xs
xsm
sm
md
lg

เมื่ออิเหนา เอาเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


ประเทศชาติกำลังเข้าสู่ยุคปฏิรูป มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำลังขะมักเขม้นชำระกฎหมาย ตรากฎหมายต่างๆ รวมทั้งรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบริหารบ้านเมือง

เรามีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารยึดอำนาจ ซึ่งควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. ที่มีอำนาจพิเศษเด็ดขาด และมีกฎอัยการศึกป้องกันรักษาความสงบภายในประเทศอย่างเข้มงวดด้วย

แต่...พี่น้องเอ้ย...สาธุชน จงสดับ หมายเหตุประเทศไทย แต่ละบรรทัดต่อไปนี้ และไตร่ตรองด้วยสติปัญญาเถิด.....

“วันที่ 27 ก.พ. 2558 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีสมาชิก สนช.จำนวนมากตั้งภริยาและบุตรมาเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว เพื่อช่วยงาน โดยได้รับเงินเดือนว่า ตามระเบียบข้อบังคับ สนช.ไม่ได้ห้ามเรื่องการแต่งตั้งลูก เมีย หรือเครือญาติมาดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานประจำตัว สนช. ซึ่งหลักการคุณสมบัติในตำแหน่งเหล่านี้กำหนดเพียงว่า มีคุณวุฒิเหมาะสม และไม่เคยต้องคดีมาก่อน ไม่มีข้อห้ามเรื่องเครือญาติ”

“วันที่ 28 ก.พ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งเครือญาติ เป็นผู้ช่วยว่า เรื่องนี้ตนก็ได้ถามกลับไปเช่นกัน และได้รับคำตอบว่าไม่มีกฎหมายเขียนระบุไว้ อย่าไปพันกันกับเรื่องสภาผัว-สภาเมีย เพราะมันคนละสมัย ครั้งนั้นก็บอกว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ซึ่งตนได้กำชับไปว่า ขอให้ระมัดระวังและไปตรวจสอบด้วยว่าที่ตั้งมาทำงานหรือไม่ได้อย่างไร มีเหตุผลความจำเป็นหรือไม่ หรืออาจจะเขียนกฎหมายในรัฐธรรมนูญหรือระเบียบเพื่อระบุว่ากลไกเหล่านี้จะต้องไม่มีครอบครัวซึ่งจะเขียนได้หรือไม่ตนก็ไม่ทราบเพราะคำว่าประชาธิปไตย ทุกคนก็ต้องการ แต่ก็ต้องไม่จับถูกจับผิด เพราะทุกคนก็ต้องการประชาธิปไตยอีกทั้งเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย เรื่องนี้คงต้องพูดด้วยกฎหมาย แต่ถ้าถามตนว่าถูกหรือไม่ ตนไม่ขอตอบ”

ในยุคของการรัฐประหารเพื่อปฏิรูปประเทศ ท่านทั้งหลายได้ฟังคำสัมภาษณ์ของสองผู้มีอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการบ้านเมืองแล้ว รู้สึกอย่างไรครับ?

สำหรับผม บอกตรงๆ ว่ารู้สึกผะอืดผะอม และรับไม่ได้จริงๆ เพราะแค่การยึดอำนาจมาแล้วจัดการบ้านเมืองแบบรูทีนไร้สมรรถภาพ เราคนไทยที่กินนอนกลางถนนเป่านกหวีดเรียกร้องหาความเป็นธรรมมาแรมปี ก็ต้องทำใจแล้วทำใจอีกตลอดเวลา หวังว่ามันอาจจะดีขึ้นอยู่ทุกวัน แล้วความหวังนั้นก็ขาดผึง เมื่อสมาชิก สนช.ที่ คสช.แต่งตั้งมาออกกฎหมายปฏิรูปบ้านเมือง ซึ่งพวกเราเคยหวังว่าจะได้ผู้เสียสละอาสามาทำงานเพื่อบ้านเมืองแบบไม่รับเงินเดือนด้วยซ้ำไป แต่นี่นอกจากจะรับเงินเดือนกันคนละเป็นแสนแล้ว ยังตั้งลูกเมีย ญาติพี่น้องมารับเงินเดือนหลวงเพิ่มในฐานะที่ปรึกษาและผู้ช่วยของแต่ละคนอีกอย่างไม่น่าจะทำ โดยเอาเยี่ยงอย่างนักการเมืองโสมมมูมมามในอดีตที่ผ่านมา ไม่ผิดเพี้ยนกันเลย

