หนุน สนช.ปลอดเครือญาติ เหน็บไม่เห็นอดีต ส.ส.-ส.ว.ออกมาพูด กลัวเข้าตัว “คนเพื่อไทย” ซัดคนดีความรู้สึกช้า “ผู้ตรวจการฯ” รับสอบจริยธรรมได้ ส่วน “ป.ป.ช.” ขอดูข้อกฎหมายก่อน “เทียนฉาย” เผยไม่มีข้อห้ามแต่อยู่ที่จิตสำนึก “ทัศนา” เชื่อสปช.เป็นผู้ใหญ่พอรู้อะไรถูกผิด
วันนี้ (4 มี.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย และอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งบุตร ภรรยา ญาติ พี่น้องเข้าเป็นเลขาธิการ ที่ปรึกษาฯ ว่า เห็นด้วยและสนับสนุนประธานทั้งสองสภา ทั้ง สนช.และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาสั่งการให้สมาชิกทั้งสองสภายกเลิกการแต่งตั้งคนในครอบครัว เป็นผู่ช่วย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการประจำตัวที่มีเงินเดือนระหว่าง 1.5-2.4 หมื่นบาท
เรื่องนี้แม้กฎหมายไม่ห้ามแต่เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่ขัดกฎหมายก็ตาม แต่อาจขัดต่อประมวลจริยธรรมของนักการเมือง และข้าราชการประจำ และเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) จริงๆ แล้วก็มี สนช. และ สปช. อยู่บ้างบางคน ที่แม้เอาเครือญาติคนในครอบครัวมาช่วยงาน แต่คนเหล่านั้นก็ทำงานดี มีความรู้ความสามารถ แต่ส่วนใหญ่จะพ่วงๆ เอาคนในครอบครัวมาโดยอาจไม่คำนึงความเหมาะสม ไม่ได้ช่วยงานจริงมาเพื่อเอาเงินประจำตำแหน่งเท่านั้น ยิ่งถ้าย้อนไปดูภาพรวมก่อนหน้านี้บรรดา ส.ส.และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยที่ตั้งคนมาช่วยงาน นอกจากตั้งลูกเมียแล้ว ยังเอาคนรถ เอาคนติดตามมาเป็นก็มี เลวร้ายถึงขั้นใส่ชื่อให้ครบ แล้ว ส.ส.และ ส.ว.บางคนรับเงินเดือนแทนก็เคนมี สังเกตง่ายๆ เรื่องนี้เราจะไม่เห็นอดีต ส.ส.และ ส.ว.ออกมาวิจารณ์ สนช.และ สปช.เพราะกลัวเข้าตัว
“ผมเสนอให้ทั้ง สนช.และ สปช.ปรับข้อบังคับให้รัดกุมมีมาตรฐานกว่านี้ เช่น เกณฑ์อายุต้องไม่น้อยเกินไป ควรมาทำงานจริงโดยอาจกำหนดว่าขาดลาได้ไม่เกินกี่ครั้งคุณวุฒิก็ควรมึประสบการณ์ระดับหนึ่ง บางคนมารับตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการแต่ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นเลย ส่งผลให้การทำงานของกรรมาธิการด้อยคุณภาพตามมา หรือให้มีกองงานที่ขึ้นกับเลขาธิการแต่ละสภา ทำหน้าที่ตรวจสอบและประเมินการทำงานในทุกสมัยประชุมก็จะเป็นการดี เป็นต้น”
ถ้าปรับระเบียบทำเป็นบรรทัดฐานไว้แบบนี้ ส.ส.-ส.ว.ที่เข้ามาใหม่ก็จะกลับไปใช้แบบเดิมยากขึ้น เพราะประชาชนจะออกมาประณาม
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการสอบจริยธรรม สนช.ต่อกรณีนี้ว่า หากเป็นการสอบเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมก็สามารถร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ แต่หากเป็นการสอบสวนทางวินัยหรือความผิดโดยมิชอบ ก็ต้องไปร้องต่อ ป.ป.ช.เพราะ ป.ป.ช.ดูแลเรื่องการประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องดูเป็นกรณีไปว่าต้องการให้ตรวจสอบแบบไหน เนื่องจากแต่ละกรณีไม่เหมือนกัน รวมถึงเรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่ถูกแต่งตั้งมาพิจารณาด้วย หากมีการร้องเรื่องดังกล่าวมา คิดว่าทุกหน่วยงานที่รับเรื่องจะต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบแต่ละกรณี
ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนให้ตรวจสอบ สนช. ว่าเมื่อมีผู้มาร้องเรียน ป.ป.ช.ก็รับเรื่องไว้เพื่อมาพิจารณาว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 ไม่ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับตำแหน่งที่มีการร้องมา คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคู่สมรส ผู้บริหารท้องถิ่นและรองผู้บริหารท้องถิ่น แต่ไม่มีกำหนดตำแหน่ง สนช.ไว้ ก็ต้องพิจารณาก่อนว่าจะเข้าข่ายกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่
ส่วนเรื่องการร้องเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องจริยธรรม หากมาร้องที่ ป.ป.ช.คงจะร้องไม่ค่อยตรงนัก เพราะเรื่องจริยธรรมต้องไปร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ตรวจการฯก็จะพิจารณาตามมาตรา 270 และหากผู้ตรวจการฯสอบแล้วพบว่าผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามมาตรา 270 จึงจะส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.ไต่สวนต่อไป
ขณะที่นายเทียนฉาย กีระนันทนท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบว่าใน สปช.มีหรือไม่ เพราะตนไม่ต้องเซ็นต์แต่งตั้งจะรู้ก็ต่อเมื่อเป็นข่าว ซึ่งเหมือนกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ก็รู้เมื่อข่าวออกมาแล้วเหมือนกัน แต่ สปช.ก็ใช้ระเบียบเดียวกันกับ สนช. ในส่วนของตนไม่ได้ตั้งใครให้มาช่วยงานเลย เพราะถือว่ามาทำงานเพียงระยะสั้นและเจ้าหน้าที่ก็ช่วยงานดีอยู่แล้ว
เมื่อถามว่าหากพบว่ามีสมาชิก สปช.ตั้งเครือญาติมาช่วยงานจะแก้ไขอย่างไรจากกรณีของ สนช.ที่ให้ลาออก นายเทียนฉายกล่าวว่า ก็ต้องปฏิบัติเหมือนกันและเรื่องนี้ไม่ได้มีข้อห้ามไว้ แต่ก็อยู่ที่ความสำนึกทางจริยธรรม ซึ่ง ส.ว.ในอดีตที่ผ่านมาก็มีการตั้งคนใกล้ชิดมาช่วยงาน แต่เขาก็เรียนจบปริญญาและมีความรู้ทางด้านกฎหมาย ซึ่งก็ไม่น่าจะผิดอะไร เพราะเขาก็ต้องการคนที่ไว้ใจได้ และมีความรู้มาช่วยงาน แต่หากตั้งคนที่ยังเรียนไม่จบก็ถือว่าไม่เหมาะสม
นางทัศนา บุญทอง รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 2 กล่าวว่า ประเด็นนี้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสปช.ยังไม่ได้กำหนดวาระที่จะมาพูดคุยกัน แต่เชื่อว่าทุกคนคงเห็นสิ่งที่ปรากฎตามข่าวและสื่อต่างๆแล้วและคงมีการพูดคุยกันเองว่าจะดำเนินการอย่างไรให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งในข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลที่ต้องพิจารณา ตนเชื่อว่าสมาชิกสปช.ทุกคนมีความสำนึกและเป็นผู้ใหญ่ อีกทั้ง เท่าที่ทราบเห็นว่าแม้บางคนจะแต่งตั้งเครือญาติมาช่วยทำงานจริง แต่คนที่มาช่วยทำงานนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ หากไปวิจารณ์แบบเหมารวมก็อาจไม่ยุติธรรม เพราะภารกิจของ กมธ.สปช.แต่ละด้านค่อนข้างหนัก จึงเชื่อว่าสปช.จะสามารถใช้ประโยชน์ต่อการทำงานได้จากคนเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่แต่งตั้งมาแล้วไม่ได้มาช่วยงานนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งคงดูไม่ดี ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยากให้มองที่การทำงานเป็นหลัก
