุล ภริยา เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. นายนภัสรพี นราพิทักษ์ บุตรชาย เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. น.ส.นิอาอีดา นราพิทักษ์กุล บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.

พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ แต่งตั้งนายอรรณพ ผลพานิชย์ ญาติ เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. และ ร.ต.ธนพล ผลพานิชย์ พี่ชาย เป็นผู้ช่วยดำเนินงานสนช., คุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี แต่งตั้งนายสุวงศ์ ยอดมณี บุตรชาย เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. นางนิภาภรณ์ ยอดมณี ญาติ เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช.

พล.ร.ท.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้งพล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ ภริยา เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสนช. และเรือตรีหญิงอนพัทย์ ขจิตสุวรรณ บุตรสาว เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช., พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ แต่งตั้งน.ส.สุลัยพักตร์ อาจวงษ์ บุตรสาว เป็นผู้ชำนาญการประจำตัวสนช. และ น.ส.ภิญญาพัชญ์ อาจวงษ์ บุตรสาว เป็นผู้ช่วยประจำตัวสนช. เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2557 ประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2557 พบว่า ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว - ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช. จะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

1.ตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก สนช.

2.ตำแหน่ง ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายประกอบการดำเนินงานของสมาชิก สนช. ศึกษาสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อรวบรวม จัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือ หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.

3.ตำแหน่งผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ สำเร็จการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี หรือได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่สมาชิก สนช. กำหนด

นั่นเป็นข้อคุณสมบัติที่ต้องมีนอกเหนือข้อกำหนดทั่วไปที่จะต้องมีสัญชาติไทย ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ ฯลฯ ตามประกาศยังระบุด้วยว่า บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สนช.คนหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1, 2 หรือ 3 ได้เพียงตำแหน่งเดียว และบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ สนช. คนอื่นในตำแหน่งตามข้อ 1, 2 หรือ 3 อีก ขณะที่ในบทเฉพาะกาลตามข้อบังคับการประชุมของ สนช. พ.ศ. 2557 ข้อที่ 219 ระบุว่า ให้นำข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 มาใช้บังคับเป็นการอนุโลม

สำหรับข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ พ.ศ. 2553 ข้อที่ 25 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการพึงระมัดระวังการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญประจำตัว - ผู้ปฏิบัติงาน - ที่ปรึกษา - ผู้ชำนาญการ - นักวิชาการ และเลขานุการ มิให้กระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาชิกกรรมาธิการและวุฒิสภา และข้อ 26 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องละเว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติตามเช่นเดียวกันด้วย

จากประกาศและหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น “สำนักข่าวอิศรา” ข้อสังเกตว่า การแต่งตั้งภรรยา บุตรและเครือญาติมากินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนนั้นจริงๆ แล้วเข้ามาช่วยงานจริงหรือไม่ เพราะบุตรของสนช.บางคนยังคงศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย อายุไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในประกาศ และมีข้อสงสัยเรื่องความสามารถซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย ข้อร้องเรียนจากประชาชน

และการแต่งตั้งภรรยา - บุตร - เครือญาติ ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

ที่สำคัญ ตามประกาศ สนช. ระบุว่า หากแต่งตั้งคนใดดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ - ผู้ชำนาญการ - ผู้ช่วยดำเนินงานแล้ว จะดำรงได้เพียงตำแหน่งเดียว แต่มีสนช. บางราย เช่น พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส ดำรงทั้ง 3 ตำแหน่ง สามารถทำได้หรือไม่ และขัดกับประกาศ สนช. ด้วยหรือไม่

นั่นเป็นคำถามและเป็นข้อกังขาของสังคมที่สนช.ต้องทำให้กระจ่าง เพราะตามหลักต้องถือว่าการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว จะมาออกตัวว่าเลิกตั้งไปแล้วหลังจากที่มีกระแสข่าวปรากฏออกมาต่อสาธารณะ ดังนั้นจึงถือว่าไม่ผิด ไม่เหมาะสม ไม่ได้

เรื่องนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2557 เพื่อขอให้ป.ป.ช. เข้ามาไต่สวนในเรื่องนี้ เพราะขัดต่อจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีพฤติกรรมเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน

ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่ สนช.เท่านั้นที่แต่งตั้งเครือญาติคนใกล้ชิดเข้ามากินตำแหน่งผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ แม้แต่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนกระทำเฉกเช่นเดียวกัน และวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. 2558 สมาคมฯ จะไปยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ถึงเวลานี้ แรงกดดันของสังคมมีผลทำให้ วิปสนช. ยอมถอย มีมติสั่งให้สมาชิกสนช. เลิกตั้งเครือญาติช่วยงานสภาฯ มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.2558 จากนี้จะมีการแก้ไขระเบียบให้มีความชัดเจนขึ้น

นั่นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คำแก้ตัวของสนช. ที่อ้างเหตุผลตั้งคนในครอบครัวมาช่วยงานเพราะบางคนอยู่ต่างจังหวัด เมื่อมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็จำเป็นต้องมีคนทำงานด้านมวลชนในพื้นที่ อ้างมีเหตุผลทางการเมืองและมีข้อมูลที่เป็นความลับ จึงจำเป็นต้องตั้งคนที่ไว้ใจได้ เงินเดือนประจำตำแหน่งต่ำ หากตั้งคนอื่นเกรงว่าจะไม่มีใครยอมมาทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องที่สนช.หรือสปช.พึงสำเหนียกก็คือ การสร้างมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองให้สูงขึ้น แม้จะมีหรือไม่มีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับใดห้ามไว้ เพราะมิฉะนั้น การชี้หน้ากล่าวหาว่าพวกนักการเมืองอาชีพเป็นพวกเสื่อมจริยธรรมทางการเมือง ก็ไม่มีความหมายใดๆ เพราะเมื่อมีอำนาจวาสนาต่างก็ประพฤติปฏิบัติไม่แตกต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น