และเมื่อมีคนจับได้ไล่ทันนำข้อมูลมาเปิดเผยประจาน แทนที่ผู้มีอำนาจจะออกมายับยั้งห้ามปราม หรือแก้ไขมิให้กระทำการสวนศรัทธาของประชาชน กลับประสานเสียงกันออกมาปกป้องแก้เกี้ยวให้กับการกระทำที่ไร้จรรยามารยาท โดยอ้างว่าไม่มีตัวบทกฎหมายห้าม

ช่างไม่ต่างอะไรกับนักการเมือง ที่มักอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายตีฝีปากใช้คารมโวหารแก้เกี้ยวทุกครั้งที่ถูกจับได้ไล่ทันว่ากระทำผิด

และยิ่งเมื่อติดตามข้อมูลรายละเอียดเรื่องนี้จาการรายงานข่าวของ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เผยแพร่ เรื่อง “กางระเบียบ-ประมวลจริยธรรมเทียบคำพูด “พรเพชร” ปม สนช.ตั้งเมีย-ลูกช่วยงาน” พบว่า ในประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ประกาศเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะประธาน สนช.ลงลายมือชื่อกำกับ

พบว่า สำหรับผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ชำนาญการประจำตัว-ผู้ช่วยดำเนินงานของ สนช.จะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้

1. ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิก สนช.

- มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์

- สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

- มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก สนช.

2. ผู้ชำนาญการประจำตัวสมาชิก สนช.

- มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์

- ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี

- มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายประกอบการดำเนินงานของสมาชิก สนช.ศึกษาสภาพปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆ เพื่อรวบรวม จัดทำญัตติ กระทู้ถาม ข้อหารือ หรือข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.

3. ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิก สนช.

- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

- สำเร็จการศึกษาปริญญาโทขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี หรือได้ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ) และมีประสบการณ์กับงานที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ให้ สนช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี

- มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามที่สมาชิก สนช.กำหนด

โดยทั้ง 3 ตำแหน่งจะต้องมีสัญชาติไทย เป็นผู้เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต ไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นข้าราชการัฐสภาสามัญ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างของส่วนราชการในสังกัดรัฐสภา

และหากเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องมีหนังสือยินยอมจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจที่ผู้สังกัดนั้น แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเพื่อปฏิบัติงานให้แก่ สนช.คนหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งตามข้อ 1, 2 หรือ 3 ได้เพียงตำแหน่งเดียว และบุคคลดังกล่าวจะต้องไม่เป็นผู้ปฏิบัติงานให้แก่ สนช.คนอื่นในตำแหน่งตามข้อ 1, 2 หรือ 3 อีก

ขณะที่ในบทเฉพาะกาลตามข้อบังคับการประชุมของ สนช.พ.ศ. 2557 ข้อที่ 219 ระบุว่า ให้นำข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 มาใช้บังคับเป็นการอนุโลม

โดยข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ พ.ศ. 2553 ข้อที่ 25 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการพึงระมัดระวังการปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญประจำตัว-ผู้ปฏิบัติงาน-ที่ปรึกษา-ผู้ชำนาญการ-นักวิชาการ และเลขานุการ มิให้กระทำการใดๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สมาชิกกรรมาธิการและวุฒิสภา

ข้อ 26 ระบุว่า สมาชิกและกรรมาธิการจักต้องละเว้นจากการแสวงหาผลประโยชน์ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่และไม่กระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน และจะต้องดูแลให้คู่สมรสและบุตรของสมาชิกและกรรมาธิการปฏิบัติตามเช่นเดียวกันด้วย

รายงานของ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตั้งข้อสังเกตว่า ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ต้องถามกลับไปได้แก่