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสปช.กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดุลพินิจของแต่ละบุคคล ถ้าเห็นว่าต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมก็ควรดำเนินการ หรือถ้าใครยืนยันว่าคนที่แต่งตั้งให้มาช่วยงานนั้นสามารถทำงานได้จริงๆก็ถือเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคนที่ต้องชี้แจงต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดความเข้าใจ จึงมองว่าประเด็นนี้ อาจไม่ต้องถึงขั้นออกกฎหรือข้อบังคับ เพราะแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีวุฒิภาวะสามารถพิจารณาเองได้ว่าอะไรเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากเรื่องความเหมาะสมและความถูกต้องนั้นสูงกว่าข้อบังคับ ดังนั้นภาพรวมของสปช.ต้องรักษามาตรฐานและเป็นตัวอย่างที่ดีต่อการปฏิรูป
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องดีแม้ความรู้สึกจะช้าไปหน่อย ต้องรอให้สังคมออกมากดดันถึงจะยอมแก้ไข ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น สนช.ไม่ควรมีผู้ช่วยตั้งแต่แรก ไม่เหมือนกับ ส.ส.ที่ต้องมีผู้ช่วยเพราะเรามีพื้นที่ที่ต้องดูแลประชาชน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ สนช.คงต้องระมัดระวังเรื่องการทำงาน เพราะสร้างมาตรฐานว่าเป็นคนดีไว้เสียเยอะ เวลาเกิดปัญหาขึ้น ทุกอย่างเลยพุ่งเข้าไปที่ตัวเองเยอะเช่นกัน
“ผมยืนยันว่า สนช.รวมทั้ง สปช.ไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วย ที่น่าเกลียดสุดๆ เห็นจะเป็นการตั้งลูกที่ยังเรียนไม่จบเข้ามากินตำแหน่ง แบบนี้ก็ไม่ไหวจริงๆ พวกคุณชี้หน้านักการเมืองและกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามว่าไม่ดี ผมมองว่าตอนนี้มาตรฐานคนดีของพวกคุณสิ้นสุดแล้ว อย่าแยกคนอื่นว่าไม่ดี จะดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่ที่การกระทำ และอย่าพูดว่าที่หลายฝ่ายวิพากษ์เพราะหวังจะลดความน่าเชื่อถือของ สนช.เพราะมันเป็นคนละเรื่องกัน” นายสมคิด กล่าว
สว่น นายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวถึงกรณีที่ วิปสนช. มีมติให้สมาชิกสนช. ปรับบุคคลใกล้ชิดออกทั้งหมดว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ไม่ควรจบเพียงเท่านี้ ซึ่งสนช.ควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสแก้ไขกฎระเบียบเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ส.ส. และ ส.ว. แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวในอนาคต ขณะที่การดำเนินการยื่นเรื่องเรียนต่อคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นั้น ป.ป.ช.จะต้องดำเนินการไต่สวนต่อไป เพราะถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว
“ยืนยันว่า ป.ป.ช.มีกฎหมายรองรับในการทำหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2554 มาตรา 19 ที่กำหนดให้ป.ป.ช.มีหน้าที่ กํากับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง”
ทั้งนี้ ไม่ทราบว่าที่ เลขาธิการ ป.ป.ช.ระบุว่า ไม่มีบทบัญญัติให้ตรวจสอบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัว สนช.นั้น เป็นเพราะไม่ได้อ่านกฎหมายของตัวเองอย่างละเอียดหรือไม่ ส่วนที่ระบุให้ไปยื่นกับผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสอบจริยธรรมนั้น มองว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีดาบ หรือมาตราการที่จะดำเนินการเอาผิด ทำได้แค่เพียงสรุปรายงานเสนอไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น