1. การที่ สนช. แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” เข้ามาช่วยงาน โดยรับเงินเดือนจากภาษีของประชาชนตั้งแต่ 1.5-2.4 หมื่นบาทนั้น ได้เข้ามาช่วยงานจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่การ “กรอกชื่อ” ไว้เพื่อรับเงินเดือนอย่างเดียว เพราะจะเห็นได้ว่า “บุตร” ของ สนช.บางรายยังคงศึกษาในระดับชั้นมหาวิทยาลัย หรืออายุอานามบางคนเพียงแค่ 20 กว่าๆ เท่านั้น จะสามารถเข้ามาช่วยเหลืองานในสภาฯ ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อกฎหมาย หรือข้อร้องเรียนจากประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
2. ตามข้อบังคับประมวลจริยธรรมฯ ระบุชัดเจนว่า สมาชิกจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ หรือไม่กระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วการที่ สนช.แต่งตั้ง “ภรรยา-บุตร-เครือญาติ” ถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

3. ตามประกาศ สนช.เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งบุคคลปฏิบัติงานให้ สนช.นั้น ระบุว่า หากแต่งตั้งคนใดดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ-ผู้ช่วยดำเนินงานแล้ว จะดำรงได้เพียงตำแหน่งเดียว แต่มี สนช.บางราย เช่น พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ แต่งตั้ง พล.ร.ต.หญิง พวงพลอย ขจิตสุวรรณ คู่สมรส ดำรงทั้ง 3 ตำแหน่ง สามารถทำได้หรือไม่ และขัดกับประกาศ สนช.ด้วยหรือไม่

ล่าสุด องค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่สุดทนกับพฤติการของผู้ทรงเกียรติในยุค คสช.ก็ได้ยื่นเรื่องเสนอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบและพิจารณาแล้ว

เหนื่อยไหมครับพี่น้อง ก็ลองถ้าคนที่ คสช.คัดเลือกแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่สังคายนากฎหมายเพื่อปฏิรูปประเทศ กลับมาทำในสิ่งที่ผิดจรรยาเสียเอง ไม่เคารพในหลักธรรมาภิบาลเสียเอง แล้วจะให้หวังอะไรได้กับการปฏิรูปประเทศชาติเล่า

ผมคิดถึงคำพูดประโยคหนึ่ง ที่พูดติดปากคนไทยมาช้านานว่า “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”

แล้วผมก็มานั่งระบายอารมณ์ บันทึกหมายเหตุประเทศไทยเป็นบทกวี ดังนี้ครับ

“เมื่ออิเหนาเอาเอง”

ในภาวะวิกฤตของบ้านเมือง
รัฐประหารเพื่อปลดเปลื้องสิ่งเลวร้าย
ระงับการเข่นฆ่าการทำลาย
หยุดคนไทยแยกฝ่ายฆ่ากันเอง
ยึดอำนาจเพื่อจัดการปัญหาใหญ่
ต้องร่วมใจรวมพลเลือกคนเก่ง
คนอาสาเสียสละมาบรรเลง
ใช่อุ้มคนกระเต็งมาทำงาน
สนช. สปช. ควรเสียสละ
มาสางสะชำระกวาดล้างบ้าน
ไม่ควรรับเงินเดือนเฉือนงบประมาณ
แค่เบี้ยประชุมทำงานน่าเพียงพอ
นี่ยังมาจ้างลูกเมียกินเงินหลวง
คนทักท้วงร้องยี้ยังอี๋อ๋อ
ทั้งนายกฯ ทั้งประธาน สนช.
บอกไร้ข้อกฎหมาย ห้ามให้ทำ
รัฐประหารเหมือนทำการประหารรัฐ
ไม่ซื่อสัตย์ทั้งหมู่เหล่าเอาอิ่มหนำ
เอาเยี่ยงอย่างนักการเมืองที่มืดดำ
ไม่ยึดความชอบธรรม ซ้ำรอยเดิม
ในภาวะวิกฤตของบ้านเมือง
คุณธรรมต้องกระเตื้องต้องสร้างเสริม
ต้องสร้างหลักซื่อตรงให้ต่อเติม
องค์กรรัฐต้องเพิ่มธรรมาภิบาล
ถ้า สปช.สนช. ทำเช่นนี้
ปฏิรูป ก็ยากที่จะขับขาน
เมื่ออิเหนาเอาเองก็อ่วมอาน
สงสารบ้านสงสารเมืองเปล่าเปลืองนัก!

ว.แหวนลงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น